HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
คันธคีรี ภูเขา ดนตรี ชีวิต
by เพียงธุลี
6 มี.ค. 2565, 15:21
  1,352 views

        ฝนลงหนักแทบจะทันทีที่การพูดคุยของเราจบลง อาจารย์สำราญขอตัวไปเตรียม ตัวก่อนขึ้นเล่นดนตรี
หลังจากที่เช็คเสียงเปียโนไฟฟ้าและตั้งสายไวโอลินอยู่ครู่ใหญ่ อาจารย์ สำราญจึงเปิดการแสดงในค่ำคืนนี้ด้วยการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน เสียงไวโอลินและเปียโนพาผมนึกย้อนไปถึงการพูดคุยเมื่อเกือบหนึ่งชั่วโมงที่ผ่าน มา หลายคนคงไม่รู้ว่า สำราญ เพ็ชรเพ็ง มือไวโอลินบนสเตจคนนี้คือมือเชลโลชั้น ครู ที่ผ่านทั้งวงดุริยางค์ทหารอากาศ ได้รับคัดเลือกร่วมเล่นในวง Pro Musica ของสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (ตอนที่หม่อมหลวงอัสนี ปราโมช เป็นหัวหน้าวง) วงบางกอกซิมโฟนี่, ร่วมตั้งวง Fantasia Light orchestra กับดร.ประทักษ์ ปทีปะ เสน ซึ่งในวงออเคสต้าใหญ่นั้นมีวงแชมเบอร์มิวสิคเล็กๆ ชื่อวงไหมไทย ซ้อนอยู่ พออาจารย์ดนู ฮันตระกูล มารู้จักดร.ประทักษ์ อ.ดนูก็ขอหยิบยืมไหมไทยไปใช้
ส่วนที่เหลือก็คือตำนาน
         

        เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนจบลง ฝนยังคงโปรย หมาสองตัวนอนหลบฝน ร่วมชายคาแผงขายเสต็กหน้าร้านที่ปิด หญิงสาวขายล็อตเตอรีนั่งจิ้มโทรศัพท์รอ ฝนซา อาจารย์บรรเลงเพลงพระชาชนิพนธ์ ชะตาชีวิต ต่อ ผมนึกถึงชีวิตช่วงใกล้ เกษียณของอาจารย์ที่กลับกลายเป็นช่วงเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เช่น ไปสอนที่ รร.ดนตรีศศิลิยะ และที่ย่างกุ้ง 

         "มีนักเปียโนฝรั่งเป็นภรรยาท่านอุปทูตอยู่ประเทศเมียนม่า เค้าอยากได้คน ไปช่วยสอนในมหาวิทยาลัย เราก็ไปสอนบ้าง เป็นคอนดักเตอร์ให้เค้าบ้าง สัญญาแรกสามเดือน หลังจากนั้นก็ไป ๆ กลับ ๆ อยู่สักพัก ตอนหลัง ๆ เราเบื่อ ในระหว่างนั้นทางไทเปก็ติดต่อจะให้ไปสอนแต่ผมไม่ชอบเพราะมันหนาว แล้ว มหาวิทยาลัยเว้ก็ติดต่อเข้ามาจะให้ไปสอนที่เวียดนามอีก"
        แต่แล้ว...
        สุดท้ายอาจารย์สำราญไม่ได้ไปสอนที่ไหนเลย เพราะชะตาชีวิตได้พาท่านมา เจอเพื่อนเก่าสมัยมัธมที่ไม่ได้เจอกันมาสี่สิบกว่าปี เพื่อนคนนั้นเปิดร้านอาหารชื่อ คันธคีรี อยู่ชานเมืองเชียงใหม่

คันธคีรี
ร้านคันธคีรี ร้านอาการโปร่ง โล่ง รอบๆ เป็นทุ่งนา: PHOTO BY  ศุภโมกข์ ศิลารักษ์

        คันธคีรีในตอนนั้นคืออาคารใต้ถุนสูง โปร่งโล่ง รอบๆ เป็นทุ่งนา ยามราตรี แสงไฟช่วยแต้มให้อาคารนั้นแลดูสวยงามโดดเด่น ผมยังจำภาพวาดคนยืนเล่น ไวโอลินขนาดใหญ่นั้นได้ถนัดตา ทีแรกอาจารย์สำราญเพียงเข้าไปช่วยแนะนำ เพื่อนเรื่องคอนเซ็ปต์และบรรยากาศ แต่หลังจากนั้นไม่นานเพื่อนของอาจารย์ก็เสีย ชีวิต อาจารย์จึงต้องรับช่วงทำต่อ
       "ผมน่ะเป็นคนรักเชลโลมาก ทุกวันนี้ก็ยังฝึกยังซ้อมอยู่ แต่เราจะทำยังไง มา อยู่ต่างจังหวัด เล่นเชลโลคนก็ไม่รู้จัก เราก็เลยมุมานะหัดไวโอลินด้วยตัวเอง ไวโอลินถึงมันเพี้ยนง่ายแต่มันก็เล่นง่ายกว่าเชลโล
ตอนนั้นเรายังเล่นไวโอลินไม่เป็นเลย เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ไม่มีครูบา อาจารย์ เล่นมันวันละห้าหกชั่วโมง เอาพื้นฐานคลาสสิคมา เบโธเฟน โมสาร์ท วิ วาลดี เอาโน้ตเอาแบบฝึกหัดมากาง โพสิชันต่างๆ จะมีอยู่ในแบบฝึกหัด แล้วที่ เราเล่นดนตรีกับนักดนตรีเก่งๆ มาตลอดก็จำทักษะมา จากดร.ประทักษ์ จากสุทิน เทศารักษ์ ใช้เวลาประมาณห้าปี ถึงจะเข้าที่เข้าทาง ช้าหน่อยแต่ว่ามั่นคง

         ช่วงห้าปีแรก เล่นได้ไม่กี่เพลง ไม่ค่อยเพราะหรอกตอนนั้น เอาที่แม่นจริงๆ มาโชว์สักสิบเพลง เอาเพลงไทยง่ายๆ เอาไลท์มิวสิคที่เราเล่นอยู่แล้วมาผสม แล้วเราก็ต้องกลับไปฝึก หนักๆ ตอนนี้ก็โอเคแล้ว ก็ได้สักเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เก่ง ก็ยังต้องซ้อม แต่ กลายเป็นว่ามีชื่อเสียงทางด้านไวโอลิน เราเล่นอีกแบบ เอนเตอร์เทนได้ คลาสสิค ได้ แต่จะให้เก่งแบบเด็กๆ เทคนิคสูงไม่ได้ เพราะเราฝึกเอง พวกที่เล่นเก่งๆ มา เห็นก็ถาม เอ๊ มึงเล่นได้ยังไงวะ ทำไมทำได้ ไปโชว์เอลวิสเนี่ยเค้าก็เชิญไป ไวโอลิน นี่แหละ (อาจารย์ชี้ไปที่โปสเตอร์ไวนิลซึ่งแขวนอยู่ตรงประตูเหล็ก) เราก็คิดว่าเออ ก็แปลกดีเนาะ เราก็เพิ่งเล่นไวโอลินมาไม่นาน เพราะนักไวโอลินนี่ต้องมียี่สิบปีนะ"
         ผมถามอาจารย์ว่า เคยนึกเบื่อบ้างไหมที่ต้องมาหัดตอนอายุหกสิบ

        "ผมเป็นคนไม่เบื่อดนตรี" อาจารย์ย้ำหนักแน่น "คลาสสิคน่ะมันดีแน่นอน แต่คนฟังล่ะ ไม่ใช่เฉพาะบ้านเราด้วยต่างประเทศมันก็น้อยลงไปๆ เราก็ต้องปรับ เอาเพลงไทยเก่าๆ มาทำให้มันสละสลวย ปรับอารมณ์ให้คนฟังคล้อยตาม"
แขกในร้านช่วงหัวค่ำนี้ ประกอบไปด้วยสองสามีภรรยาที่ผลัดกันขึ้นไปร้อง เพลง อีกฟากเป็นสองหนุ่มใหญ่ที่ดูจากการแต่งตัวแล้วเหมือนไม่น่าร่วมโต๊ะกันได้

         อาจารย์บรรเลงเพลงไทยลูกกรุงของมรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ อีกสองเพลง ก่อนจะมอบเวทีให้ลูกค้า ผมมองหญิงกลางคนที่ขึ้นไปร้องเพลงด้วยรอยยิ้มทำให้ ผมนึกถึงคำว่า ให้ความสุขกับผู้คน ที่อาจารย์เล่าถึงช่วงเล่นดนตรีจิตอาสาให้โรง พยาบาล

         “เล่นอาทิตย์ละสองวันอยู่แปดปี ที่โรงพยาบาลประสาทกับโรงพยาบาลสวนดอก ที่รพ.สวนดอกนี่เราไปเสนอเค้า ขอเล่นอาทิตย์ละวัน ตอนแรกคณะบดีก็ไม่ เชื่อ พอเล่นให้ดู ท่านก็บอกให้เล่นอาทิตย์ละสามวันได้มั้ย ผมบอกไม่ได้ (เสียงสูง) ไม่เคยเรียกร้องอะไรนะ เปียโนเครื่องเสียงเป็นแสนๆ ผมก็หา ไปบอกกับคนใจบุญ ว่าจะไปเล่นที่โรงพยาบาล ยังไม่มีเปียโน เค้าถามเท่าไหร่ เราก็บอกแสนนึง เค้าว่า ถ้าคุณสำราญเล่นพรุ่งนี้ให้มาเอา คนเล่นเปียโนก็ลูกศิษย์ททุกวันนี้ก็ยังมีคนถาม ทำไมไม่มาเล่นอีก ผู้บริหารเค้าไม่เอาเราก็ไม่รู้ทำไง ไม่ได้เล่นมาสามสี่ปีแล้ว เราทำอะไรที่เราทำได้ ให้ความสุขกับคน เค้ามาโรงพยาบาลมันมีความ ทุกข์น่ะ ทำแบบที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านบอก เราทำอะไรได้ก็ทำ คิดอยู่แค่นั้น แหละ”
          เวลาสิบแปดปี คันธคีรีย้ายบ้านมาหนึ่งครั้ง ห่างจากที่เดิมมาไม่ถึงหนึ่ง กิโลเมตร ร้านในละแวกเดียวกันทยอยปิดหนีหายกันไปเกือบหมด อะไรที่ทำให้ ร้านนี้ยังอยู่ได้ และอยู่ดี
 

อาจารย์สำราญ เพ็ชรเพ็ง มือไวโอลินของร้าน:  PHOTO BY ศุภโมกข์ ศิลารักษ์

       “เราเคยเล่นร้านอาหารเห็นในโรงแรมมา ใส่ทักซิโดเล่นมาสามสิบปี เราไม่ ชอบตรงนั้นมันหลอกลวง แล้วแพงมาก มาทำอะไรสบายๆ ถูกๆ ได้ฟังอย่าง เดียวกัน นักดนตรีคนเดียวกัน แล้วเราไม่ได้ขายแพง พออยู่กันได้ ถ้าเราไปเอาต้น ทุนสูงๆ ก็สู้ไม่ไหว ทุกวันนี้อะไรก็แพงหมด ถ้าเราไปทำเหมือนคนอื่นคงลำบาก เรา ทำไปตามอัตภาพ เห็นร้านใหญ่นี่มีคนแค่ห้าคนเอง กุ๊กหนึ่ง คนเสิร์ฟสอง เปียโน แล้วก็ผม แค่นั้นแหละ เราเอาความสามารถเราเนี่ยเรียกแขก ขายตัวเองกิน เล่นสไตล์อย่างผมเนี่ย ทั้งภาคเหนือทั้งประเทศไม่มี ใครอยากฟังแบบนี้ก็มา เป็นผู้ใหญ่หน่อย จะไม่มีวัย รุ่น หรือก็จะเป็นวัยรุ่นอีกแบบ ที่ลำบากคือเราต้องฝึกหนัก เพราะถ้าเค้าขอแล้วเรา เล่นไม่ได้ เราก็อายเค้าก็ผิดหวัง แล้วไม่ใช่แค่ต้องรู้จักเพลงเยอะ ต้องเล่นให้ ประทับใจคนฟังด้วย”
         ในวัยเจ็ดสิบกว่า อาจารย์ยังเล่าถึงโปรเจ็คใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งท้ายการ พูดคุย “มีเด็กเค้าจะรวมกันทำแชมเบอร์มิวสิคเล็กๆ คงต้องเล่นด้วยเพราะหานัก ดนตรีนำไม่ได้ เค้าไม่มีประสบการณ์ บางคนก็เล่นแต่เพลงโบสถ์มา เค้าก็อยากให้ เราไปนำ เราก็เอา ทำ คนอื่นเค้าจะได้เล่นเป็นด้วย เดี๋ยวเราตายไปไม่มีใครเล่น เจ็ดสิบห้าแล้ว แต่ก็ไม่อยากได้อะไรแล้วนี่ ชีวิตน่ะ พรุ่งนี้ตายไปเราก็ไม่ได้อะไรสัก อย่าง เราแค่ทำชีวิตให้มีความสุข”
         โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต ท่อนหนึ่งของเพลงจงรักจากแขก คนหนึ่งในร้านที่ขึ้นไปร้องเพลง ดูจะเป็นซาวด์แทร็คที่บอกอะไรหลายอย่างได้ดี

ร้านคันธคีรี
ถนนชนบท 3029 ต.แม่เหียะ เทศบาลนนครเชียงใหม่

โทร 082 388 8775
https://www.facebook.com/kanthakiree

ABOUT THE AUTHOR
เพียงธุลี

เพียงธุลี

ALL POSTS