HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เจาะลึกศาสตร์สุขภาพเพื่อสร้างสมดุลกายใจ “โฮมีโอพาธีย์-ชี่กง”
by Ohnabelle
7 ต.ค. 2567, 16:14
  1,216 views

พาไปรู้จักการรักษาที่เป็นมิตรกับธรรมชาติของร่างกาย “โฮมีโอพาธีย์-ชี่กง” ศาสตร์สุขภาพเพื่อสร้างสมดุลกายใจที่ใช้แนวคิด “Like with Like”

ร่างกายของมนุษย์ถูกสร้างมาอย่างซับซ้อนจากธรรมชาติที่ทรงพลังกว่าที่เราคิด รวมทั้งได้ซ่อนความสามารถที่เราคาดไม่ถึง ตลอดจนศักยภาพในการรักษาตัวเองโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อไรที่ร่างกายและจิตใจเสียสมดุล ความป่วยไข้จะถามหา และแม้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันจะทันสมัยมาก แต่มีบางจุดที่การรักษาแผนปัจจุบันยังหาคำตอบไม่ได้ การรักษาสุขภาพสมดุลจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนเชิงสุขภาพที่ทุกคนทำได้

“กายใจยั่งยืน ด้วยวิถีพลังแห่งชีวิต” หนึ่งในหัวข้อดีๆ ใน Sustainability Expo 2024 เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ค้นหาพลัง และทำความรู้จักกับแพทย์ทางเลือกและศาสตร์การดูแลสุขภาพที่เป็นภูมิปัญญาตะวันออก กับสองศาสตร์สุขภาพ คือ โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และชี่กง ศาสตร์และศิลป์ของจีนในการออกกำลังกายและจัดการกับพลังงานในตัวเรา

โฮมีโอพาธีย์ ศาสตร์ก่อกำเนิดมาแล้วกว่า 200 ปี

แพทย์หญิงพัชรินทร์ ตันติวรวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เล่าว่า โฮมีโอพาธีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แต่เกิดมานานกว่า 200 ปี ในประเทศเยอรมนี โดยนายแพทย์ Samuel Hahnemann เป็นการแพทย์แผนใหม่ที่มีหลักคิดตรงข้ามกับการรักษาที่เราคุ้นเคย เช่น กรดในกระเพาะเยอะ รักษาด้วยยาลดกรด  ไข้สูงรักษาด้วยการให้ยาลดไข้ น้ำร้อนลวกให้ใช้น้ำแข็งประคบ เป็นต้น

แต่โฮมีโอพาธีย์ใช้แนวคิด “Like with Like” คือการใช้ความเหมือนรักษา เช่น น้ำร้อนลวกให้ใช้น้ำอุ่นประคบ น้ำอุ่นจะช่วยดึงความร้อนออกมาจากผิว ความร้อนจะไม่ทำลายเนื้อเยื่อชั้นในบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวก แต่ถ้าใช้น้ำแข็งประคบ น้ำแข็งจะทำให้ผิวด้านนอกเย็น หายแสบร้อน แต่ความร้อนที่อยู่ในเนื้อเยื่อด้านในจะยิ่งถูกผลักลึกขึ้น ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง เป็นต้น

“การแพทย์แบบโฮมีโอพาธีย์ เป็นการรักษาที่เป็นมิตรกับธรรมชาติของร่างกาย อยู่ฝั่งเดียวกันกับร่างกาย เช่นเวลาที่มีไข้ นั่นเป็นสัญญาณที่ธรรมชาติส่งออกมาบอกว่าเราควรจะนอนพัก ไม่อยากให้เราขยับร่างกาย ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อให้กลไกธรรมชาติของร่างการขับพิษออกมาได้เอง” พญ.พัชรินทร์ อธิบาย

การรักษาแบบองค์รวม

หัวใจสำคัญของโฮมีโอพาธีย์ คือการมองผู้ป่วยเป็น “คน” ไม่ได้มองแยกเป็นอวัยวะ นั่นหมายความว่า แนวคิดในการรักษาต้องดูองค์รวม แพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียดในทุกมิติ ทั้งการใช้ชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก ความกังวลต่างๆ หรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่อาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลจนแสดงอาการป่วยออกมา  ซึ่งต่างไปจากการแพทย์ที่เราคุ้นเคยที่มีแพทย์เฉพาะทางมากมาย ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มารักษาโรคหัวใจ อาจจะต้องพบกับแพทย์หลายสาขา เช่น หัวใจ เบาหวาน ไต เป็นต้น

ดร.สีมา มาเฮส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโฮมีโอพาธีย์ระดับโลก เล่าว่า จากรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับโลก พบว่าโฮมีโอพาธีย์ ใช้รักษาได้ผลดีกับโรคทุกชนิด ตั้งแต่ภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคหัวใจ  โรคผิวหนัง มะเร็ง และรักษาได้ทั้งระดับความรุนแรงน้อยไปจนถึงมากและรักษายาก

การรักษาโดยหลักการโฮมีโอพาธีย์

พญ.วรางคณา ทองคำใส จักษุแพทย์ สภากาชาดไทย เล่าตัวอย่างผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมานานกว่า 15 ปี ที่ต้องทนทุกข์กับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเดือนละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา 3 วัน แพทย์ต้องซักประวัติละเอียดทั้งการใช้ชีวิตทั่วไป กินอย่างไร นอนอย่างไร ทำงานอะไร ความเครียดมากน้อยแค่ไหน เมื่อวินิจฉัยอาการแล้วแพทย์ได้สั่งยาแบบโฮมีโอพาธีย์ให้ครั้งเดียว หลังจากนั้นอาการต่างๆ ดีขึ้น จนปัจจุบันไม่มีอาการมา 3 ปีแล้ว

การรักษาแบบโฮมีโอพาธีย์จะเป็นการให้ยา ซึ่งยาเหล่านี้จะไม่ใช่ยาแผนปัจจุบันที่เป็นเคมีสังเคราะห์  แต่เป็นการนำดอกไม้ พืช สมุนไพรตามธรรมชาติมาสกัดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อใช้ประโยชน์จากธาตุต่าง ๆ ตามธรรมชาติ ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด

แต่อาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยโฮมีโอพาธีย์ คือ กรณีที่มีกระดูกแตกหัก หรือการรักษาฟัน ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เข้าช่วย แต่โฮมีโอพาธีย์ยังคงช่วยได้เรื่องการบริหารความเจ็บปวด

โฮมีโอพาธีย์กับหลักคิดทางวิทยาศาสตร์

พัชรี ยังเจริญ นักบำบัดไฮมีโอพาธีย์แนวดั้งเดิม และเป็นผู้แทนจาก Thai Coordinate for International Academy for Classical Homeopathy กล่าวสรุปสั้นๆ ว่า “ร่างกายเราก็เหมือนสนามเล็กๆ ของควอนตัมฟิสิกส์ เมื่อได้รับพลังงานลบมามากๆ จะสะสมที่จุดหนึ่งของร่างกายจนเกิดอาการเจ็บป่วย โฮมีโอพาธีย์จึงพยายามทำให้ผู้ป่วยกลับสู่สมดุลทั้งกายใจนั่นเอง”

 

"ชี่กง" ภูมิปัญญาของมนุษยชาติ

ในขณะเดียวกัน สุรศักดิ์ องอาจถาวร อาจารย์สอนชี่กง เล่าว่า ชี่กง เป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติ ซึ่งหากอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์แล้ว วิถีพลังชีวิตเป็นศาสตร์และศิลป์ในการดูแลจิตและกายที่ประสานด้วยตัวเชื่อมคือพลังงาน  เป็นจุดที่การแพทย์แผนปัจจุบันทำได้เพียงประคับประคองอาการ  นอกจากนี้ยังเป็นการดึงศักยภาพกายและจิตออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ

สุรศักดิ์ อธิบายว่า ร่างกายคนเราประกอบด้วยพลังงาน “ชี่” คือ ลมปราณ การฝึกชี่กง คือการฝึกเพื่อบริหารจัดการ หรือปรับสมดุลของพลังงานในร่างกาย เพื่อประโยชน์ในทั้งเชิงป้องกันเพื่อรักษาสุขภาพและการบำบัด การฝึกชี่กงสามารถบำบัดโรคทางกาย เช่น กลุ่มโรคภูมิคุ้มกัน เลือด ไขมัน ไปจนถึงโรคยากอย่างมะเร็ง ซึ่งขึ้นกับภาวะของร่างกายแต่ละคน ในส่วนของการบำบัดจิต  ตั้งแต่การทำจิตให้นิ่ง สบาย เบิกบาน รับรู้สิ่งต่างๆ และอารมณ์ และการส่งเสริมปัญญา

ศาสตร์การฝึกตนของคนทั่วโลก ล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของการจัดการพลังงานทั้งสิ้น เช่น จีนมีการฝึกชี่หรือปราณ อายุรเวชจะมองเรื่องจักระหรือจุดรวมพลังงานในร่างกาย ชาวโพลีนีเชียน เรียกสิ่งเดียวกันว่า Mana ฮาวายเรียก Ha อียิปต์เรียก Ka ชาวฮีบรูเรียกว่า Ruach และกรีกคือ Pneuma

“แต่ถ้าเราดูลงไปในระดับพิมพ์เขียว (Blue Print) ของชีวิต ซึ่งจะมีลักษณะหมุนวนต่อเนื่องกันเป็นวงจร มีความสัมพันธ์กันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และสะท้อนให้เห็นว่าความยั่งยืนของตัวเรามีความสัมพันธ์กับความยั่งยืนในสิ่งรอบตัว ดังนั้น การสร้างความยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา” สุรศักดิ์ กล่าว

การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เราไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของพลังงานในร่างกายอย่างจริงจัง

“ถ้าร่างกายเป็นฮาร์ดแวร์ พลังงานข้างใน คือซอฟต์แวร์ การฝึกชี่กงหรือพลังงาน คือการประสานวงจรพลัง กับร่างกายและการฝึกจิตไปพร้อมกัน เป็นการนำพลังงานในทุกระดับของร่างกายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การฝึกพลังในร่างกายของเรา ทุกคนสามารถทำได้ และถ้าฝึกได้ เท่ากับเรามีหมออยู่ในตัวเรา เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างยั่งยืน”

การดูแลสุขภาพตนเอง ถือเป็นมิติที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ต้องอาศัยการลงทุน หรือความพยายามใดๆ นอกจากความตั้งใจและการมีวินัย ที่สำคัญคือการเปิดใจรับทางเลือกใหม่ที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพในองค์รวมเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- HappeningBKK Service 

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS