HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
FoodSERP เนื้อหอม กลายเป็นเอนจินใหม่ที่ดึงดูดผู้ประกอบการอาหารและเวชสำอางร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์โลก
by L. Patt
28 มี.ค. 2568, 19:40
  187 views

เมื่อพูดถึงงานวิจัยหรือศูนย์วิจัยของภาครัฐ เราก็มักจะได้ยินปัญหาการแปรผลงานวิจัยให้เป็นสินค้าหรือบริการเชิงพาณิชย์ แต่วันนี้จะชวนมาดูว่า FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชั่น ของไบโอเทค สวทช. ทำอย่างไรให้ศูนย์วิจัยได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการอาหารและเวชสำอาง อีกทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของ FoodSERP ไม่ได้เป็นการศึกษาภายในของตัวเองฝ่ายเดียว แต่จะขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์หรือความต้องการของตลาด โดยเป็นการทำโครงการวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารและส่วนผสมฟังก์ชั่น ตามโจทย์ที่เป็นความต้องการเฉพาะ (Tailor made) ของแต่ละราย

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) 

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยอมรับว่า ช่วงแรกที่เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2565 ต้องวิ่งเข้าไปหาผู้ประกอบการอาหารและเวชสำอางจำนวนมาก เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบ One-Stop Service แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจทั้งในกระบวนการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

แค่เพียงปีเดียวที่มุ่งมั่นสร้างการรับรู้และมีผลงานออกมาให้เห็นชัดเจน ทำให้ FoodSERP สามารถสร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการอาหารและเวชสำอางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมโครงการเกือบ 200 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ไปแล้ว 25 รายการ ปีนี้ มีผู้ประกอบการ จำนวน 150 ราย ที่เข้าร่วมวิจัยพัฒนากับ FoodSERP ซึ่งคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ มีทั้งสกินแคร์ อาหารสัตว์ และโปรตีนทางเลือก นอกจากนี้ FoodSERP ยังเป็นที่ดึงดูดนักวิจัยรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาทำงาน จากตอนเริ่มต้น 80 คน  ขยายเป็น 197 คน ในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10% เพื่อรองรับความต้องการบริการที่สูงขึ้น

ดร.กอบกุล บอกว่า ขณะนี้ FoodSERP กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม โภชนาการเฉพาะบุคคล (Precision Nutrition) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคต้องการโภชนาการที่ตอบสนองความแตกต่างของแต่ละคน โดยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่องสิ่งแวดล้อมด้วย

แม้ว่า บริษัทเอกชนหลายแห่งจะมีแผนก R&D (Research and Development) ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดหลายด้าน ซึ่ง FoodSERP มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และมีทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทำให้สามารถให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ  การคัดกรองและเลือกวัตถุดิบ การผลิตในระดับห้องปฏิบัติการ การทดสอบด้านความถูกต้องและความปลอดภัย การผลิตต้นแบบ ไปจนถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยมีโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (Biotec Bioprocessing Facility: BBF) และ โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง นาโนเทค 

สกินแคร์จากข้าวหอมมะลิ

หลังจาก FoodSERP และสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster: TCOS) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ก็ประสบความสำเร็จมาถึงขั้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์เวชสำอางเชิงพาณิชย์ ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช 2568 (NAC 2025) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา

ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด

ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด บอกว่า เลือกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นวัตถุดิบ เพราะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก และมีคุณสมัติที่ดีหลายประการ โดย FoodSERP และสมาคมฯ ได้นำร่องพัฒนาการผลิตสารประกอบฟังก์ชันจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทำให้มีคุณสมบัติโดดเด่นเหมาะกับการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ว่าจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยผลัดเซลล์ผิวและลดเลือนริ้วรอย รวมถึงมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนัง โดยได้จดเครื่องหมายทางการค้าภายใต้ชื่อ “ARAMARA” เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ARAMARA เป็นสารสกัดกลางที่สมาชิกของสมาคมฯ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นแบรนด์ยอดนิยมระดับโลก เพราะสารสกัดจากวัตถุดิบของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

นอกจากนี้ บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ ได้นำสารสกัด ARAMARA ไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งได้รับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ดร.เอจจี้ (Dr. Agei) เพื่อการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยผลงานดังกล่าว ได้ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BBF) และบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.

ปัจจุบัน Dr.Agei มี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Intensive White Biome Essence และ Rejuvenating Biome Essence Lotion ซึ่งสมาคมฯ จะนำไปโชว์ในงานสินค้านวัตกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอมระดับโลก 'Cosmetic 360' ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในกลางเดือนตุลาคมปีนี้ 

ดร.กอบกุล เล่าว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมของผู้บริโภคมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีสีเขียว (Green technology) ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bioproducts) โดยอาศัยหลักการแปรสภาพทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีศักยภาพสูงที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบข้าวไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันสำหรับเครื่องสำอางในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS