ส่องเทรนด์เทคโนโลยีที่สร้างมิติใหม่วงการเฮลท์แคร์
ผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการยกระดับระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับความท้าทายทั้งประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การพัฒนารูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยใหม่ๆ ความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การคิดค้นวิจัย รวมไปถึงการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมด้วย มาดูกันว่าเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงมีอะไรกันบ้าง
ดร. ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทเลเฮลท์แคร์ และบริษัท เมดิคอล อินเทลลิเจนซ์ กล่าวในงานสัมมนา "Than Forum 2023: Health and Wellness Sustainability" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ระบบสุขภาพเผชิญกับผลกระทบจาก Double Disruption คือทั้ง Digital Disruption และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันกลายเป็น Triple Disruption โดยมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และมลพิษทางอากาศ เพิ่มเข้ามา
ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูประบบนิเวศใหม่ด้านระบบสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา ซึ่งระบบข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data จะมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังทำให้สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ได้ว่า แต่ละคนมีโอกาสจะเป็นโรคอะไรในอนาคต หรือแม้กระทั่งการพัฒนายาใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เวลาในการคิดค้นวิจัยสั้นลง
ดร. ฐิติพงศ์ ชี้ว่าระบบการป้องกัน หรือ Preventive Care จะต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทุกคนต้องคิดว่า วันนี้เราทำงานแทบตาย พอเราใกล้เกษียณ เราอาจจะเริ่มมีการเจ็บป่วยมากขึ้น เงินที่เราเก็บสะสมไว้ตลอดช่วงการทำงานต้องถูกนำไปใช้ในการรักษา แต่ถ้าเราดูแลสุขภาพหรือการป้องกันไม่ดีพอ หลายคนก็อาจถึงขั้นล้มละลายจากการรักษาได้ อย่างไรก็ตาม การทำ Preventive Care ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง
AI เป็นเมกะเทรนด์ที่จะถูกนำมาใช้ในวงการเฮลท์แคร์อย่างกว้างขวาง เพราะจะช่วยลดต้นทุนในหลายๆ ด้าน และอยู่ในอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทำให้ผลลัพธ์ด้านการวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยดีขึ้น
ขณะที่เทเลเฮลท์ยังคงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการสุขภาพกับผู้ป่วย เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ถ้าเราไม่ได้ป่วยหนัก หรือหากสงสัยว่าจะเจ็บป่วยก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ตลอดเวลาผ่านเทเลเมดิซีน
Internet of Medical Things เป็นอีกเทรนด์ที่เราจะเห็นอุปกรณ์ด้านสุขภาพอันชาญฉลาดเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวัน และการดูแลรักษามิติใหม่กันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการดูแลและรักษาสุขภาพ เช่น เครื่องวัดความดันที่เชื่อมต่อกับบลูธูทได้ อุปกรณ์วัดอุณหภูมิในหูของเรา เป็นต้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ถือเป็นอีกหนึ่ง Disruption ที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีเพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศจะได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายจากขยะทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาล
ด้าน สมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง โรงพยาบาล เมดพาร์ค กล่าวในงานฟอรัมนี้ว่า เมดพาร์ค มุ่งสู่การรักษาระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ดังนั้น นอกจากความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานแล้ว การใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริการทางการแพทย์ แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยนำเอาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์วัตถุประสงค์ขององค์กรและผู้ใช้บริการ คือจะต้องให้ความรู้กับประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
แม้จะเป็นโรงพยาบาลน้องใหม่ที่เปิดบริการมา 3 ปี แต่เมดพาร์ค ได้เลือกใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาได้ดียิ่งขึ้น ลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล ลดการใช้ทรัพยากร รวมไปถึงลดขยะทางการแพทย์ด้วย โดยระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายๆ ส่วนของโรงพยาบาล อาทิ ห้องแล็บที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด (state-of-the-art technology) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานทั้ง ISO15189 (ด้านคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์) และ ISO15190 (ด้านความปลอดภัยและด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์) เทคโนโลยีในการส่องกล้องลำไส้ที่ให้ความชัดเจนแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ หุ่นยนต์ก็เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เช่น การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด เทคโนโลยีรังสีรักษา และเทคโนโลยีสำหรับการรักษาตา ที่ไม่เพียงเรื่องการมองเห็น และช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบให้เหมาะกับสายตาและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย
นอกจากนี้ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก หรือ IVF Center ที่จะเปิดบริการอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ก็มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการคัดกรองตัวอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และประเมินผลได้รวดเร็ว
สมถวิล ยังย้ำอีกว่า นอกจากการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติถึงขีดความสามารถของระบบสุขภาพไทยในการรักษาโรคยาก โรคซับซ้อน ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์
ฟิลิปส์เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ของปี 2023
1 ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Workflow Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะถูกนำมาแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งรายงาน Philips Future Health Index 2022 report ชี้ว่า ปัญหาด้านบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะขาดแคลนเจ้าหน้าที่พยาบาลถึง 13 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030 หากไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ภาวะหมดไฟและการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
2 การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรมบุคลากรใหม่ๆ อย่างเพียงพอจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความต่อเนื่องในการทำงาน ความปลอดภัย และคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วย และในอนาคต รับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้านดิจิทัลในวงการเฮลท์แคร์
3. การปฏิบัติงานทางไกล (Remote Operations) ผ่านการทำงานร่วมกันออนไลน์ (Virtual Collaboration) กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในวงการเฮลท์แคร์ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างระบบ Tele-ICU (เทเล-ไอซียู) เทคโนโลยีการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) และการแสดงผลข้อมูล (Data visualization) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น
4. โซลูชันด้านสารสนเทศ (Informatics Solutions) ที่เป็นกลางและสามารถทำงานร่วมกับหลากหลายเครื่องมือหรือระบบได้ เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและในระยะฟื้นฟู แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเครื่องมือแพทย์แบบเป็นกลางจะสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงลึกและการแจ้งเตือนการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น สามารถเชื่อมต่อกับระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) ของโรงพยาบาล รวมถึงเครื่องมือสื่อสารและความร่วมมือทางคลินิกได้อีกด้วย ส่งผลให้บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถเห็นภาพรวมเกี่ยวกับอาการและปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายได้ เมื่อการส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบและอุปกรณ์ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการดึงข้อมูลผู้ป่วยจากไซต์และแผนกต่างๆ อีกต่อไป
5. น่าจะได้เห็นการนำคลาวด์ไปใช้ทั่วทุกมุมโลกในปีนี้ และการเพิ่มขึ้นของโซลูชัน Software-as-a-Service (SaaS) ที่ส่งผ่านระบบคลาวด์ตามมา การย้ายข้อมูลไปอยู่บนคลาวด์จะสามารถรองรับข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ ช่วยให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล
6. การติดตามอาการผู้ป่วยอย่างไร้ร้อยต่อทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยใช้โซลูชั่นดิจิทัลบนคลาวด์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบสาธารณสุขจากโรงพยาบาลไปสู่บ้านผู้ป่วยและชุมชน
7. โซลูชั่นด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยีในอนาคต จะมุ่งเน้นที่การส่งมอบบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี
8. เทคโนโลยี 'การหมุนเวียน' โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือสมาร์ทดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพอากาศของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข และยังช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพสามารถลดการใช้ทรัพยากรการผลิต
9. เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ที่ลดคาร์บอนในวงการเฮลท์แคร์ให้สอดคล้องกับการตั้งเป้าตามหลัก Science-Based ด้วยการลดการใช้พลังงานทางตรงผ่านเทคโนโลยีด้านด้านเฮลท์แคร์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และทางอ้อม ด้วยการลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
10. ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศที่ดีต่อสุขภาพของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการประยุกต์ใช้ในวงการเฮลท์แคร์ ด้านการ ‘ประเมินต้นทุนทางธรรมชาติ’ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร