บำรุงราษฎร์แนะกลุ่มเสี่ยงตรวจหาโรคไตเรื้อรัง อย่าปล่อยถึงขั้น ‘ปลูกถ่ายไต’ ที่ต้องรออวัยวะบริจาคนาน
ทุกวันนี้ ผู้ป่วยมีโอกาสรอดและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้นด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยี ซึ่งบำรุงราษฎร์ นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care)ที่มีอัตราความสำเร็จสูงในการปลูกถ่ายไต ตับ หัวใจ และกระจกตา แต่รู้ไหมว่า ณ ตอนนี้มีผู้ป่วยรออวัยวะจากการบริจาคมากกว่า 7,500 ราย โดยผู้ป่วยโรคไตมาเป็นอันดับหนึ่ง
นพ.ทัตพงศ์ จิตเอื้ออารีย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์-ไตวิทยา ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า กลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายไต คือ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย แต่เนื่องจากโรคไตเรื้อรังเป็นโรคแฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการจนเป็นเยอะแล้ว ซึ่งอาจจะช้าไปในการรักษา ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต ควรมีการตรวจคัดกรองหาภาวะไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกัน รักษา และชะลอความเสื่อมของไต
จากสถิติของสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์รับบริจาคและจัดสรรอวัยวะให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 มีผู้รออวัยวะ 7,526 ราย โดยผู้ป่วยโรคไตมาเป็นอันดับหนึ่ง 6,997 ราย ตามด้วยตับ 427 ราย หัวใจ 40 ราย ตับอ่อน-ไต 28 ราย และปอด 7 ราย
บำรุงราษฎร์ ให้บริการปลูกถ่ายไตมาเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีผู้ป่วยมาปลูกถ่ายไตเฉลี่ยปีละ 20 ราย ตั้งแต่ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เป็นโรคไตมาแต่กำเนิด จนถึงผู้สูงอายุเกิน 80 ปี และเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่สามารถปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งในอดีต จะไม่สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้ หากผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อไม่เข้ากัน หรือเข้ากันได้ไม่ดีกับไตบริจาค
นพ.ทัตพงศ์ เล่าว่า อัตราความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย คุณภาพของไตที่ได้รับบริจาคมา แต่โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราความสำเร็จมากกว่า 95% โดยวัดจากอัตราการอยู่รอดของไตที่ปลูกถ่าย ซึ่งอัตราความอยู่รอดของไตในระยะเวลา 1 ปี อยู่ที่ 96% ระยะ 5 ปี อยู่ที่ 87% และ 10 ปี อยู่ที่ 75%
จุดเด่นอีกอย่างคือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการปลูกถ่ายไต เช่น ภาวะปฏิเสธไต หรือการสลัดไต (Rejection)โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไตไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ไตทำงานได้ลดลง อาจนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาล้างไต หรือรอผ่าตัดปลูกถ่ายไตอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ แพทย์จะต้องนัดคนไข้มาติดตามอาการหลังการปลูกถ่ายไตแล้ว เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต ซึ่งบำรุงราษฎร์ มีการตรวจเลือดในระดับยีนเพื่อดูอัตราการเผาผลาญของยา ประเมิน เลือกชนิด และกำหนดปริมาณยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ปลูกถ่ายตับเป็นทางเลือกสุดท้าย
คนที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะตับ คือ ผู้ป่วยไตในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว เช่น ภาวะตับวายเฉียบพลัน โรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับ
พญ.อรพิน ธนพันธุ์พาณิชย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร-โรคตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ เราจึงจะทำการเปลี่ยนตับ โดยขอให้การปลูกถ่ายเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะอวัยวะเดิมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้น การรักษาที่ดีที่สุดคือ ต้องพยายามไม่ให้คนไข้เข้าสู่การปลูกถ่าย
ปัจจุบัน บำรุงราษฎร์ ให้บริการผู้ป่วยโรคตับมากกว่า 42,000 รายต่อปี ส่วนการปลูกถ่ายตับ มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 97% ในปีแรก, 82% ใน 5 ปี และ 67% ใน 10 ปี หลังการปลูกถ่ายแล้ว ขณะนี้ มีผู้รอการปลูกถ่ายตับทั่วประเทศ 427 ราย
อาการแค่ไหนต้องเปลี่ยนหัวใจ
การปลูกถ่ายหัวใจ ถือทางเลือกในการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสุดท้าย ซึ่งมีสาเหตุมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งในโครงสร้างของหัวใจทำงานไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ ลื้นหัวใจ เส้นเลือดหัวใจ รวมถึงไฟฟ้าหัวใจ
พญ.ปิยฉัตร พิพัฒนพงศ์โสภณ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ - หัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวจะมีข้อบ่งชี้ เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อยกว่า 25% คนไข้มีการเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง เกิน 10 ครั้งต่อปี ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันในบางชนิดที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการทำบายพาส หรือทำบอลลูนได้ คนไข้เหล่านี้จะต้องทำการเปลี่ยนอวัยวะ
หลังการปลูกถ่ายหัวใจ จะมีการนัดผู้ป่วยมาตรวจชิ้นหัวใจเพื่อดูว่า มีภาวะต่อต้านเนื้อเยื่อของหัวใจหรือไม่ เมื่อผ่านพ้นหนึ่งปีไปแล้ว โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วย 5 รายได้สำเร็จ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากข้อมูลของสภากาชาดไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 มีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายหัวใจทั่วประเทศ 40 ราย
ทำไมต้องเปลี่ยนกระจกตา
เปรียบเหมือนทีวี กระจกตาคือส่วนด้านหน้า แล้วก็ต้องมีตัวประมวลผลด้านหลัง ฉะนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้กระจกไม่ใส ไม่เรียบ ไม่เนียน เช่น โรคกระจกตาโก่ง/ย้วย โรคกระจกตาเสื่อม และกระจกฝ้า ที่เกิดจากการกระทบกระแทก ติดเชื้อ จนทำให้เกิดเป็นแผลเป็น รวมถึงกระจกตาพิการ คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายกระจกตา และยิ่งเปลี่ยนเร็ว อัตราความสำเร็จก็จะสูง และทำได้ง่ายกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ เพราะกระจกตาไม่มีเส้นเลือด
ศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา การผ่าตัดแก้ไขสายตา กระจกตา และ ต้อกระจก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า บำรุงราษฎร์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น กล้องผ่าตัดที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่าง ๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมีการผ่าตัดทั้งแบบปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น และ การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น โดยมีความสำเร็จถึง 97% และไม่มีรายงานภาวะแทรกซ้อนใดๆ
อย่างไรก็ตาม สภาการชาดไทย บอกว่า ปัจจุบัน ยังขาดแคลนอวัยวะบริจาคจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมา มีผุ้บริจาค 436 ราย และมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 946 ราย แม้ว่า มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกว่า 118,000 ราย แต่ส่วนใหญ่การเสียชีวิตมิใช่เกิดจากสมองตาย หรือมีข้อห้ามของการบริจาคอวัยวะ เช่น เสียชีวิตหัวใจหยุดเต้นหรือมีการติดเชื้อ อวัยวะได้รับบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะไปใช้ปลูกถ่ายได้ รวมทั้งปัญหาอวัยวะที่นำไปปลูกถ่ายหรือทำงานได้ไม่ดี หรือเข้ากันไม่ได้กับร่างกายของผู้รับอวัยวะ ทั้งนี้ สภาการชาดไทย ได้ร่วมกับโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะมากขึ้น ซึ่งบริจาคอวัยวะ 1 ผู้ให้ช่วยได้ถึง 8 ชีวิต