สมาธิบำบัด ไขความลับลมหายใจ ทำไมเยียวยาโรคได้
การฝึกลมหายใจเพื่อสุขภาพถือเป็นศาสตร์ที่มีมานานนับพันปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ไปพึ่งหยูกยารักษาโรคต่างๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่งระยะยาวอาจเกิดการดื้อยา หรือมีผลข้างเคียงตามมา เพราะการฝึกหายใจให้เป็นต้องทำอย่างถูกต้อง มีวินัย ถึงจะได้ผล เมื่อครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมเวิร์คช้อปการฝึกสมาธิบำบัด SKT จึงถือโอกาสนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านที่สนใจ สามารถนำไปลองปฏิบัติได้อย่างง่ายๆ
ความจริง รศ. ดร. สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยและทดลองกับผู้ป่วยมานานกว่า 20 ปี จนกลายเป็นแพทย์ทางเลือกที่ผสมผสานองค์ความรู้ทั้งสมาธิ โยคะ และชี่กง มาเป็นสมาธิบำบัดรูปแบบใหม่ซึ่งช่วยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้องรังให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่เชื่อว่า หลายคนยังไม่รู้จักหรือไม่เชื่อว่า แค่ลมหายใจจะช่วยให้สุขภาพดี และรักษาโรคได้ยังไง
ปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสมาธิบำบัดเป็นแนวทางหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์ได้ดี เพราะเป็นเทคนิคเชื่อมโยงการปฏิบัติสมาธิเข้ากับการทำงานของระบบประสาทเพื่อให้สามารถควบคุมการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น การสัมผัส และการเคลื่อนไหว ทำให้การฝึกสมาธิส่งผลดีต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติ ภาวะอารมณ์ พฤติกรรม ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ระบบไหลเวียนเลือด และระบบอื่นๆ ในร่างกาย
เดิม สมาธิบำบัด SKT มีเทคนิค 1-7 แต่ได้คิดค้นเพิ่มขึ้นอีก 2 โดยผู้ฝึกไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทั้งหมด เพราะแต่ละเทคนิคเหมาะสมกับสภาพร่างกายหรืออาการเจ็บป่วยของคนแต่ละคน
รศ. ดร. สมพร ย้ำว่า ถ้าขี้เกียจหรือไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำ เพราะต้องฝึกแต่ละเทคนิคให้ได้วันละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งต้องทำให้ครบ 20-30 รอบ ฝึกแต่ละครั้งห่างกัน 4-6 ชั่วโมง อย่าทำรวดเดียวหรือทำเกินจากนี้ เพราะจะไม่ได้ผล คนที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ให้ฝึกก่อนทานอาหาร ส่วนคนที่มีหนักตัวเกิน ให้ฝึกหลังรับประทานอาหารทันที หากมีอาการแน่น อึดอัดหน้ามืด ให้หยุดฝึกและลงนั่งพักหรือนอนพักทันที
ข้อพึงระวังอีกประการคือ คนที่ชอบออกกำลังกายบนลู่วิ่ง ห้ามทำควบคู่กับการฝึกสมาธิบำบัด ถ้าทำพร้อมกันจะมีปัญหาทันที เพราะลู่วิ่งเป็น Aerobic exercise แต่การฝึกสมาธิบำบัดเป็น Anaerobic exercise ฉะนั้น ถ้าจะให้ได้พละกำลังก็ควรฝึกก่อนแล้วค่อยไปวิ่งบนลู่
สำหรับเทคนิคที่ 1 ผลลัพธ์ที่ได้คือ ช่วยลดความดันโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นยานอนหลับได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ ยังช่วยฟื้นฟูความจำ ซึ่งโดยธรรมชาติ เมื่อเราอายุตั้งแต่ 30 ปี ความจำสั้นจะลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตายไป ถ้าฝึกตั้งแต่อายุ 30 จะสามารถเก็บความจำระยะสั้นไว้ได้หมด แต่ถ้ามาฝึกตอนอายุ 60 ความจำจะกลับคืนมาภายใน 3 เดือน หากฝึกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันโรคพากินสัน และโรคความจำเสื่อม รวมถึงโรคลมชัก และป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย
การฝึกก็ง่ายมาก จะนั่ง หรือนอนก็ได้ตามต้องการ ถ้าหากนั่งให้หงายฝ่ามือสองข้างวางบนหัวเข่า ท่านอนหงายให้วางแขนข้างลำตัวและหงายฝ่ามือขึ้น หลับตา ผ่อนลมหายใจเบายาวเท่าที่จะทำได้ ปิดปาก แล้วให้ลมหายใจเข้าทางจมูกไม่ต้องบังคับไม่ต้องสูดลม กั้นลมหายใจนับ 1-3 (3 วินาที) แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ นับ 1-5 ถือว่าครบหนึ่งรอบ ทำซ้ำแบบนี้ 20-30 รอบ จะได้ยาขยายเส้นเลือดอย่างดี
เทคนิคที่ 2 เอาไขมันมาเปลี่ยนเป็นยา
เทคนิคที่ 2 นี้ สามารถทำได้ทั้งท่านั่ง ยืน หรือนอนได้ โดยยกมือขึ้นเหนือศรีษะจนสุดแขน ฝ่ามือสองข้างประกบกัน ต้นแขนแนบไว้ข้างหูทั้งสองข้าง หายใจเข้า-ออกตามปกติทางจมูก ลึกๆ ช้าๆ กลั้นหายใจนับ 1-3 (3 วินาที) แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับแยกฝ่ามือออกจากกัน แขนตรงและเหยียดในท่าหงายฝ่ามือ ค่อยๆ ลดระดับแขนลง 1 จังหวะนับ 1 พอนับจังหวะถึง 15 แขนจะลดลงมาอยู่ระดับไหล่ และนับต่อไปเรื่อยๆ จนถึง 30 ระดับมือจะมาอยู่ที่ระดับต้นขาพอดี จากนั้นคว่ำฝ่ามือชิดต้นขา ให้ทำซ้ำแบบนี้ 30 รอบ วันละ 3 ครั้ง
รศ. ดร. สมพร อธิบายว่า เทคนี้เป็นการเอาไขมันมาสลายป็นน้ำตาล และสลายน้ำตาลเป็นพลังงาน จึงให้ผลดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง ไขมันและน้ำตาลในเลือด การอักเสบของกล้ามเนื้อ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพิ่มความจำ และลดความวิตกกังวลได้ด้วย
จะดีกว่าไหม ถ้าเราไม่ต้องกินยาแก้ปวดหัว ไมเกรน ท้องผูก ภูมิแพ้ นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้าวิตกกังวล แต่ใช้เทคนิคการหายใจและควบคุมประสาทสัมผัสแทน และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถเยียวยาโรคต่างๆ ได้ แม้กระทั่งโรคมะเร็ง อัมพาต ผู้ที่ปัญหาระบบการไหวเวียนโลหิต และออทิสติก
นี่เป็นเพียงบางส่วนของสมาธิบำบัดเท่านั้น แต่หากท่านใดสนใจ หรืออยากรู้ว่า เทคนิคไหนช่วยบำบัดโรค หรือแก้ปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง ก็สอบถามไปยังคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้