HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เทรนด์ใหม่เพื่อส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน 
by Ohnabelle
23 พ.ย. 2567, 18:41
  339 views

การวิ่งไปหาหมอทันทีที่รู้สึกว่าไม่สบาย อาจจะไม่ได้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติของคนในอนาคต เพราะการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง (self-care) คือ เทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังมา

แน่นอนว่าการไปหาหมอ หรือการไปโรงพยาบาลทุกครั้งที่ป่วยแม้จะมีอาการเล็กๆ น้อยๆ  หมายถึงเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เวลาที่หายไปกับการลางานและการรอพบแพทย์ การรอรับยาซึ่งจริงๆ แล้วอาจจำไม่จำเป็น และราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งถึงแม้จะเบิกได้ แต่ก็เป็นอาจภาระของระบบดูแลสุขภาพ ที่สำคัญ คือ ทุกวันนี้ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำงานกันแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ถ้าจะพึ่งแพทย์และเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น จะทำให้ระบบสาธารณสุขมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น   นี่ยังไม่ต้องพูดถึงช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกด้วย

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายว่า การดูแลตนเอง หรือ Self-care  ประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรก คือ ความรู้ตัวด้านสุขภาพ หรือ Health-consciousness คือ รู้ตัวว่าสุขภาพของเราตอนนี้ปกติหรือไม่ เรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร มีความผิดปกติหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ และต้องทำอย่างไรต่อหากมีความผิดปกติ   ส่วนที่สอง คือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy ซึ่งต้องเกิดจากการเรียนและหาความรู้  ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้การหาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องมีวิจารณญาณด้วยว่าข้อมูลใดบ้างที่เชื่อถือได้  

จูดี้ สเตนมาร์ก ผู้แทนจากสมาพันธ์การดูแลตนเองนานาชาติ

จูดี้ สเตนมาร์ก ผู้แทนจากสมาพันธ์การดูแลตนเองนานาชาติ หรือ GSCF กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการกำหนดนโยบายเรื่องการส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีแนวคิดใหม่ว่า การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เป็นทางหนึ่งที่จะปิดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้  นอกจากนี้ การที่ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ นับเป็นการแพทย์เชิงป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการรักษาสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ตามที่ได้ระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนหรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติด้วย

นอกจากนี้ จูดี้ สเตนมาร์ก ยังระบุว่า จากสถิติทั่วโลกพบว่า การดูแลตนเองช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพเฉลี่ยได้ถึง 119 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว ทำให้ประเด็นเรื่องการดูแลตนเองกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจการคลังไปพร้อมกัน

ล่าสุด สมาชิกของ Asia-Pacific Self Medication Industry (APSMI) ใน 9 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ร่วมกับ Global Self-care Federation (GSCF) และสมาคมเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (TSMIA) ของประเทศไทยที่เข้าร่วมงานประชุมใหญ่ Global Self-care Federation World Congress 2024 ในกรุงเทพฯ  ได้ประกาศความร่วมมือที่จะนำไปสู่การที่ประชาชนมีความสามารถในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง  

เป้าหมายแรก คือ การสร้างความตระหนัก ทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป การทำให้คนทุกระดับเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง และร่วมมือทำให้กลายเป็นมาตรฐานการปฏิบัติตัวในอนาคต เพื่อการมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

“สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการร่วมพูดคุยกันในครั้งนี้ คือ การดูแลตนเองหรือ Self-care จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนยังขาดความรอบรู้หรือ health literacy ในด้านสุขภาพ และความเข้าใจว่าการดูแลตนเอง คือ การรักษาสุขภาพอย่างหนึ่งเช่นกัน” นางจูดี้กล่าว

ดร.เภสัชกร นพดล อัจจิมาธีระ  บจก. เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ เฮลธ์แคร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (ประเทศไทย)

ดร.เภสัชกร นพดล อัจจิมาธีระ ผู้อำนวยการแผนกฎหมายทะเบียนผลิตภัณฑ์และการแพทย์ ประจำภูมิภาคอาเซียน/ญี่ปุ่นและเกาหลี บจก. เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ เฮลธ์แคร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (ประเทศไทย) ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยเราไปหาหมอกันบ่อย แต่หากเรามีความรู้เบื้องต้นที่ถูกต้องจะสามารถดูแลตนเองได้  และเมื่อยามเจ็บป่วย เราจะอธิบายให้แพทย์ เภสัชกร เข้าใจอาการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรค การจัดยา และการรักษาแม่นยำมากขึ้นด้วย 

สำหรับประเทศไทยไทย ปัญหาด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ดร.เภสัชกร นพดล มองว่าเป็นเรื่องของโรคติดต่อไม่เรื้อรังหรือ NCD เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลตัวเอง

“ในการประชุมครั้งนี้ เราคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง ตั้งแต่การกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ และเมื่อป่วยก็มีความรู้ที่จะเลือกว่าจะใช้ยาหรือสมุนไพรแผนโบราณร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสมัยใหม่อย่างไร  เมื่อไหร่ควรเข้ารับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์” ดร.เภสัชกร นพดล กล่าว

ในยุคที่ประชากรทั่วโลกกำลังมีอายุสูงขึ้น  ความเสี่ยงที่จะมีโรคอุบัติใหม่หรือโรคระบาดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ขณะที่ระบบสาธารณสุขมีภาระมากมายจนล้น การพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น  เทรนด์ Self-care จึงเป็น Healthcare ที่สำคัญของคนในโลกอนาคต

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS