The LoFi Rider ผจญภัยไปกับคลื่นความถี่เสียง
หน้า A
อยู่ดี ๆ ผมก็นึกอยากจัดหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงสักเครื่องไว้ในบ้าน
จะว่าอยู่ดี ๆ ก็ไม่เชิงนัก จริง ๆ ผมก็มีความถวิลหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่นานแล้ว อาจจะตั้งแต่ครั้งไปนั่งดื่มที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน คืนนั้นเพื่อนหยิบแผ่นเสียง Nirvana MTV unplug in New York มาวางบนแท่นหมุน และค่อย ๆ วางอาร์มแตะลงไป เสียงระยิบระยับคล้ายเสียงข้าวโพดคั่วเบา ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นเสียงก็ดังออกมาจากลำโพง Sony เก่า ๆ คู่นั้น
แม้จะเมามายได้ระดับจากเหล้าดองบ๊วยของเพื่อน แต่รสสัมผัสในการฟังแผ่นเสียง (แบบใกล้ชิดตรงหน้า) อันแปลกใหม่ต่างจากซีดีที่คุ้นชินยังแทรกลงจารึกอยู่ในใจ
ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านมานานร่วมสิบปีหลังจากคืนนั้น กว่าผมจะได้เริ่มต้นการผจญภัยบนร่องเสียง
เรื่องมีอยู่ว่า ต้นมิถุนายน พ.ศ. 2564 โฆษณาขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบคอมโบในราคาสองพันกว่าบาทปรากฎขึ้นในฟีดของเฟซบุค มันกระตุ้นความสนใจโข แต่ด้วยไมีความรู้เรื่องนี้เลย จึงลองหยิบลิงค์ส่งไปถามเพื่อนคนเดิม เพื่อนบอกว่าไม่รู้จักยี่ห้อนี้ และเปรยว่ามันถูกเกินไปจนน่ากลัว ผมจึงตกลงใจจะรอดูไปก่อนตามคำแนะนำของเพื่อน ก่อนจะมาพบทีหลังว่านั่นเป็นโฆษณาของมิจฉาชีพที่คนซื่อหลายคนมาเขียนไว้ว่าได้รับของไม่ตรงกับปก
เกือบไปแล้วสิ
หลังจากนั้น เพื่อนก็ส่งลิงค์ขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกเครื่องมาให้ดู คราวนี้เป็นของยี่ห้อ TEAC รุ่น MC- D800-CH ที่ขายในราคาถูกกว่าราคาตั้งเกือบครึ่ง ผมแชตไปคุยกับคนขายได้ความว่า เป็นของตัด (แบ่งมาขายนั่นแหละ) มาจากร้านซึ่งอยากกระจายสินค้าที่ขายไม่ออกเพื่อเอาเงินไปหมุนในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองจากโควิด
Teac เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์มีชื่อชั้นในตลาดเครื่องเสียงระดับโฮมยูสมายาวนาน มีคุณภาพการผลิตได้มาตรฐานแบรนด์นึง TEAC MC- D800-CH เป็นเครื่องแบบคอมโบที่มีทุกอย่างครบครันทั้ง แท่นเทิร์นเทเบิล (หรือในชื่อเดิมว่า Record Player), เครืองเล่น CD รวมไปถึง แอมป์ขยายเสียง และลำโพงบลูทูธในตัว เท่าที่มองฟังก์ชั่นของมันดูจะคุ้มค่ากับค่าตัวเหลือเกิน
แต่เครื่องเสียงนั้นย่อมต้องฟัง และหลังจากที่ได้ดูรีวิวเครื่องเสียงรุ่นนี้ใน youtube (รีวิวแบบร้านซึ่งมีมาตรฐาน) ผมกลับไม่ชอบเสียงที่ได้ยินเท่าไหร่นัก ผมบอกเพื่อนไปตามนั้น เพื่อนตอบกลับมาว่า
“คุณ (มึง) นั้นน่าจะชอบแบบเครื่องแยกชิ้นมากกว่า”
ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้แล้วลองเสิร์ชหา TEAC MC- D800-CH ถ้าเกิดชอบ คุณก็อาจจะไม่ต้องอ่านต่อแล้ว คุณก็พอใจตัดจบที่ได้เครื่องนี้ได้เลย (แนะนำว่าตอนฟังรีวิวให้ใช้หูฟังคุณภาพดีหน่อยนะ)
แต่ถ้าคุณฟังแล้วยังไม่ชอบใจเหมือนผม เราก็จะไปต่อกัน
ทำไมคนจึงยังนิยมเล่นแผ่นเสียง? ก่อนจะไปต่อ เราลองแวะตอบคำถามนี้ดูสักหน่อย
แผ่นเสียง (Record) ที่เรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมแรกของการบันทึกเสียงบนโลก เลยทีเดียว
คำตอบที่ผมได้ลองค้นมีทั้ง แผ่นเสียงมันมีประวัติศาสตร์ มีสตอรี่ความเป็นมา มันคลาสสิค มันเท่ มันต้องใช้ความละเมียดละไมในการเสพย์ ใช้สมาธิในการฟัง มันเป็นอนาล็อคที่ให้เสียงดีกว่าดิจิตอล
หากเรื่องของข้อเท็จจริงแบบไม่อ้างอิงมีอยู่ว่า ขั้นตอนที่หัวเข็มแตะร่องเสียงนั้นยังมีความเป็นอนาล็อคที่ถ้าว่าด้วยตัวเลขวัดความละเอียดของคลื่นสัญญาณจะละเอียดกว่าไฟล์ที่อยู่บนแผ่น AudioCD อยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นเสียงที่ได้ยินจากเครื่องจากเล่นแผ่นเสียงระดับกลาง ๆ นั้นจะมีความสมจริงมากกว่าเครืองเล่นซีดีที่แพงกว่าหลายเท่า ตัว เพราะ CD นั้นคือข้อมูลดิจิตอล การจะรีดเสียงที่ดีออกมาต้องพึ่งพาตัวแปรมากมาย ทั้งเลเซอร์ของหัวอ่าน ตัวแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอนาล็อค
แน่ละว่า หลายคนก็อาจจะชอบเสียงคมชัดแบบ CD หรือไฟล์เพลง .ซึ่งถ้าเป็นเร่ืองของรสนิยมแล้ว แต่ละคนก็ย่อมมีคำตอบต่างกัน เราคงไม่มานั่งถกเถียงกันให้เสียเวลา ในเมื่อเรื่องนี้ว่าด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียง เราก็จะไปต่อกันที่เครื่องเล่นแผ่นเสียง
ส่วนถ้าใครชอบ CD หรือเล่นเพลงจากสมาร์ทโฟน ช่วงหลังที่พูดถึงแอมป์และลำโพงอาจพอมีประโยชน์กับคุณ
ขอบอกก่อนว่า ทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์และการหาข้อมูลด้วยตัวเอง สนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน แอบถามคนขาย อ่านฟังตามหนังสือหรือสื่อออนไลน์ ไม่ได้ส่วนได้เสียกับร้านหรือเพจใด ๆ เป็นเพียงการบอกเล่าเสนอแนะให้ข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว สุดท้ายก็คงเป็นตัวท่านที่จะต้องชั่งตวงวัดด้วยนเอง
เมื่อเริ่มต้นหาเครื่องเสียงแบบแยกชิ้น คุณก็กำลังเริ่มย่างเท้าเข้าวงการ HI-FI แล้วครับ ยินดีด้วย HiFi นั้นมาจาก High Fidelity นั้นแปลตรงตัวว่า การรับส่งคลื่นเสียงที่ชัด หรือคนในวงการจะใช้คำว่า ใกล้เคียงดนตรีจริง และก่อนจะไปต่อผมคงต้องบอกไว้ว่า จริง ๆ เครื่องคอมโบที่เป็นไฮเอ็นด์ราคาสูงก็มีอยู่ ซึ่งคุณภาพมันก็คงดีไปตามราคา และบางคนก็อาจจะชอบ ก็สุดแล้วแต่
และผู้รู้หลายท่านก็แนะนำให้มือใหม่เริ่มต้นจากของใหม่ เพราะปัญหาจุกจิกกวนใจจะน้อยกว่า ผมถือว่าบอกแล้วนะ
ส่วนตัวผมนั้นไม่ใช่ว่าไม่เชื่อท่าน แต่เนื่องจากอัฐเราน้อยนิด อีกทั้งตัวผมเองนั้นมีรสนิยมชมชอบทางของโบราณของวินเทจอยู่ก่อนแล้ว ผมจึงพุ่งเป้าไปที่เครื่องวินเทจ แต่ราคาของเครื่องมือสองแบบวินเทจนั้นขึ้นอยู่กับ ความนิยม ความหายาก สภาพ เพราะฉะนั้นเราอาจเปรียบเทียบราคาได้ยากต่างจากของใหม่ เอาเป็นว่าเราจะยึดถือแนวคิดนี้ไว้เป็นไอเดียคร่าว ๆ ก็แล้วกัน
เบื้องต้นมีสองเรื่องที่ผู้เริ่มเล่นต้องแน่ชัด
1. แน่นอน สำคัญที่สุดคืองบประมาณ
2. สำคัญเหมือนกันคือ รสนิยม คุณชอบของใหม่แกะกล่อง หรือ ชอบของมือสองที่แม้จะตกรุ่น แต่ราคาถูกลงมาเกือบครึ่งในบางจังหวะ หรือชอบของวินเทจ ที่อาจจะมีทั้งของผ่านการใช้งาน หรือนิวโอลด์สต็อก (เอาเข้าจริงไม่ค่อยได้พบเห็นเท่าไหร่นัก) เครื่องเก่านั้นต้องมีการบำรุงรักษาตามอายุ และบางทีราคาก็ไม่ได้ถูกกว่าของใหม่สักเท่าไหร่
ถ้าคุณชอบของใหม่และงบไม่มากนัก คงต้องลองไปที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพกพาที่มีภาคขยายเสียง พร้อมลำโพงในตัว ซึ่งมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่สองพันบาท (คล้าย ๆ เครื่อง Teac MC- D800-CH ที่กล่าวถึงตอนต้น เพียงแต่ตัดเครื่องเล่นซีดีออก ตัวเครื่องจะเล็กกว่า) หากมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หัวเข็มของเครื่องเล่นราคาถูกแบบนี้แข็งมากซึ่งจะขูดแผ่นเสียงให้เสียหายได้
ดังนั้นถ้าคุณอยากถนอมแผ่นสุดรัก เอาน่า เดี๋ยวก็มี คุณอาจจะต้องขยับงบขึ้นไปที่เรท 7000 ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ในตลาดให้เลือกดู จากการหาข้อมูล ผมพบว่าเครืองเล่นในเรนจ์ราคานี้มีโอกาสที่จะเสียในเวลาไม่นาน ซึ่งบางคนเจอบางคนไม่เจอ แล้วแต่ดวง
ส่วนตัวผมนั้นขอข้ามรุ่นแท่นเล็กไป เพราะเหตุผลว่าตัวแท่นของเครื่องนั้นมีขนาดเล็กกว่าแผ่นเสียง 12” ผมสังเกตุเห็นว่า แผ่นมันหมุนได้ไม่นิ่ง
พอขยับขึ้นไปที่เรทหมื่นกลาง ก็จะมีบางรุ่นที่ใหญ่เท่าเครื่องเล่นขนาดมาตรฐาน ดีไซน์สวยงาม และมีภาคขยายพร้อมลำโพงเล็ก ๆ มาให้คู่นึงพร้อมสรรพ ซึ่งถ้าคุณคิดว่ามันเหมาะกับคุณก็ลุยได้เลย
แต่หากยังไม่เลือก เราก็ก้าวบนถนนสายนี้ไปด้วยกันต่อ
เมื่อจะเล่นเครื่องเสียงแบบแยกชิ้น เราจะเริ่มด้วยการเอางบประมาณทั้งหมดมาเฉือนแบ่งเป็นสี่ส่วน ประกอบด้วย 1. เครื่องเล่นต้นทาง หรือ source (หมายรวมถึง CD player หรือ DAC สตีมมิง แต่ในกรณีนี้เราจะเจาะจงไปที่เครืองเล่นแผ่นเสียง) 2. แอมป์ 3. ลำโพง และ 4. ส่วนย่อย ๆ ก็จะมี สายสัญญาณ และหม้อแปลงต่าง ๆ ส่วนนี้แม้จะดูเป็นส่วนประกอบแต่ก็ควรให้ความสำคัญเหมือนกัน
ตรงนี้ผมอยากให้ฟังคำแนะนำของผู้รู้ที่ว่า “เราควรเลือกแต่ละอย่างให้ระดับราคาใกล้เคียงกัน อย่าไปให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ระดับของเครื่องทั้งหมดไม่ไปด้วยกัน และไม่สามารถรีดเร้นศักยภาพของเครื่องออกมาได้เต็มที่”
เมื่อแบ่งงบเสร็จแล้ว เราก็เริ่มมาดูกันทีละชิ้น
นักเล่นจำนวนมากบอกไว้ว่าให้เริ่มเลือกจากลำโพงเป็นหลัก เพราะเสียงที่ได้ยินนั้นจะมาจากลำโพงเป็นหลัก หลังจากนั้นก็ค่อยไปหาแอมป์ที่แมชกับมันมาขับ (drive) ซึ่งจะว่าไป ก็น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งใครอยากจัดหาลำโพงก่อน จะข้ามไปอ่านตอนสองเลยก็ได้ ผมจะพูดถึงเทิร์นเทเบิลซึ้งเป็นต้นทาง และไล่ไปตามขั้น
แต่ บางทีคุณก็อาจจะต้องเล่นนอกกรอบไปบ้าง คืองี้ ถ้าคุณไปเลือกลำโพงไว้ก่อน ค่อยมาหาแอมป์ทีหลัง ถ้าลำโพงคู่ที่คุณไปเลือกมันเป็นลำโพงที่ต้องการกำลังขับที่สูงสักหน่อย มันก็อาจจะทำให้คุณเหลือตัวเลือกสำหรับแอมป์ไม่มากนัก และสุดท้ายคุณอาจจะไม่ได้แอมป์ที่ชอบ ถ้าคุณอยากจะใช้งานเร็ว ๆ
อีกอย่าง ถ้าคุณคิดอยากจะลอง (ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง) การยกลำโพงไปลองกับแอมป์ที่ร้าน มันอาจเป็นเรื่องยุ่งยากกว่าการยกแอมป์ไป จะบอกว่าขนาดผมและเพื่อนมีแอมป์ก่อน เรายังไม่ยกไปลองเลย แต่บอกเลยว่า นี่เป็นวิธีที่ผิด! กรุณาอย่าทำตาม!
ตรงนี้ก่อนจะเล่าเรื่องขอท้าวความสักเล็กน้อย ตัวผมนั้นเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ผมมีอุปกรณ์ในการบันทึกเสียงอยู่แล้วคือ audio interfacec และ ลำโพงมอนิเตอร์แบบมีแอมป์ในตัว นอกจากนี้ผมยังมีชุดโฮมเธียเตอร์บ้าน ๆ อยู่ชุดนึง ผมจึงอยากลองใช้ของที่มีอยู่มาใช้ร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปก่อนเพื่อความประหยัด
ผมจึงจะเรื่มต้นที่ต้นทางก่อนปลายทาง
ซึ่งถ้าคุณมีอุปกรณ์อยู่บ้างแล้วและอยากจะใช้มันเหมือนกัน คุณควรรู้ว่าสัญญาณที่ออกจากเครื่องเล่นแผนเสียงนั้นต่ำมาก คุณจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Pre Phono เพื่อยกสัญญาณให้พอเหมาะก่อนที่จะเข้าไปยังภาคปรีแอมป์ (pre-amplifier)
เครื่องเทิร์นเทเบิลของใหม่ยี่ห้อเป็นที่รู้จักสักหน่อยราคาจะเริ่มต้นอยู่ที่เจ็ดพันกว่าบาท แต่มีหลายท่านแนะนำให้เริ่มตั้งงบสัก 15000 จะได้ของค่อนข้างมีคุณภาพ
แต่ถ้าคุณสรุปแนวทางได้ว่าไปสายเครื่องเก่าวินเทจเหมือนผม เราก็จะลองไปเยี่ยมชมตามตลาดตามหน้าร้าน ซึ่งในยุคปัจจุบันก็ไม่พ้นในเว็บไซต์ตามเพจตามกลุ่มออนไลน์ ซึ่งก็มีขายกันอยู่มากมายพอให้ได้เลือกสรรเชียวล่ะ ส่วนตัวผมนั้นโชคดีที่มีเพื่อนกรุยทางไว้ให้บ้างแล้ว จึงไม่ต้องงมเข็มมากนัก
เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบวินเทจ ส่วนใหญ่ในตลาดบ้านเราจะนำเข้ามาจากญี่ปุ่น สนนราคานั้นเริ่มต้นที่ของญี่ปุ่นสองพันกว่าบาทไปจนถึงแบรนด์ยุโรปหลักหมื่นหลักแสน
มีเรื่องต้องพิจารณากันหลาย ๆ จุดทีเดียวสำหรับเครื่องเก่า หนึ่ง ถ้าทำได้ควรไปดูของกับตากับหูตัวเอง ทดสอบว่ามันสามารถทำงานได้ดีครบถ้วนทุกฟังก์ชั่น ข้อสำคัญ ให้มองข้ามของที่เขาแจ้งไว้แล้วว่าเสียนิดเดียว ซ่อมง่าย ทำที่ไหนก็ได้ เพราะจริง ๆ แล้วมันอาจไม่เป็นอย่างนั้น และของที่เสียหนึ่งจุดเล็ก ๆ นั้นมันมีโอกาสที่จะลามไปจุดอื่นได้ โอกาสมากน้อยแค่ไหนก็คงจะตอบยาก แต่เราก็ควรเสี่ยงให้น้อย เสี่ยงเท่าที่จำเป็น
ผมอยากให้เลือกร้านเลือกคนขายสักนิด โกดังบางที่อาจขายราคาถูกแต่จะไม่มีหัวเข็มมาให้ (เรื่องหัวเข็มก็เป็นอีกเรื่องที่คงต้องแยกพูดไปอีกได้ยาว ๆ) และเขาจะทดสอบให้เพียงว่า เครื่องนั้นทำงาน แผ่นหมุน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าผู้เล่นมือใหม่ไม่เหมาะกับร้านแบบนี้ อยากให้ลองดูร้านที่เขาคัดของมาแล้ว ผ่านการเซอร์วิสเรียบร้อย เราจ่ายเพิ่มอีกสักหน่อย แต่สบายใจและได้ของพร้อมใช้ อย่างน้อยก็ในเบื้องแรก
ผมขอแนะนำร้านมือสองวินเทจบนเฟซบุ๊กไว้สักหน่อยร้านเหล่านี้มีทั้งที่ผมได้คุยเอง และเพื่อนแนะนำ ผมพบว่าเค้าต่างให้คำตอบที่ดีเป็นมิตรน่าเชื่อถือ
- บ้านเครื่องเสียงมือสอง - ผมซื้อหม้อแปลงไฟจากร้านนี้
- สุชิน เครื่องเสียงมือสอง - ร้่านที่ผมเกือบจะซื้อเทิร์นเทเบิล
- ซ่อม-เครื่องเล่นแผ่นเสียง Turntable เครื่องเสียง vintage - เจ้านี้เพื่อนผมเคยซื้อของเขามาสองครั้ง เขามีการนำตัวแท่นเครื่องเทิร์นเทเบิลเก่ามาดัดแปลงใส่กับแท่นใหม่ และรับสั่งทำตามแบบที่ต้องการได้ด้วย มีหลายราคาตามแต่วัสดุและตัวเครื่อง
- Mozart Audio ร้านนี้ผมไม่ได้ติดต่อด้วยแต่เขามีชื่อเสียงในวงการมายาวนาน ร้านนี้ขายของระดับไฮเอ็นด์ ราคาสูง แตได้ของคุณภาพ สภาพสวย
แผ่นเริ่มหมุน
เราจะลองมาเจาะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงจากญี่ปุ่น ซึ่งมีมากมายหลายแบรนด์ Technics, Aurex, Pioneer, Denon, Sony, Victor, Marantz, onkyo, Trio, Kenwood, Teac, Micro Seik, Duo ฯลฯ ส่วนฝั่งยุโรปหรืออเมริกาก็จะมีอีกหลายแบรนด์ด้วยกัน เช่น Garrard, Elac, Thorens แต่จะพบเห็นในตลาดมือสองได้น้อยกว่า
ผมขอเล่าถึงเทิร์นเทเบิลยี่ห้อ Technics (เป็นแบรนด์ในเครือ Panasonic) รุ่น SL-1200 ซึ่งเป็นรุ่นดังของแบรนด์นี้ SL-1200เป็นรุ่นที่ใช้กันแทบทุกสถานีในงานบรอดแคสยุค 70's แต่รุ่นที่นักเล่นเทิร์นเทเบิลสะสมกันคือ รุ่น SL-1200 MKII จุดที่ต่างกันก็มีเพียงเรื่องของก้านปรับสปีด รุ่น MKII นั้นจะรูดขึ้นลงได้ซึ่งจะเป็นที่นิยมของ DJ

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ใช่ดีเจ ก็ลองหารุ่น SL-1200 ธรรมดา ก็จะได้คุณภาพระดับเดียวกัน ในราคาที่ถูกกว่ากันหลายพันบาท
ผมเกือบตกลงใจจัด SL-1200 แล้วแต่ดันไปติดที่เรื่องระบบไฟของเครื่องที่ใช้ไฟ 100 v แบบญี่ปุ่น ด้วยหน้านึงในหนังสือ Vinyl Junkie ที่ผมซื้อไว้ศึกษาก่อนจะเริ่มเล่นนานแล้วเขียนไว้ว่า ควรจะหาเครื่องที่ใช้ไฟ 220 (ระบบไฟบ้านเรา) จะดีต่อเครื่องในระยะยาวมากกว่า
ผมเกิดความลังเล
เรื่องของไฟฟ้าเป็นเรื่องที่นักเล่นต้องคำนึงถึงในการเล่นเครื่องเสียง ระบบไฟมีผลกับอุปกรณ์ด้านเสียงมาก อย่างแรก เครื่องมือสองจากญี่ปุ่น เพราะบ้านเขาไฟฟ้าเป็นชนิด 100v ส่วนไฟบ้านเรานั้นเป็น 220v (คนขายเครื่องเสียงบางคนบอก 220 กว่า ๆ ด้วยซ้ำ) เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นมาใช้ เราก็ต้องทำการแปลงไฟให้เหมาะสม ซึ่งก็ทำได้สองวิธีการด้วยกัน
หนึ่ง วิธีนี้ง่ายหน่อย คือการใช้หม้อแปลงไฟ ก็แค่เอาหม้อแปลงเสียบเข้ากับเต้ารับในบ้าน แล้วเราปลั๊กของอุปกรณ์เสียบต่อเข้าที่หม้อแปลง แต่หม้อแปลงสำหรับเครื่องเสียงนั้นก็ควรจะหาเลือกที่มีคุณภาพดี หม้อแปลงนี้ก็มีตั้งแต่ราคาคาหลักร้อยถึงหลายพันบาท
สอง ดัดแปลงเปลี่ยนหม้อแปลงไฟฟ้าภายในเครื่องให้เป็นแบบ 220v ซึ่งต้องทำโดยช่างผู้ชำนาญการเท่านั้น บางเครื่องก็ทำได้ง่าย บางเครื่องก็ทำยากหรือทำไม่ได้
ผมขอเล่าถึงเรื่องนี้สักนิด ด้วยข้อมูลที่ไปอ่านพบมาจากเหล่านักเล่นนั้นมีจุดที่ขัดแย้งกันอยู่บางประการ
ข้อมูลจากคนขายเครื่องเสียงผู้น่าเชื่อถือในวงการ เขาว่า “จากการทดสอบ เครื่องที่ใช้ไฟ 220v ตรงกับระบบไฟบ้านเราจะให้เสียงที่ดีกว่าเครื่องที่ต่อผ่านหม้อแปลง แม้จะเป็นหม้อแปลงที่มีคุณภาพ” ผู้รู้ท่านนั้นยังเสริมอีกว่า “แต่ถ้าเป็นเครื่อง 100v ใช้กับประเทศที่ที่ใช้ไฟชนิดนี้ก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าไฟ 220v ที่ต้องแปลง” พูดง่ายๆ ก็คือเลือกที่ใช้ตรงกับไฟของที่นั้นๆ แหละ
ผมถามต่อว่า “ถ้าเป็นเครื่องที่นำมาโมดิฟายเปลี่ยนหม้อแปลงล่ะ” ท่านก็บอกว่า “ถ้าใช้หม้อแปลงคุณภาพดีก็จะได้ผลที่ดีกว่าหม้อแปลงด้านนอก”
แต่... นักเล่นเครืองเสียงกลุ่มหนึ่งกลับบอกว่า ถ้าเราหาเครื่องแปลงไฟเกรดเดียวกับที่ใช้โรงพยาบาล (Hospital Grade) นั้นทำให้ได้กระแสที่นิ่ง และทำให้ได้เสียงที่ดีกว่านักเล่นท่านนั้นถึงกับสั่งทำจากโรงงานเป็นพิเศษ เพื่อจะใช้เครื่อง 100v ทั้งระบบ
ถึงตรงนี้ก็เอาเป็นว่าเราก็เพียงรับรู้ข้อมูลไว้ ถึงเวลาก็ชั่งตวงวัดเอาเอง ว่าจะเชื่อข้อมูลฝั่งไหนหรือตัดสินใจอย่างไร (ส่วนตัวผมตอนนี้ค่อนข้างเชื่อด้านใช้ไฟให้เหมาะสมกับสถานที่)
ต่อมาที่ควรรู้ก็คือประเภทของเครื่อง ตรงนี้ผมจะขอพูดถึงแค่สองแบบที่พบเห็นเยอะในท้องตลาด หนึ่ง สายพาน (Belt Drive) ซึ่งเป็นแบบที่ยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน และว่ากันว่าให้เสียงที่ดีกว่านิ่งเงียบกว่าแบบ direct drive (ขับตรง) ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้น เขาเคลมว่าจะได้รอบที่เที่ยงตรงกว่า เพราะไม่ต้องอิงกับความเสื่อมของสายพาน แต่แบบ Direct Drive จะมีข้อเสียเรื่องแรงสั่นสะเทือน และความยากในการบำรุงรักษา เรียกว่าถ้ามอเตอร์เสียขึ้นมา หาอะไหล่มาเปลี่ยนไม่ได้ก็คือจบข่าว
ส่วนอีกสองเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจสักเล็กน้อยก็คือ เรื่องระบบการยกของโทนอาร์ม (ก้านที่ติดหัวเข็ม
- แบบแมนนวล แบบนี้เราจะต้องยกโทนอาร์มมาวางบนแผ่นเอง พอตอนเล่นจบหน้าก็ต้องยกโทนอาร์มไปเก็บเอง (แผ่นเสียงจะมีสองหน้าเหมือนเทปคาสเซ็ต ถ้าเแผ่นเต็มจะมีหน้าละ 4-5 เพลงขึ้นอยู่กับความยาวของเพลง) ถ้าเราไม่ยกขึ้น เข็มก็จะขูดแผ่นไปเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เสื่อมเร็ว
- แบบฟุลออโต คือเครื่องทำให้เองหมด เพียงกดปุ่ม ก้านจะยกตัวมันมาเล่นแผ่นเองและเก็บตัวมันเองเมื่อเพลง
- แบบกึ่งออโต ที่พอเล่นจบแผ่น ก้าน (Tone Arm) จะยกตัวมันเองไปเก็บเอง

ถ้าเป็นนักเล่นแบบโปรกับเครื่องไฮเอ็นด์ คำตอบหนึ่งเดียวคือแบบ All Mannual เท่านั้น
ต่อมาเรื่องหัวเข็ม ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อเสียงมาก หัวเข็มมีหลายเกรดราคา เริ่มตั้งแต่ไม่กี่ร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ผมยังไม่มีความรู้เรื่องนี้นักจึงยังไม่ขอลงรายละเอียดมากนัก สิ่งที่ควรรู้ก็มีว่า หัวเข็มเป็นสิ่งที่เสื่อมได้ มีอายุการใช้งานอยู่ราว ๆ 1000 ชั่วโมง (ชั่วโมงที่มันลากไปตามร่องเสียง)
หัวเข็มแบ่งเป็นสองชนิด MM และ MC ส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นแบบ MM ที่เรียกกันว่าแบบแม่เหล็ก ส่วน MC ให้เสียงที่สดใสกว่า แต่ก็ให้สัญญาณต่ำกว่ามาก ต้องึ่งพาระบบปรีโฟโน ที่เหมาะสม ตามที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว
ชนิดของหัวเข็มนั้นเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับเครื่องขยายเสียงอีกทีจึงจะขอยกไปพูดต่อในส่วนของแอมพลิฟายเออร์ต่อ
ส่วนเครื่องที่ผมใช้ เป็นยี่ห้อ Yamaha SP700 ระบบไฟ 100v เครืองระบบสายพานกึ่งออโต (ยกโทนอาร์มเก็บเอง) หัวเข็มแบบ MM แต่ผมต้องหาหม้อแปลงไฟเอาเอง ผมจึงสั่งหม้อแปลงแบบขดแยกมา (คนทำว่าเป็นเกรดดีที่สุด หายาก)
เพิ่งจบเรื่องเทิร์นเทเบิล ถอนหายใจเฮือกใหญ่ ตอนนี้เราจะเริ่มยิงสัญญาณออกไปที่แอมป์แล้ว
ซึ่งจะขอยกไว้ต่อหน้า B คลิกที่นี่
STORY AND PHOTO BY เพียงธุลี