“เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก” เทศกาลศิลปะเพื่อไก่และคน งานศิลป์เพื่อปลดแอกการเลี้ยงไก่ฟาร์มไร้มนุษยธรรม หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ
ผนึกองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ชวนรวมพล ร่วมตะโกน!! กู่ให้ก้อง ผ่านงานศิลป์ 4 สาขา กลางกรุง
รู้หรือไม่? ไก่ 72,000 ล้านตัวทั่วโลก ถูกเลี้ยงและฆ่าเพื่อการบริโภคในแต่ละปี 2 ใน 3 ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและน่าหดหู่
เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์ โดยเฉพาะไก่ ซึ่งมีการบริโภคเป็นจำนวนมหาศาล รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนทางออกที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ เพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารที่เกื้อกูลกันของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection- Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลก มุ่งเน้นการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ จึงจัดงาน “เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก” เทศกาล ศิลปะเพื่อไก่และคน โดยผนึกเหล่าศิลปินและนักปฏิรูปคนดัง ร่วมรังสรรค์ผลงานศิลปะ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ศิลป์ 4 ศาสตร์ อย่างยิ่งใหญ่ในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ณ ลานกิจกรรมด้านหน้า หอศิลปกรุงเทพฯ เวลา 16:00-21:00 น. และผลงานทั้งหมดจะนำไป จัดแสดงต่อภายในหอศิลปกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 5 มีนาคมศกนี้
เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า “งาน เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก” เทศกาลศิลปะ เพื่อไก่และคน เป็นการจัดงานในซีรีส์ที่ 2 ต่อจากงาน Happy Meat Happy Me สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และกระตุ้นการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบอย่างมีมนุษยธรรม ก่อนส่งออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับกระแสความสนใจและการตื่นรู้อย่างต่อเนื่องของผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี องค์กรฯ จึงมุ่งสร้าง แรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง การส่งเสียงตะโกน ผ่านงานศิลปะ และผนึกพลังศิลปินในครั้งนี้ต้องการสื่อสารถึงความทุกข์ทรมานจากการเลี้ยงไก่ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างไร้มนุษยธรรม และมุ่งหวังให้ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงเร่งจัดระบบการเลี้ยงไก่ภายในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่น การจัดระบบพื้นที่ลดความแออัดภายในโรงเรือน การเลือกใช้สายพันธุ์ไก่โตช้า เและการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่เอื้อให้ไก่แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติทำให้ไก่ไม่เจ็บป่วยง่าย อันนำไปสู่การลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เกินความจำเป็น ที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นลูกโซ่ ที่เกิดเป็นวิกฤติ เชื้อดื้อยาทั่วโลกในขณะนี้”
การกู่ร้องในครั้งนี้ ได้รับพลังบริสุทธิ์จากกลุ่มศิลปิน 4 สาขา ซึ่งจัดขึ้นบริเวณกลางใจเมืองกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ได้แก่ มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมกับ นักรบ มูลมานัส ศิลปินนักปฏิรูปงานศิลป์ ถ่ายทอดเสียงผ่านงานศิลปะที่จะตะโกนออกไปให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง กับผลงาน The last suffer รังสรรค์โต๊ะอาหารมื้อสุดท้ายที่ถูกมนุษย์ป้อนเข้าปากเพื่อพรากชีวิตของตัวเองอย่างขาด
