HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ตามรอยครูช่างหัตถศิลป์ ที่ยังเปี่ยมด้วยพลังและจิตวิญญาณการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิม
by L. Patt
3 เม.ย. 2568, 15:33
  703 views

สมัยก่อน ภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมมักจะส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นสู่รุ่น แต่เดี๋ยวนี้มีแหล่งเรียนรู้ให้คนที่สนใจ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา และเวิร์คช็อปกันหลากหลายแขนง ครั้งนี้ HappeningBKK มีโอกาสได้ร่วมทริปกับ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit ไปพบปะพูดคุยกับ 3 ครูช่าง ที่ไม่เพียงมีความรักและศรัทธาในคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรมไทย หากแต่ยังมุ่งมั่นทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคแบบดั้งเดิม ผสานกับไอเดียการออกแบบร่วมสมัยให้เข้ากับบริบทของวิถีชีวิตยุคใหม่  

ทอเส้นใยเชื่อมสายสัมพันธ์

เราไปเยี่ยม อ.นุสรา เตียงเกตุ ที่สังกะดี สเปซ อ.สันกำแพง เชียงใหม่ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอพื้นถิ่นของไทย และมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จนกลับมาได้รับความสนใจและขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

อ.นุสรา เตียงเกตุ

วันนี้ เธอตั้งใจให้เราได้สัมผัสกับผ้าพื้นเมืองด้วยการใส่เสื้อที่เป็นผ้าทอมือจากจากชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบใต้ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้าไหมขึ้นชื่อในอดีต และเหลือครอบครัวเดียวที่ยังคงสืบทอดการทอผ้าในปัจจุบัน ส่วนผ้าซิ่นเป็นผ้าไหมหางกระรอก ผ้าทอโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทดั้งเดิม

บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ที่เดิมเป็นป่าไมยราบ และเป็นแก้มลิงแห่งนี้ อ.นุสรา ได้มาสร้าง Bamboo Family ในช่วงหลังเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2563 โครงการนี้เกิดขึ้นจากการคุยกันในครอบครัวถึงการใช้ชีวิตหลังเผชิญกับวิกฤตโควิด โดยมีเดชา -สามี ผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ และ จุลดิศ สิทธิบรรเจิด -ลูกเขย สถาปนิกผู้หลงใหลในธรรมชาติมาร่วมกันออกแบบ เพราะทุกคนเชื่อมั่นในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ปัจจัย 4 (เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร และยารักษาโรค) และการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล

วันเสาร์-อาทิตย์ จะมีตลาดศิลปหัตกรรมของภาคเหนือ Bamboo Family Market ให้ทั้งคนไทยและชาติพันธุ์ต่างๆ มาขายสินค้า ทั้งเสื้อผ้า เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก ของตกแต่งบ้าน และอาหาร รวมไปถึงการแสดง และการจัดนิทรรศการศิลปะด้วย

ครูนุส เล่าว่า ปีนี้ได้ขยับมาเป็นพื้นที่เรียนรู้ คล้ายๆ Co-learning Space แล้วตั้งชื่อว่า สังกะดี สเปซ (sanggadee space) พร้อมกับอธิบายว่า สังกะดี (ภาษาเหนือเรียกว่า 'อะหยังก็ดี') แปลว่า อะไรก็ดี แต่ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพื่อเลืกสรรสิ่งดีๆ ให้กับผู้คน โดยจะมีอาคารเส้นใย สำหรับสาธิตเทคนิคการทำเส้นใยจากธรรมชาติ เพราะสิ่งที่สำคัญในการอนุรักษ์และต่อยอด คือวัตถุดิบ ฉะนั้น เส้นใยจึงเปรียบเสมือนเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของผ้า นอกจากนี้จะมี Bamboo School เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องไม้ไผ่, อาคารจัดเวิร์คช็อป, Spiritual House และตลาดแบบถาวร

"เราอยากให้สังกะดี สเปซ เป็นสถานที่เชื่อมโยงผู้คน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเราเห็นแล้วว่า ผ้าและศิลปะหัตถกรรมเป็นการพัฒนาคนโดยแท้จริง ทำให้เค้าสามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่ว่าจะในภาวะปกติหรือภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการ sacit

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการ sacit บอกว่า สังกะดี สเปซ เปรียบเหมือนหม้อสตูว์ ที่ทุกอย่างมาอยู่รวมกันแล้วเกิดรสชาติใหม่ที่มีความสมบูรณ์ จากการเชื่อมโยงผู้คนโดยมองข้ามเรื่องชาติพันธุ์ ที่นี่จึงตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน เป็นสเปซที่คนเข้าถึงได้ และสร้างเศรษฐกิจในระดับฐานรากจริงๆ ไม่ใช่มีแค่งานคราฟต์เท่านั้น แต่มีวิถีชีวิต อาหาร และวัฒนธรรมแฝงอยู่ในทุกกิจกรรม

 

ทายาทซิ่นตีนจก

กอล์ฟ-วัชรพงษ์ ต้องรักชาติ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2564 (หัตถกรรมประเภทงานผ้าทอล้านนา) ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานหัตถกรรมผ้าทอมาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการทอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มแบบโบราณที่มีเหลือจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน

กอล์ฟ-วัชรพงษ์ ต้องรักชาติ

ครูกอล์ฟ เล่าว่า เดิมเป็นคนแจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งผู้หญิงในหมู่บ้านก็จะทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน แต่ด้วยใจรัก ทำให้กอล์ฟฝึกฝนการทอผ้าจากแม่ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 10 ขวบ และไปเรียนรู้จากช่างทอผ้าอีกหลายๆ คนในหมู่บ้าน รวมถึงสล่า (ช่าง) ที่ทำอุปกรณ์การทอผ้าด้วย

จนกระทั่งอายุ 21 ปี ได้มีโอกาสเจอ อ.นุสรา เตียงเกตุ ในงานจุลกฐิน ที่เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นอาจารย์ก็ชวนให้ไปอยู่ที่บ้านไร่ใจสุข อ.หางดง เชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และเวิร์คช็อปงานผ้าทีหลากหลาย โดย อ.นุส ได้สอนกระบวนการทอผ้าให้ทุกอย่าง และพาไปดูการทอผ้าในแม่แจ่ม และตามที่ต่างๆ อีกทั้งมีโอกาสไปสอนการทอผ้าในเรือนจำ และโรงเรียนต่างๆ ในเชียงใหม่ด้วย

หลังจากฝึกฝนเรียนรู้กับ อ.นุส อยู่ 5 ปี กอล์ฟก็ย้ายมาอยู่เรือนไม้ที่บ้านแม อ.สันป่าตอง เชียงใหม่ และสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ ชื่อว่า "เฮือนมาดี" รวมทั้งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจำหน่าย มีทั้งแบบรีเมคผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ และการออกแบบให้เข้ากับคนยุคปัจจุบัน รวมไปถึงผ้าทอสำหรับตกแต่งภายในตามที่ลูกค้าต้องการ

กว่า 20 ปี ที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์ ทำให้ครูกอล์ฟเชี่ยวชาญในทุกกระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การสร้างเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการทอผ้า ไปจนถึงเทคนิคการทอตามแบบโบราณของชาวล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการขิด จก ยกมุก และมัดหมี่ ที่ยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะทักษะการทอตีนจกด้วยขนเม่น ที่ต้องใช้ความชำนาญและความพิถีพิถัน ถ่ายทอดอัตลักษณ์ล้านนาบนผืนผ้าได้อย่างประณีตงดงาม

 

อุทัยย์ กาญจนคูหา

สร้างสีสันผ่านงานศิลป์นอกตำรา

แม้วันนี้จะส่งไม้ต่อให้ลูกชายเข้ามาบริหาร ชวนหลง เซรามิค โรงงานเครื่องเคลือบดินเผาหนึ่งเดียวในลำพูน แต่ครูอุทัยย์ ในวัย 75 ปี ยังคงเปี่ยมด้วยพลังและความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมไว้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนในทุกขั้นตอนการผลิตอย่างเข้มข้น

อุทัยย์ กาญจนคูหา

เรานั่งพูดคุยกันในส่วนการจัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมมากมายหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงภาพวาดสีน้ำ และประติมากรรมจากเศษเครื่องปั้นดินเผาที่แตกเสียหาย จนหลายคนอดทึ่งไม่ได้กับฝีไม้ลายมือของศิลปินนอกห้องเรียนคนนี้ ซึ่งได้รับการยกย่องจาก sacit ให้เป็นครูศิลปหัตถกรรมเมื่อปี 2566

ครูอุทัยย์ เล่าว่า ตนเองเรียบจบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็มาช่วยพ่อแม่ที่ร้านขายเสื้อผ้า พอช่วงนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งที่ลำพูน ก็มีคนหลั่งไหลเข้ามาค้าขาย ผมก็มองเห็นว่าการขายเสื้อผ้าในอนาคตคงไม่จีรังยั่งยืน ทำให้ต้องมองหาอาชีพอื่น โชคดีที่มีเพื่อนเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยทราบว่ามีการเปิดฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องเคลือบดินเผาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเซรามิค

หลังจากนั้น ก็ไปซื้ออุปกรณ์เครื่องเคลือบดินเผาจากโรงงานเล็กๆ ที่เลิกกิจการแล้ว เพื่อมาทดลองทำเครื่องปั้นดินเผา โดยตอนแรกพยายามเลียนแบบลายโบราณทั้งของจีนและไทยที่ได้จากค้นคว้าในหนังสือเล่มต่างๆ รวมถึงหนังสือของคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นนักสะสมเครื่องเคลือบโบราณที่มีชื่อเสียง แม้แต่ชื่อ 'ชวนหลง' ก็เป็นคำผวนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า 'หลงฉวน' ชื่อหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง ที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบสีเขียวไข่กา

แต่การทำเครื่องปั้นดินตามต้นฉบับแบบโบราณมีข้อจำกัดด้านการขาย ทำให้ต้องกลับมาทบทวนใหม่ และปรับแนวคิดโดยดึงเอาจุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาแต่ละแห่ง เช่น สุโขทัย เวียงกาหลง จ.เชียงราย แล้วนำมาผสมผสานกับดีไซน์และจินตนาการของตัวเอง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชวนหลงที่ไม่เหมือนใคร

นอกจากนี้ ครูอุทัยย์ยังคิดค้นสูตรการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของดิน การทำสูตรน้ำเคลือบ และสีใต้เคลือบ ที่ใช้เวลาในการทดลองนานถึง 5 ปี จนได้สูตรที่คงที่ มีมาตรฐาน

ครูบอกว่า น้ำเคลือบเป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนมาก และยากที่จะหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เพราะมันเป็นสูตรลับของแต่ละคน ฉะนั้น ผมก็ต้องคิดสูตรด้วยตัวเอง ส่วนดินที่นำมาใช้ผลิตงานมาสเตอร์พีชบางชิ้น เช่น จานขนาด 22-25 นิ้ว จะต้องใช้ดิน 3 ชนิด ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน โดยดินลำปางจะให้ความขาว ดินแม่ริมจะให้ความเหนียว และดินเวียงป่าเป้าจะให้ความละเอียด ซึ่งจะต้องกำหนดส่วนผสมให้ลงตัว รวมถึงการใช้สีใต้เคลือบ และกระบวนการเผาสี (Biscuit Firing) ซึ่งอาศัยเทคนิคพิเศษที่ต้องมีความแม่นยำ 100%

ตลอด 35 ปี ของชวนหลง เซรามิค ครูอุทัยย์ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และพัฒนาคน นอกจากพนักงานแต่ละคนจะมีทักษะการทำเครื่องเคลือบดินเผาได้หลากหลายแล้ว ยังคัดสรรคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาฝึกฝนจนชำนาญ ขณะเดียวกัน ก็เปิดรับนักศึกษาปีละ 4 คน เพื่อมาอบรมในช่วงปิดเทอมตลอด 3 เดือนเต็ม โดยจะถ่ายทอดให้หมดทั้งกระบวนการผลิต

นักศึกษาที่จะมาฝึกอบรมจะมีพื้นฐานเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือด้านเซรามิคโดยตรง แต่ครูก็ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องมีใจรักและหลงใหลในงานเครื่องเคลือบดินเผา (passion) ไม่ใช่เพียงแค่ฝึกงานให้ผ่านตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เมื่อฝึกจบไปแล้วก็สามารถเอาไปสร้างเป็นอาชีพได้ โดยปีนี้ ได้คัดเลือกนักศึกษา 2 คน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 2 คน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาดูงานแล้ว ครูอุทัยย์ยังมีเป้าหมายจะสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงผลงานที่สร้างสรรค์มากว่า 30 ปี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาต่อไป

จากจุดเริ่มต้นงานศิลปหัตถกรรม เมื่อตอนอายุ 40 ปี และสามารถพัฒนาชวนหลง เซรามิค จนมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีออเดอร์ส่งออกยาวไปจนถึงสิ้นปี ครูอุทัยย์ให้ข้อคิดว่า หัวใจแห่งความสำเร็จคือ ศรัทธา วิริยะ สติ และปัญญา โดยต้องเริ่มจากการมีศรัทธาในตัวเอง มีความเชื่อมั่นตัวเองว่าต้องทำได้ และสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตยุคใหม่ คือเราต้องสามารถพลิกแพลง ปรับตัว เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS