เมดพาร์ค ระดมทีมแพทย์เฉพาะทางมากประสบการณ์ ชวนหมอเช็กหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ฟรี)
อย่ามองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นเรื่องไกลตัว โดยเฉพาะหมอที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะต้องดูแลคนไข้เยอะ มีความเครียด และกินนอนไม่เป็นเวลา ฉะนั้น โรงพยาบาลเมดพาร์คจึงเดินหน้าโครงการ "อาสาดูแลหัวใจหมอ Save Doctors' Heart 2025" ครั้งที่ 2 มุ่งเน้นการตรวจวินิจฉัยค้นหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmias) โดยตั้งเป้ารับสมัครแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 1,000 คน เข้าร่วมโครงการ 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2568 - 30 พฤศจิกายน 2568
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค บอกว่า เมดพาร์คให้ความสำคัญในการดูแลหมอและบุคลากรทางการแพทย์มาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ Save Doctors, Save People, Save Thailand ก่อนจะมาริเริ่มโครงการ "รพ.เมดพาร์ค อาสาดูแลหัวใจหมอ Save Doctors' Heart" เมื่อปี 2565
"เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย พร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัย จึงทำให้เกิดแนวคิดว่า จะมีส่วนช่วยดูแลหัวใจหมอได้อย่างไร เพื่อให้มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง สามารถดูแลประชาชนต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพในระยะยาว"
จากปีแรกที่เป็นการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองเพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ ปีนี้จะเป็นการตรวจวินิจฉัยค้นหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmias) ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง ศ.นพ.กฤษณ์ จงนรังสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ จาก University of Michigan มานำทีมโครงการ พร้อมด้วย นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นที่ปรึกษาโครงการ
แพทย์ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถกรอกข้อมูลเบื้องต้นผ่านช่องทาง Online ได้ที่ Link: Microsoft Office Form (Website/Facebook) หรือ QR Code โดยผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ จะเข้ารับบริการตรวจที่ศูนย์หัวใจ เมดพาร์ค (Cardiology Center) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทีมแพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG or EKG) เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Holter monitor การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Event recorder และการตรวจเลือด (Blood test)
แบบไหนเรียกว่าเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ หรือมีการลัดวงจรของไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งจะมีผลต่อการหมุนเวียนเลือดบริเวณที่เกิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ โดยปกติหัวใจจะเต้นด้วยอัตรา 60 - 100 ครั้งต่อนาที
ศ.นพ.กฤษณ์ บอกว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที) หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที) และหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า
กรณีหัวใจห้องด้านล่างเต้นช้าผิดปกติ จะมีอันตรายมากกว่าห้องด้านบน และเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกายเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจตลอดเวลา
ดังนั้น ใครที่มีอาการวิงเวียน หน้ามืด ใจสั่นเป็นระยะ เหนื่อยง่าย เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือออกกำลังกายไม่ได้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย บางรายหัวใจเต้นเร็วมากทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย อาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
"คนไทยมีความอดทนสูง รอจนมีอาการผิดปกติมากๆ จึงจะมาตรวจและรักษา ทั้งที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่าย หลายคนยังกังวลอันตรายจากการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ ต่างจากคนอเมริกันส่วนใหญ่ที่มาตรวจ แม้ว่าจะมีความรู้สึกผิดปกติเพียงเล็กน้อย"
นพ.กฤษณ์ตัดสินใจมาร่วมโครงการ เพราะเป็นแนวคิดที่ดีและยังไม่มีใครทำ ซึ่งประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจน้อยมาก
แนะหมั่นจับชีพจร
พญ.ศนิศรา จันทรจำนง แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด และการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค บอกว่า การได้ข้อมูลจากคนไข้จะสำคัญมากต่อการตรวจวินิจฉัย หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัตินอนกรนร่วมด้วย หรือพันธุกรรม ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
นอกจากนี้ ทีมแพทย์จะฝึกให้คนไข้จับชีพจรที่ข้อมือของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นที่สม่ำเสมอหรือไม่ รวมถึงข้อมูลจากสมาร์ทวอทช์ก็สามารถนำมาใช้วินิจฉัยเบื้องต้นได้ จากนั้นจึงจะใช้อุปกรณ์วัดดูว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะช้าหรือเร็ว
พญ.ศนิศรายังแนะนำอีกว่า การออกกำลังกายแบบเอ็กซ์ตรีม เช่น วิ่งมาราธอนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็มีส่วนสัมพันธ์ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ดูแลหมอต่อเนื่อง
นพ.วสันต์ เน้นย้ำว่า เมดพาร์คจะดำเนินโครงการ Save Doctors' Heart ต่อเนื่องไป เพราะการดูแลรักษาหัวใจหมอสำคัญต่อระบบสุขภาพของไทย จากสถิติปี 2564 คนไทยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 1.5 ล้านราย แม้จะเริ่มอาการตั้งแต่เล็กน้อย แต่ปลายทางนั้นร้ายแรง
ผลจากการดำเนินโครงการในปีแรก เป็นที่น่าตกใจว่า กว่า 30% ของหมอที่เข้าร่วมโครงการ (1,236 ราย) มีอาการผิดปกติ และ 12 รายที่ต้องได้รับการรักษาทันที เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน 1 ราย เข้ารับการสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนหรือขดลวด 5 ราย เข้ารับการสวนหัวใจ 5 ราย และเข้ารับการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ 2 ราย ด้วยบอลลูนหรือขดลวด โดยปัจจุบัน มีหมอเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง 10 ราย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) โรงพยาบาลเมดพาร์ค โทร. 02-090 3104