ความใส่ใจ , ครูเซียง หมอลำหุ่น ศิลปินพื้นบ้าน คณะเด็กเทวดา รังสรรค์งานศิลป์ “ชีวิต A4 ” สะท้อนมุมคิดผ่าน Installation Art นำสุ่มไม้ไผ่ และเครื่องสานจากฝีมือชาวบ้าน ประกอบเป็นไก่ขนาดยักษ์ สูงใหญ่กว่า 3 เมตรบนพื้นที่มีความกว้างเท่ากระดาษ เอ4, นลธวัช มะชัย เด็กหนุ่มผู้ไม่เคยทิ้งความฝัน จากกลุ่มลานยิ้มการละครเทใจให้กับการสร้างพล็อต Kult Of Chicken ที่จะขยี้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ให้ลด ละ เลิก การเลี้ยงไก่ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของใครเลยอย่างเป็นรูปธรรม และไฮไลท์การแสดงจากศิลปิน ศิลปาธรปี 2547 อ.ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง นำ “ลิเกไทย” กับพล็อตเรื่องใหม่ “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส” โดยมีกลุ่มนักดนตรีรุ่นใหม่ Laan และ Beagle Hug ร่วมขับกล่อมตลอดงาน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมรังสรรค์งานศิลป์ และแสดงเจตนารมณ์บนผืนผ้าที่ถูกตัดมาหลากสีสัน โดยให้ทุกคนร่วมติดสิ่งที่เขียน บน Installation Art ไก่ยักษ์เพื่อร่วมกันส่งเสียง คืนคุณภาพชีวิตไก่คืนจิตวิญญาณให้ไก่ คืนคุณภาพชีวิตคน ตลอดจนชมผลงานประกวดนิทรรศการภาพวาดจากเยาวชน จำนวน 20 ภาพในหัวข้อ “เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม”
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายต่อชีวิตที่เรามองไม่เคยเห็น ที่จะจัดแสดงต่อเนื่องไปถึงวันที่ 5 มี.ค.2566
ขอเชิญประชาชนร่วมเสพงานศิลป์ และแสดงพลังในงาน “เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก เทศกาลศิลปะ เพื่อไก่และคน” ระหว่างวันที่ 25 ก.พ.- 5 มี.ค. 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (สำหรับ ศิลปะประเภทการแสดงจะมีเฉพาะในวันเปิดงาน 25 ก.พ. 2566 ระหว่างเวลา 16:00-21:00 น. ณ ลานด้านนอก หอศิลปกรุงเทพฯเท่านั้น) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ chickenartfestival.org และ Facebook: World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
WorldAnimalProtectionThailand
ข้อมูลงานศิลปะ
- ศิลปิน : มารีญา พูลเลิศลาภ และ นักรบ มูลมานัส
ชื่อผลงาน : The last suffer
Concept : แรงบันดาลใจเกิดจากภาพวาดที่ชื่อว่า the last supper โดยเปลี่ยนจากคำว่า supper เป็นคำว่า suffer ซึ่งหมายถึง ความเจ็บปวดของไก่ เพราะไก่เจ็บปวดจากวิธีการเลี้ยงที่ผิดวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิต ตามที่คนต้องการ โดยนับเป็นครั้งแรกของการทำงานร่วมกัน ของมารีญา พูลเลิศลาภ และ นักรบ มูลมานัส ซึ่งเป็นงานประเภท Installation เพื่อให้คนได้เข้าไปมีส่วนร่วมถ่ายภาพ และ มี interaction โดยตัวงานศิลปะ จะถูกออกแบบให้เหมือนโต๊ะอาหารและมีบักเกตไก่ตั้งอยู่ พร้อมด้านหลังจะมีศิลปะคอลลาจประดับ เพื่อเล่าเรื่องราวที่งานต้องการจะสื่อ
- ศิลปิน : ประดิษฐ ประสาททอง และกลุ่มละครอนัตตา
ชื่อผลงาน : “เจ้าชายลอกับไก่วิปลาส”
Concept : ลิเกแนว Fantasy-Romantic
…เมื่อเจ้าชายลอผู้หลงไหลไก่ประหลาดค้นพบว่าไก่ตัวนั้นไม่ใช่ไก่ธรรมดา…
เรื่องย่อ : “ปู่เจ้าสมิงพราย”ผู้เป็นใหญ่เหนือภูติผีทั้งหลายได้รับคำสั่งลับให้หาวิธีกำจัด“เจ้าชายลอ” แห่งเมือง แมนสรวงซึ่งออกเดินทางไปตามหาคนรักคือ“พระเพื่อน"และ"พระแพง”สองธิดาแห่งเมืองสรอง ปู่เจ้าจึงตั้งพิธี ปลุกเสก“ไก่ผี”อัศจรรย์พันลึกไปหลอกล่อให้เจ้าชายลอติดตามเข้าในป่ามนต์แห่งเวียงกาหลง
เพื่อกำจัดเจ้าชายลอตามคำสั่งลับนั้นระหว่างการเผชิญหน้ากับอันตรายเจ้าชายลอกลับค้นพบความลับของ
ไก่ผี ที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น
- ศิลปิน : ครูเซียง หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา
ชื่อผลงาน : ชีวิต A4
Concept : ใช้วัสดุที่เป็นเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ สุ่มไก่ หวาย ฟางข้าว มาสร้างสรรค์ให้เป็นไก่ ขนาดความสูง 3 เมตร ที่มีลักษณะเป็นไก่ฟาร์ม ที่ถูกมัดขาไว้กับหลัก ที่มีความยาวของระยะไก่ เดินได้แค่ กระดาษ A4 อันเป็นนัยยะ เหมือนไก่ถูกมัดไว้ในพื้นที่แคบๆ ที่มีชีวิตทั้งชีวิต เดินได้ไกลแค่พื้นที่กระดาษ A4 และไก่เหมือนโดนปิดตาอยู่ในโลกมืด ถูกบังคับให้กินตามเวลาที่คนเลี้ยงกำหนดไว้ โดยการเปิดปิดไฟ เพื่อบอกเวลากลางวัน และกลางคืนเพื่อให้ไก่ได้กินอาหารตามที่คนเลี้ยงกำหนด
- ศิลปิน : นนทวัทธ มะชัย
ชื่อผลงาน : Kult Of Chicken
Concept : อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่เพื่อการบริโภคแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้ม จะเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของตลาด การแสดง Performance art จากลานยิ้มการละครชิ้นนี้ แสดงออก ถึงสภาวะความเป็นไปของการเผยแพร่ลัทธิบริโภคนิยมจากการผลิตไก่สู่คนและจากคน สู่ความเป็นไปของไก่