ส่องเส้นทางกลุ่มไทยรุ่งเรือง จากโรงงานน้ำตาลเอกชนแห่งแรกของไทย สู่แนวคิดยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับทายาทรุ่นที่ 4 ณิชา อัษฎาธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงการเดินทางย่างเข้าปีที่ 80 ของธุรกิจกลุ่มไทยรุ่งเรือง และยังเปิดให้เยี่ยมชมการดำเนินงานภายในโรงงานน้ำตาลสระบุรี ซึ่งไม่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร ที่ไม่เพียงเป็นผู้ผลิตน้ำตาลเอกชนเก่าแก่ที่สุด แต่ยังมีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

วันนี้ กลุ่มไทยรุ่งเรือง แตกไลน์ธุรกิจไปมากกว่าการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลแล้ว แต่สิ่งสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ทั้ง 3 มิติ (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) ที่วางรากฐานการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
สำหรับครอบครัวไทยรุ่งเรือง ณิชา บอกว่า "ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ไม่ได้หมายถึงเฉพาะครอบครัวอัษฎาธร แต่เป็นครอบครัวไทยรุ่งเรืองที่ทุกคนเติบโตไปด้วย เรามีพนักงานเกือบ 400 ครอบครัว ที่พักอาศัยอยู่ภายในโรงงานน้ำตาลสระบุรี และพนักงานหลายๆ คน ก็เป็นลูกหลานของพนักงานทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุไปแล้ว ดังนั้น พนักงานก็ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเหมือนกัน เราต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้ครอบครัวใหญ่นี้ไปต่อได้ โดยที่ทุกคนมีความสุขร่วมกัน"
นับจาก สุธีร์ อัษฎาธร (ช่างกลึง) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เถ้าแก่หลิ่น” สร้างอุปกรณ์ขึ้นเองและเปิดโรงงานน้ำตาลแห่งแรกเมื่อปี 2489 ภายใต้ชื่อ บริษัท ร่วมกำลาภ จำกัด เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำตาลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นทายาทรุ่นต่อๆ มา ก็ขยายกิจการในชื่อ กลุ่มไทยรุ่งเรือง (Thai Roong Ruang Group: TRR Group) จนปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลในเครือทั้งหมด 10 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 300,000 ตันต่อวัน ซึ่งสูงสุดในประเทศไทย ภายใต้ 3 แบรนด์ คือ TTR Group ลิน และ ษฎา
ณิชา เล่าว่า คุณพ่อให้ความสนใจเรื่องพลังงานทดแทนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งกลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบโรงงานเอทานอลที่ผลิตจากกากอ้อยและกากน้ำตาลรายแรกของโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กับ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Partnership Program)โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างโรงงาน ทั้งด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์
หลังจากเสร็จสิ้นโครงการวิจัยและทดลองแล้ว กลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้จัดตั้งบริษัท ไทยรุ่งเรืองพลังงาน จำกัด ในปี 2547 เพื่อผลิตเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาล และอ้อยน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ โดยขายให้แก่บริษัทผู้ผลิตและค้าน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิต Gasohol E10, E20 และ E85 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 270,000 ลิตรต่อวัน
โรงงานน้ำตาล Zero Waste
กระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลสระบุรี จะไม่มีของเหลือทิ้ง หลังจากอ้อยเข้าหีบออกมาเป็นน้ำหวานเพื่อนำไปทำเป็นน้ำตาลแล้ว ส่วนที่เป็นกากน้ำตาล ที่เรียกว่า โมลาส (Molasses) แม้จะยังมีความหวานอยู่แต่ไม่สามารถตกผลึกเป็นน้ำตาลได้ ก็จะถูกนำไปผลิตเอทานอล (กลุ่มไทยรุ่งเรืองไม่มีนโยบายนำไปผลิตสุรา) ขณะที่กากอ้อย จะมี บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด นำไปผลิตผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าขายให้แก่บริษัทในเครือไทยรุ่งเรือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค
ส่วนพวกเศษดินและวัสดุเหลือทิ้งจากต้นอ้อยก็นำไปผสมกับกากน้ำตาล ผลิตปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อนำไปบำรุงดิน และลดการใช้ปุ๋ยเคมี สุดท้ายคือ น้ำที่บำบัดหมุนเวียนกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด
GETS Farming โมเดลปลูกอ้อยยั่งยืน
กลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้พัฒนาการปลูกอ้อยรูปแบบใหม่ โดยนำร่องใน 3 จังหวัด คือ สระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีสมาชิกชาวไร่อ้อยในเครือข่ายเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 600 คน คิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 42,000 ไร่
ณิชา บอกว่า โครงการ GETS Farming เป็นการเปลี่ยนแนวคิดในการปลูกอ้อยแบบเดิมๆ ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย G-Green มุ่งเน้นให้เกษตรกรตัดอ้อยสดแทนการเผา ซึ่งไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดต้นทุนลงได้ 10-20% โดยฤดูกาลหีบอ้อยปีนี้ (2567/2568) มีสัดส่วนการตัดอ้อยสดกว่า 85%
E-Efficiency ทำให้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่ม yield ต่อไร่ ให้จำนวนตอมากขึ้น
T-Technology ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ได้แปลว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ใช้สิ่งที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เช่น รถตัดอ้อย และระบบน้ำหยด เป็นต้น
S-Sustainability ทำอย่างไรให้โปรเจ็กต์นี้สามารถไปต่อได้ด้วยตัวมันเอง
อย่างไรก็ตาม โครงการจะเกิดได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากชาวไร่อ้อย ซึ่งมีสมาชิกหลายรายตัดอ้อยสด100% มานานแล้ว บางรายตัดอ้อยสดมา 20 ปี และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการไร่ ทำให้ลดต้นทุนการใช้น้ำ ใช้พลังงาน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างชัดเจน
ณิชา เน้นย้ำว่า บริษัทให้ความสำคัญเรื่องความรู้ โดยจัดฝึกอบรมเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เทคนิคการตัดอ้อยสด การจัดการดินและน้ำ การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการควบคุมศัตรูพืช โดยโรงงานมีห้องปฏิบัติการคุณสมบัติดิน (Soil Properties Laboratory) วิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน (ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม)ให้แก่เกษตรกรคู่สัญญาฟรี เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยให้ถูกกับพื้นที่ที่ปลูก รวมไปถึงห้องเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบ เพื่อสาธิตให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีเพาะเลี้ยงและนำไปควบคุมศัตรูพืช เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรงดเว้นการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช รวมถึงงดการเผาอ้อย
รายการวิทยุชุมชนคนทำไร่อ้อย ทางสถานี FM 105 เป็นอีกช่องทางสื่อสารสองทางในการให้ความรู้แก่เกษตรกรเป็นประจำทุกวัน ปีนี้ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TRR Green เพื่อให้ชาวไร่อ้อยใช้งานในการจดบันทึกข้อมูล รับข้อมูลข่าวสาร ติดต่อเจ้าหน้าที่ และรับบริการต่างๆ โดยมีฟังก์ชันที่ให้บริการข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำไร่อ้อย เช่น พยากรณ์อากาศ รายงานปริมาณน้ำฝน และแจ้งคิวอ้อย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบรายแปลง และมีฟังก์ชันบันทึกกิจกรรมการผลิตที่ให้ชาวไร่บันทึกข้อมูลต้นทุนการทำไร่ของตนเองได้อย่างง่ายๆ เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการปลูกและจัดการแปลงอ้อยได้ดียิ่งขึ้น
เปิดพื้นที่ปั้นเยาวชน
กลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, วิทยาลัยเทคนิคมวกเหล็ก, วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี, และวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จัดการศึกษาแบบทวิภาคี ทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น ช่างกลโรงงาน ไฟฟ้า ช่างยนต์ วิศวกรรมเคมี และกำลังออกแบบหลักสูตรเครื่องจักรกลการเกษตร
ณิชา เล่าว่า บริษัทกับแต่ละสถาบันจะร่วมกันออกแบบหลักสูตรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษามากที่สุด โดยมีพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่มนักศึกษา และฝึกปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เพราะสิ่งสำคัญคือ เมื่อจบหลักสูตรไปแล้ว น้องๆ สามารถนำไปใช้ได้จริง และบริษัทก็อยากต่อยอดการศึกษาทวิภาคีออกไปอีก รวมไปถึงการส่งเสริมให้น้องๆ กลับมาทำงานในพื้นที่บ้านเกิดด้วย
เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง
ณิชา เล่าถึงเบื้องหลังของโครงการว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการพูดคุยกับลุงชู พนักงานซีเอสอาร์ที่ใกล้เกษียณอายุ เพราะเรามีความผูกพันกับพนักงานอยู่แล้ว ก็อยากรู้ว่า หลังเกษียณ เค้าอยากทำอะไร และบริษัทจะช่วยสนับสนุนอะไรได้บ้าง โดยลุงชู บอกว่า อยากปลูกผัก จากนั้นเราก็เอาพื้นที่ว่าง 3 ไร่ บริเวณหลังบ้านพักของพนักงานมาเป็นแปลงทดลอง ขณะที่ลุงชูก็ไปรวบรวมเพื่อนพนักงานที่อยากปลูกผักมาได้ 9 คน ซึ่งเริ่มจากปลูกผักกินไว้กินเอง และแบ่งปันให้พนักงานในโรงงาน
พอช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ได้ขยายแปลงปลูกเพิ่มขึ้น เพราะเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงไม่อยากให้พนักงานต้องเดินทางออกไปซื้อข้างนอก จนกระทั่งกลายมาเป็นโครงการสร้างอาชีพให้แก่พนักงาน รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ “โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง” บนพื้นที่ 23 ไร่ และมีพนักงานเข้าร่วมโครงการ 70 คน
ปัจจุบัน ไทยรุ่งเรือง ได้สร้างแบรนด์ "กินผัก" เพื่อจำหน่ายผักผลไม้ปลอดสาร น้ำสลัดโฮมเมด และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์เมนูต่างๆ ภายในร้านอาหาร Never Too Sweet ของโรงงานที่ตั้งใจจะให้เป็น Concept Store ซึ่งเชฟ และพนักงาน ก็เป็นลูกหลานของพนักงานโรงงานด้วย
(ใครสนใจผลิตภัณฑ์กินผัก ก็แวะไปช้อปได้ที่บูธกลุ่มไทยรุ่งเรือง ชั้น 2 ห้าง Phenix หรือจะสั่งซื้อทาง Shopee และ FB: กินผัก by Something Natural)
ณิชา บอกว่า เรากับพนักงานต่างเรียนรู้ไปด้วยกัน และมีแผนขยายพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็นำองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา โดยเตรียมจะทำข้อตกลงระยะเวลา 3 ปี กับ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทดลองวิจัยการปลูกโกโก้ เป็นต้นแบบให้เกษตรกร ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ที่ปลูกให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การเพาะปลูกดูแล การกระเทาะเปลือก การหมัก ไปจนถึงการผลิตไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งโกโก้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต