HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสที่โลกต้องรู้จัก Bibliothèque nationale de France   François-Mitterrand
by ดวงกมล วงศ์วรจรรย์
19 พ.ค. 2566, 14:37
  1,535 views

หลากหลายเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือยุคก่อนหน้ามีพร้อมให้ค้นหาในหอสมุดแห่งนี้

ประวัติศาสตร์ไทยเริ่มมีการบันทึกอย่างเป็นทางการครั้งแรกๆ น่าจะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนก่อนหน้านั้นเราอาศัยการอ่านและศึกษาจดหมายเหตุ และบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้า สอนศาสนาในประเทศไทยนับถอยหลังไปถึงกรุงศรีอยุธยา

ฝรั่งเศส คือชาติแรก ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับโยเดีย หรือ อยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งบรรดาทูตการค้า ทูตทางศาสนาต่างจดบันทึกการเดินทางและบันทึกประจำวันที่บอกเล่าเรื่องราวไม่เพียงแต่ชีวิตของพวกเขาในแผ่นดินแดนสุวรรณภูมิ หากแต่เรื่องที่จดบันทึกยังคงมีภาพของฉากหลังประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัยนั้นให้เราได้ศึกษา ค้นคว้าแม้เวลาจะล่วงมาหลายร้อยปี

นั่นเป็นที่มาของการตามหาประวัติศาสตร์ไทยในห้องสมุดต่างแดน ณ ประเทศฝรั่งเศส ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสในปารีส มีหลายแห่ง เช่น ริเชอริเออ โอเปร่า และฟรองซัวร์ มิตแตรอง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแซนด์ บริเวณท่าเรือ Quai François Mauriac ที่เป็นจุดหมายปลายทางของเราวันนี้ 

อาคารขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานกันสองตึก ที่ถูกยกขึ้นสูงจากระดับพื้นถนน และสร้างเป็นบันไดให้เราไต่ขึ้นจนเหนื่อย ก่อนจะผ่านประตูทางเข้าและพบว่านั่นคือทางเข้าที่ชั้น 2 และค่อยๆ ไล่ระดับลงไปถึงชั้น 0 ที่เป็นระดับพื้นดิน อาคารแห่งนี้ล้อมรอบสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง ที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลายสายพันธุ์ และนกหลากชนิดที่วนเวียนมาอาศัยให้ได้ศึกษา หอสมุดแห่งชาติ ฟรองซัวร์ มิตแตรอง สร้างขึ้นจากดำริของประธานาธิบดีฟรองซัวร์ มิตแตรอง ในปี ค.ศ.1988 เพื่อให้เป็นหอสมุดที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีการวางระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เชื่อมต่อทุกการค้นคว้าจากทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้ ระบบเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1996

เราเริ่มต้นจากฝ่ายต้อนรับของหอสมุด ซึ่งเมื่อเราแจ้งว่าเราอยากจะมาหาอะไรที่นี่ ก็ได้รับบัตรผ่านเป็นตั๋วเล็กๆ เอาไว้สแกนเพื่อเข้าไปอ่านหนังสือใน Section ต่างๆ ที่ถูกแบ่งไว้เป็นสัดส่วน ไล่เรียงตามอักษรตั้งแต่ A-Z การเข้าในแต่ละ Section จะมีประตูกั้นให้เราสแกนบัตรผ่านนี้ทุกครั้ง และมีบรรณารักษ์ของแต่ละ Section มาช่วยเราดูแล ค้นหา และตอบคำถามหากเราหาหนังสือที่เราต้องการไม่เจอ

ในแต่ละเซ็คชั่น จะถูกแบ่งออกเป็นห้องสมุดออนไลน์ ซึ่งโต๊ะทุกตัวจะมีคอมพิวเตอร์ให้เราค้นหา และส่วนที่เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ ที่มีโคมไฟเล็กๆ ให้ทุกโต๊ะ การจัดแสงไฟออกแนวมืดสลัว แต่พอเพียงสำหรับการนั่งเงียบๆ แล้วจดจ่อกับการอ่าน ไม่มีเสียงโทรศัพท์ใดใดรบกวน และพื้นที่สำหรับจัดวางหนังสือแต่ละหมวดหมู่ มีความกว้างขวาง เดินได้สะดวกทุกช่อง การจัดเรียงเป็นไปตามหมวดหมู่ตามหลักบรรณารักษ์ศาสตร์ ที่หากเราไม่คุ้นเคย เราก็สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ของเซ็คชั่นนั้นๆ ที่เต็มใจช่วยเหลือ และตอบเราทุกๆ คำถาม

ถัดจากโซนคลังหนังสือ คือพื้นที่ทางเดินของหอสมุดที่อยู่ริมผนังกระจกด้านที่ติดกับสวนพฤกษศาสตร์ เก้าอี้เล็คเชอร์รูปทรงทันสมัยถูกจัดวางหันหน้าออกไปทางกระจกเพื่อให้เราได้เสพบรรยากาศของธรรมชาติตรงหน้าได้เต็มที่ ห้องสมุดที่นี่มีความต่างตรงที่ เราสามารถเดินไปซื้อกาแฟ หรือน้ำดื่มแล้วกลับมานั่งในบริเวณเก้าอี้ทางเดินนี้ ทำงาน และอ่านหนังสือไปเงียบๆ ได้ทั้งวัน คนฝรั่งเศสเองยังบอกว่า ติดใจในบรรยากาศ และสามารถทำงานได้เต็มที่ในพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้

เราใช้เวลาในช่วงเย็นของวันเสาร์มาที่หอสมุดแห่งนี้ เพื่อลองหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสมัยก่อน โดยบรรณารักษ์ได้พาเราไปยังส่วนของประวัติศาสตร์เอเชีย ซึ่งมีหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศไทย สยาม และโยเดีย อยู่ราวๆ 10 เล่ม หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นหนังสือโบราณเก่าเก็บ เพราะถูกตีพิมพ์ใหม่หลายรอบ แต่ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในบ้านเรา และเมื่อค้นหาด้วยชื่อหนังสือต่อทางอินเทอร์เนต เราก็พบว่ามีฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็จะถูกจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ หรือส่วนของหนังสือโบราณหายากในห้องสมุดหลายแห่งทั่วปารีส

วันนี้เราได้เจอกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายเล่มให้เราไปทำการบ้านและค้นต่อ น่าเสียดายที่เวลาแค่ 2 ชั่วโมงทำให้เราได้ทำความรู้จักกับหอสมุดแห่งนี้ไม่มากนัก และครั้งหน้าเราคงปักหมุดไปหอสมุดแห่งชาติอื่นๆ ในปารีสอีก และจะใช้เวลาอยู่ในคลังแห่งปัญญานี้ให้มากกว่าเดิมอีกแน่นอน

 

หอสมุดแห่งชาติฟรองซัวร์ มิตแตรอง

เวลาทำการ: วันจันทร์ตั้งแต่ 14.00-20.00 น. 

                     วันอังคารถึงวันเสาร์ เปิดตั้งแต่ 9.00-20.00 น.

                      วันอาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 13.00-19.00 น.

การเดินทาง: นั่งรถไฟใต้ดิน สาย 6 ลงที่สถามี Quai de la gare 

                      รถไฟ RER สาย C ลงที่สถานี Bibliothèque François-Mitterrand

ค่าเข้า: ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ABOUT THE AUTHOR
ดวงกมล วงศ์วรจรรย์

ดวงกมล วงศ์วรจรรย์

นักเขียนอิสระ และนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมสโมสรไลอ้อนประเทศฝรั่งเศส หลงใหลเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในทั่วทุกมุมโลกผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองและการท่องเที่ยว สนใจการพัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้รอบเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ALL POSTS