HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ย้อนรอยหนังสือเล่มแรกของโลกจากบทกวีของ “เอนเฮดูอันนา” จนถึงอีบุ๊ก
by ซัมเมอร์
22 เม.ย. 2566, 14:02
  1,115 views

วันที่ 23 เมษายน เป็นวันหนังสือโลก  ที่หมายถึงทั้งกระดาษเย็บเป็นเล่มมีปก และอีบุ๊คที่อ่านผ่านคอมพิวเตอร์และแผ่นไอแพดแท็บเล็ต ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็คล้ายกับแผ่นหนังสือเมื่อหลายพันปีก่อน...

ย้อนไปในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ชาวสุเมเรียนใช้แท่งกกขีดเขียนบนแผ่นดินเหนียว นำไปเผาหรือตากแดดจนแข็งเหมือนแท็บเล็ต ในช่วงแรกก็มีไว้บันทึกจำนวนพืชผลและสินค้า จากนั้น จึงมีการเขียนเป็นเรื่องราวและบทกวี โดยนักเขียนคนแรกของโลก ที่ยังมีผลงานเป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้ มีชื่อว่า “เอนเฮดูอาน่า”

จดหมายเขียนบนกระดาษปาปิรุส_ CREDIT: Charles Burton Gulick, Public domain, via Wikimedia Commons

เอนเฮดูอันนาเกิดในปีที่ 2286 ก่อนคริสตกาล เธอเป็นทั้งนักบวชหญิงสูงสุดผู้บูชาเทพีแห่งดวงจันทร์ และเป็นเจ้าหญิงพระธิดาของซาร์กอนมหาราช ผู้ก่อตั้งอาณาจักรแห่งแรกของโลก เจ้าหญิงมีบทบาทสำคัญในการรวมเมืองต่าง ๆ โดยผสมผสานความเชื่อและพิธีกรรมของชาวสุเมเรียนที่นับถือเทพีอินันนาเข้ากับการบูชาเทพีอิชทาห์ของชาวอัคคาเดียน ทรงแต่งบทกวี และบทสรรเสริญตามความเชื่อและเทพผู้พิทักษ์ศาสนสถานของแต่ละเมือง เธอเล่าเรื่องราวของเหล่าเทพในแบบที่มีชีวิต มีการต่อสู้ มีความรัก และตอบรับคำวิงวอนของผู้คน ในส่วนของบทกวี ทรงสรรเสริญเทพีอินันนา และใช้สรรพนาม “ฉัน” บรรยายอารมณ์ความรู้สึก ผลงานของเอนเฮดูอาน่าได้รับการคัดลอกสืบต่อกันมาอีกหลายร้อยปี และเชื่อว่าเป็นต้นแบบมหากาพย์ของโฮเมอร์ และเอนเฮดูอันนายังเป็นคนแรกที่ประกาศลิขสิทธิ์ไว้ท้ายบทว่า “ผู้สร้างแผ่น(ดินเผา)นี้คือเอนเฮดูอันนา ข้าแต่พระองค์ สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นนี้ มิเคยผู้ใดทำมาก่อน”

อีกราว 2,000 ปีต่อมา ชาวอียิปต์คิดค้นกระดาษปาปิรุส แต่ม้วนกระดาษนั้นยาวและขาดง่าย ชาวโรมันจึงเปลี่ยนมาใช้หนังสัตว์เย็บเล่มเข้าปกไม้ เรียกว่า โคเด็กซ์ และที่อีกฝั่งของโลก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ชาวจีนเริ่มผลิตกระดาษใช้กัน 

จากนั้น ในค.ศ. 868 สมัยราชวงศ์ถัง หนังสือเล่มแรกของโลกที่ใช้หมึกพิมพ์ลงบนกระดาษก็ถือกำเนิดขึ้นที่จีน เป็นงานพิมพ์ระบบบล็อกไม้บนกระดาษ โดยแกะสลักตัวอักษรลงบนแผ่นไม้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่าไดมอนด์ สุตรา หรือวัชรสูตร เป็นคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน แล้วต่อมา ชาวจีนก็คิดค้นบล็อกดินเผาพิมพ์อักษรแยกเป็นตัว

เวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวเยอรมันชื่อโยฮัน โกเตนเบิร์ก ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบตัวเรียงโลหะ หนังสือเล่มแรกที่เขาพิมพ์ออกมาในค.ศ. 1445 คือพระคัมภีร์ไบเบิล ถือเป็นการปฏิวัติวงการหนังสือที่ทำให้ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ ในราคาที่ถูกลง ช่วยให้ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้น ปัจจุบันยังมีพระคัมภีร์ฉบับที่โกเตนเบิร์กจัดพิมพ์แสดงอยู่ในบริติชไลบรารี่ 

สำหรับอีบุ๊กที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ เชื่อว่ามีผู้วางแนวคิดไว้ตั้งแต่สมัยปีค.ศ. 1930 นักเขียนบ๊อบ บราวน์ จินตนาการถึงจออ่านหนังสือที่เขาเรียกว่ารี้ดดี้  และในค.ศ. 1949 แองเจล่า รุซ คุณครูชาวสเปนก็คิดต้นแบบเครื่องอ่านอีบุ๊กหลังจากเห็นนักเรียนของเธอต้องแบกหนังสือมากมาย ต่อมาในค.ศ. 1971 จึงเกิดโปรเจคท์โกเตนเบิร์กโดยไมเคิล ฮาร์ท ที่นำวรรณกรรมมาบันทึกในรูปแบบดิจิตัล จากนั้นจึงมีเครื่องอ่านอีบุ๊กแบบต่าง ๆ ออกมาในปลายทศวรรษที่ 1990 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยอดจำหน่ายอีบุ๊ก ยังน้อยกว่าหนังสือเล่มอยู่ประมาณครึ่งหนี่ง

อ้างอิง

http://scihi.org/diamond-sutra/

https://www.youtube.com/watch?v=XhNw1BhV6sw

https://www.youtube.com/watch?v=Ontfr8aBEGI

https://turbofuture.com/consumer-electronics/The-History-of-eBooks

https://www.britannica.com/story/what-was-the-first-book-ever-written

https://www.bbc.com/culture/article/20221025-enheduanna-the-worlds-first-named-author

https://digitalpublishing101.com/digital-publishing-101/digital-publishing-basics/a-very-short-history/

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS