HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
หนุนแนวคิด 3P ดันชุมชน LGBTQIAN+ รัฐ และเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน
by HBKK
1 ต.ค. 2567, 11:04
  295 views

ชุมชน LGBTQIAN+ ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมพลังเพื่อผลักดันความเท่าเทียมในระดับประเทศและระดับสากล ผ่านกระบวนการคิด 3P (Pride-Public-Private Partnership) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของ 3 ภาคส่วน คาดการณ์ว่างานนี้จะช่วยกระตุ้นแนวคิดสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในเชิงสังคมเช่นกฎหมาย การศึกษา ฯลฯ และเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม และธุรกิจ โดยเฉพาะในงานอีเว้นท์ นิทรรศการ และการประชุมใหญ่ ซึ่งนอกจากจะนำเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย หมุดหมายสำคัญคือการส่งเสริมความแข็งแกร่งของประเทศในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศอย่างยั่งยืน

"การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชน LGBTQIAN+ ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืนในอนาคต" นายนิกร อาทิตย์ ประธานผู้ก่อตั้งองค์กรบางกอกเรนโบว์ กล่าว

งานครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศที่มุ่งยกระดับความหลากหลายทางเพศและกิจกรรมด้านความเท่าเทียมทางเพศระดับโลกอื่น ๆ ในอนาคต โดยได้รับความร่วมมือในการจัดงานร่วมกับ Diversity In Thailand ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม บริษัทที่ปรึกษา ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ปสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) ด้วยการจัดประชุมสัมมนาและเวิร์คชอป หัวข้อ "3P Paradigm: Sustainable Impacts Through Pride-Public-Private Partnership" (เปิดวิธีคิด 3P พันธมิตรเพื่อพันธกิจสู่ความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน: ไพรด์ รัฐ เอกชน) ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2567 ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
 

ตัวแทนจากภาคชุมชน LGBTQIAN+ หรือ ไพรด์ คุณณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ร่วมจัดตั้งงาน Youth Pride Thailand และ Trans Pride Thailand ให้คำนิยามของคำว่าชุมชน คือ "ชุมชน คือการสร้างระบบนิเวศ ที่คนทุกคนไม่ว่าจะภาคส่วนไหนทั้งภาคประชาสังคม รัฐ เอกชน มาอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข มีการทำงานร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ปลอดภัย

ในด้านภาคธุรกิจ คุณไมเคิล ศิริกุล รองประธานเจ้าหน้าที่สายงานบุคคลและธุรการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า "ชุมชนคือความหลากหลาย ดังนั้น เราต้องเข้าถึงทุกคนไม่ว่าจะพนักงานหรือลูกค้าโดยไม่เลือกข้าง (neutrality) เราเชื่อว่า ทุกคนเหมือนกัน เราปฏิบัติต่อทุกคนโดย ไม่มีการตีตราเรื่อง อายุ เพศ หรือ ตำแหน่ง เรามีพื้นที่ให้ทุกคนอยู่ด้วยกันโดยปกติสุขโดยที่ไม่แบ่งแยก

"การยอมรับความแตกต่างและหลากหลายเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรือบริษัท ในภาคเอกชน เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และมีอิสระพอประมาณกับการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรของตัวเอง แต่วัฒนธรรมของแต่ละประเทศต่างกัน ฉะนั้นเวลาการบริหารงานของเอกชนในประเด็นนี้จึงต้องคำนึงถึงบริบททั้งภายในและภายนอก เช่น เวลาทำงานกับประเทศที่เคร่งศาสนา เราสนับสนุนเรื่องความหลากหลายในองค์กรอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ บังคับไม่ได้" คุณไมเคิล กล่าว


จากการบ่มเพาะบุคลากรสู่ภาคบริการและท่องเที่ยว ดร.ประวีณา คาไซ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยดุสิตธานี ให้ความเห็นว่า จากงานสายโรงเเรม ขณะนี้วิทยาลัยทำหน้าที่ผลิตเชฟ ภายใต้แบรนด์ Dusit International ซึ่งได้เน้นนโยบายในการสร้างโอกาสที่หลากหลาย ความหลากหลาย คือ จุดเด่น

เราทำงานร่วมกับสโมสรนักศึกษา รับเด็กที่หลากหลาย เด็กสามารถเลือกเครื่องแบบการแต่งกายได้ ไม่ได้บังคับใส่สูทในวันที่มาเรียน แต่สอนว่าต้องแต่งตัวแบบไหนในงานที่เป็นทางการ วันรับปริญญาสามารถแต่งกายตามที่ตัวเองต้องการได้ ไม่ได้ขานคำนำหน้ามาหลายปีแล้ว ห้องน้ำก็ใช้หลัก All-Gender Restroom ทำให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากร เพื่อปลดล็อคอุปสรรค สร้างความสุข ความสบายใจ และความภูมิใจในตัวเองของผู้เรียน เพื่อการเป็นบุคลากรคุณภาพในอนาคต นโยบายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เสียเงินงบประมาณเพิ่ม แค่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงาน

สำหรับตัวแทนภาครัฐ คุณสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และรักษาการรองผู้อำนวยการ สสปน. (TCEB) กล่าวว่า ในฐานะภาครัฐ เราเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนทุกชุมชน พาชุมชน ผู้ซื้อเจอผู้ขาย ต่างชาติเจอกิจการไทย คือการเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆเข้าหากัน สนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ชุมชนมีส่วนสำคัญ เพราะชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนคือเอกลักษณ์และสร้างความแข็งแกร่งในรากเหง้าของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆตามมา เช่นการท่องเที่ยวหรือจัดประชุมเป็นต้น

"ในการจัดงานต่างๆ องค์กรและสถานที่จัดงาน ยุคนี้ต้องมีการออกแบบสากล (Universal Design) เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น อาหาร ก็ต้องสามารถรองรับคนได้ทุกศาสนา เช่น ฮาลาล ห้องน้ำที่สามารถรองรับทุกคนทุกเพศ เน้นการส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลาย รองรับตัวตนและความต้องการที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยเก่งเรื่อง Festival Economy งานเหล่านี้ เราต้องเตรียมงานล่วงหน้าหลายปีและต้องตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้ได้ เช่น งาน WorldPride และงานระดับโลกอื่นๆ เป็นสิ่งที่เราควรได้ทำ เพราะประเทศเรามีจุดแข็งเรื่องความหลากหลายและเรามีความสามารถที่จะเป็นผู้จัดได้" คุณสราญโรจน์ กล่าว

คุณแภทริเซีย ดวงฉ่ำ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม GIRLxGIRL คอมมูนิตี้หญิงรักหญิงที่ทำงานมาหลายปีเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้หญิงรักหญิง กล่าวว่า เครือข่ายหญิงรักหญิงเกิดจากกลุ่มหญิงรักหญิงและทรานส์ที่ชอบผู้หญิงที่อยากหาที่ปรึกษา หาคนคุยกัน จึงเกิดการรวมตัวกัน ผลักดันเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ทั้งเรื่องการมีตัวตน (Visibility) สุขภาพจิต ความเท่าเทียมทางเพศ และการถูกคุมคามทางเพศ ตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มมีประมาณ 750 คน กลุ่มนี้ร่วมกันผลักดันกฎหมาย สวัสดิการต่างๆของบริษัท เเละมีกิจกรรมใหญ่ปีละครั้งเรียกว่า Girl Talks

อุปสรรคในการทำงานทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศอาจจะไม่สามารถก้าวหน้าในอาชีพได้ ในเรื่องนี้ คุณภูษิต ช้างแก้วมณี  รองชนะเลิศอันดับ 2 Mr. Gay World 2024 ผู้ผลักดันเริ่มแคมเปญที่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเองที่ถูกกีดกันในการทำงานในโรงงาน

"เคยถูกกีดกันตั้งแต่เป็นนักศึกษาฝึกงานว่า บริษัทไม่รับกลุ่ม LGBTQIAN+ ตนเป็นวิศวกรที่จะมาทำงานด้านความปลอดภัย (Safety) ซึ่งตนทำงานได้ดี สอบผ่านหมด แต่ต้องปิดบังอัตลักษณ์ตัวเองไว้ เพราะต่อมาองค์กรรู้ ก็ห้ามไม่ให้ทุกคนรู้เรื่องเพศสภาพ ส่งผลต่อสุขภาพจิต ผมต้องปิดบังตัวเอง 2 ปี ต้องเอาเพื่อนผู้หญิงมาเป็นแฟน ต้องย้ายงานหนี รู้สึกว่า ตัวเองโกหกคนอื่น สุดท้าย HR ก็ไปคุยกับผู้บริหารให้ ตอนนี้ ตนและทีมสนับสนุนีทำการรวบรวมรายชื่อของบริษัทที่ทำงานด้านโรงงาน และไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประมาณ 73 รายชื่อ มี video สอนเรื่องการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ"

คุณสุรางค์ วงษ์ทองดี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สนง. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี หรือ พม. กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยที่สำคัญและกำลังจะเกิดขึ้น คือ กฎหมายหลายฉบับที่กำลังผลักดันกันอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ

"เราต้องการขับเคลื่อนและผลักดัน พรบ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ให้เกิดขึ้นจริง เน้นความเท่าเทียมกับทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไหร่ ให้มีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน เรามีกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่มารับราชการเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขามีความสามารถที่หลากหลาย ที่ พม. ทุกคนยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย โลกที่สมบูรณ์แบบคือโลกที่หลากหลาย " คุณสุรางค์

นอกจากนี้ ในช่วงเวิร์กชอปยังได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยวิทยา แสงอรุณ ผู้จัดการ Diversity in Thailand ด้วยการมองประเด็นปัญหาเชิงสังคม และแตกยอดความคิดว่า จะมีหนทางไหนบ้างในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ควรมีหลักสูตรเรื่องความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา การปฎิบัติต่อ LGBTQIAN+ ในการรับราชการทหารตามหลักความสมัครใจ รณรงค์เรื่องมาตรฐานความงาม เช่น ชอบแค่คนผอม คนขาว ควรมีมาตราฐานความงามที่หลากหลายมาขึ้น ไม่กีดกันคนอื่นเพียงแค่เรื่องสีผิว ต้องการเห็นสื่อและโฆษณาต่างๆ มีตัวแทนผู้คนที่หลากหลาย มีมาตรฐาน



ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ บริษัท ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ที่ปรึกษาด้านความหลากหลายและเท่าเทียมในองค์กร ชี้แนะว่า ในด้านความเสมอภาค คนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติมากกว่ากลุ่มอื่น หากประเทศไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และนำมาปฏิบัติแล้ว ถ้าต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศและประชาคมโลก เราจะต้องมีกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอื่นตามมาอีกด้วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศและสังคมในภาพรวม เช่น พรบ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี พรบ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และอื่นๆอีกเพื่อปักหมุดหมายความเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจ เพราะการสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลายจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตระดับบุคคล รวมถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะคนในสังคมสามารถมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี เสรีและช่วยเหลือตัวเองได้รวมถึงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความเท่าเทียม

ทั้งนี้ ในระดับสากล การทำงานร่วมกันในแนวทาง 3P นั้น ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึง Ethical Partnership Principle: แนวทางความร่วมมือที่มีจริยธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย  

1. Empathy: รับฟังและเข้าใจความต้องการลึกๆ และมุมมองของชุมชนไพรด์ รัฐ และเอกชน

2. Honesty: สื่อสารอย่างจริงใจ ไม่เกินจริง เพื่อผลลัพธ์ที่แท้จริง

3. Transparency: ตรวจสอบได้ทุกกระบวนการทำงาน เพื่อความชัดเจนและเปิดเผย

4. Promise-Keeping: มุ่งมั่นปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอย่างจริงใจต่อพันธมิตรบนหลักสิทธิมนุษยชน

5. Sustainability: สร้างความเท่าเทียม ร่วมลงทุนสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวอย่างยั่งยืน ไม่ฉาบฉวยแค่เดือน Pride



#3PPartnership

#SustainableImpacts

 

 

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS