HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
The LoFi Rider ผจญภัยไปกับคลื่นความถี่เสียง - หน้า B
by เพียงธุลี
6 มี.ค. 2565, 14:53
  765 views

หน้า B

         ด่านแรกที่สัญญาณจาก Turn table จะต้องเจอ คือ ภาค Pre Phono ไม่ว่าจะเป็นแบบบรรจุในเครื่องหรือแยกชิ้น แอมพลิฟายเออร์มาตรฐานส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นนี้มาให้ เพราะเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับนักเล่นไฮไฟ แต่อย่างเครื่องโฮมเธียเตอร์แบบสามัญของผมมันไม่มีให้ ผมก็จำต้องไปหาตัวปรีโฟโนนี้มาใช้งาน

         ผมเริ่มต้นกับปรีโฟโนไทยทำตามคำแนะนำของคนขายเครื่องเสียงเจ้าหนึ่ง เมื่อลองต่อเข้ากับชุดโฮมเธียเตอร์และลำโพงแบบแอคทีฟที่มีอยู่ มันมีเสียงออกมาแล้ว!! ผมตื่นเต้น

         แต่...

         คุณภาพเสียงนั้นห่างไกลกับคำว่าสมบูรณ์ไพเราะ จริงอยู่ว่าโดยหลักการแล้วทุกอย่างนั้นหมือนกัน แต่ในเมื่อการเดินทางของสัญญาณเสียงมันต่างกัน บุคลิกเสียงนั้นจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง

ปุ่มปรับช่องสัญญาณเข้าของแอมป์ สังเกตุที่ช่อง Phono

        ตอนแรกผมเดาเอาเองว่า ไม่น่าจะเป็นเพราะปรีโฟโน อาจเป็นเพราะซิสเต็มที่มีมันไม่แมชกัน ก่อนจะมารู้ทีหลังเมื่อตอนที่ลงขายไปแล้วคนที่ซื้อไปนั้นช่วยบอกเอาบุญให้ว่า แม้วงจรภายในของปรีโฟโนตัวนี้จะใช้ของดีมีคุณภาพ แต่เสียงมันกลับทึบ ให้รายละเอียดไม่ดี

        ข้อมูลเชิงเทคนิคตรงนี้ผมขอยังไม่อธิบายขยายความ เพราะจะทำให้ผู้เริ่มเล่นมึนงงเสียมากกว่า จึงขอบอกไว้แต่เพียงว่า เป็นอีกประสบการณ์ที่ยืนยันกับสิ่งที่รู้อีกครั้งว่า สำหรับเครื่องเสียงแล้ว การออกแบบวงจรและเลืือกใช้วัตถุดิบให้เข้ากันนั้นสำคัญที่สุด แต่จะว่าไปแล้ว ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับทุกเรื่องนะ

        ตอนนั้น ถ้าผมพยายามดึงดันไปต่อ ทำให้ใช้กับชุดเก่าให้ได้ ผมก็จะต้องหาปรีแอมป์มาพ่วงอีกก่อนจะเข้าภาคขยายในลำโพง ผลที่ได้อาจจะดี หรือไม่ดีก็ได้

        แต่ผมกลัวว่าอาจเสียอัฐซ้ำซ้อนแล้วก็ยังไม่ได้เสียงที่ดีเสียที อย่ากระนั้นเลย หาแอมป์จริง ๆ มาใช้ดีกว่า

        เราจึงน่าจะมาคุยกันเรื่อง amplifier สักเล็กน้อยก่อนเข้าเรื่อง

       Amplifier หรือภาคขยายเสียงนั้นมีสองส่วนด้วยกัน ที่เราพูดถึงไว้แล้วเล็กน้อยก่อนหน้า  คือมีภาค Pre – amp  ซึ่งคือภาคขยายสัญญาณให้เต็มและมีความดังที่เหมาะสมพอที่จะไปขยายในภาค Power Amp ซึ่งภาคพาวเวอร์นี้จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณอย่างเดียว ปรับแต่งอะไรไม่ได้ สัญญาณที่ออกจากพาวเวอร์แอมป์ คือพลังงานที่จะไปขับเคลื่อนแม่เหล็กในลำโพงนั่นเอง

        ผู้ผลิตเครื่องเสียงนั้นได้มีการควบรวม โฟโน ปรีแอมป์และพาวเวอร์แอมป์มารวมไว้ในเครื่องเดียวกันนานแล้วในชื่อเรียกว่า Intigrated Amp  ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเล่นระดับเริ่มต้นถึงกลาง ถ้าคุณอยากลดความปวดหัวและจ่ายน้อยลงสักหน่อย ผมแนะนำให้เลือกแบบอินติเกรตนี้ไปก่อน ต่อไป ถ้าคุณจะเล่นแบบลึก ๆ  ก็ค่อยขยับไปเล่นแบบแยกชิ้น  (โฟโน / ปรี / พาวเวอร์)

        Amplifier แบ่งง่าย ๆ ตามการทำงานเป็นสามชนิด คือ 1. แบบใช้หลอดสุญญากาศ (Tube, Vacuum) ที่อาจเฉื่อยและให้กำลังขับน้อยกว่า 2. แบบ solid state และ 3. Hybrid หรือแบบผสม

         แต่จริง ๆ แล้วมีการแบ่งตามการทำงานอีกถ้าคุณจะเคยได้ยิน class A, AB, D แต่อีกเช่นเคย ผมขอละเว้นข้อมูลลึก ๆ ตรงนี้ไว้ก่อน

         ในปัจจุบัน อินติเกรตแอมป์ของใหม่ในท้องตลาดมีมีหลายแบรนด์ เริ่มต้นที่ราคาหนึ่งหมื่นต้น ซึ่งล้วนเป็นของมีคุณภาพ ไทยเราเองก็มีผลิตอยู่หลายแบรนด์ทั้งใหญ่เล็ก ส่วนมากนั้นจะเป็นแอมป์แบบหลอด ทั้งยังรวมถึงกลุ่มดีไอวายต่าง ๆ มีแบบชุดคิทที่สั่งมาประกอบเอง ถ้าคุณมีฝีมือเชิงช่างอิเล็คทรอนิคส์อยู่บ้างก็นับว่าเป็นทางเลือกหรือเป็นงานอดิเรกที่น่าสนใจทีเดียว

        แต่หากคุณจะเลือกไปสายแบรนด์ ไม่ว่าจะวินเทจหรือร่วมสมัย แบรนด์ที่พบเห็นก็จะคล้าย ๆ กับแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั่นแหละ แต่ละแบรนด์ก็จะมีหลายรุ่นหลายราคา กลุ่มที่ราคาย่อมเยาว์ลงมาหน่อยก็จะมี Aurex (พันกว่าถึงสองพันต้น) แต่ที่มีชื่อเสียงหน่อย เป็นที่นิยม และราคาก็จะขยับขึ้นมาอีกก็จะมีแบรนด์ Sansui, Pioneer, Philips, Marantz, Luxman, Mcintosh ซึ่งหลายแบรนด์ที่เอ่ยมานั้นยังคงผลิตเครื่องเสียงอยู่จนถึงปัจจุบัน

        การเลือกแอมป์ มีข้อควรคำนึงอยู่สามสี่ข้อ

  1.  พื้นที่ห้อง เพราะมันจะสัมพันธ์กับขนาดของลำโพง ซึ่งจะมาสัมพันธ์กับขนาดของแอมป์อีกที ถ้าพื้นที่ห้องของคุณกว้าง คุณก็อาจจะต้องการลำโพงที่มีขนาดใหญ่ กินกำลังวัตต์สูงหน่อย เพื่อที่จะเติมย่านเสียงให้เต็มห้อง แต่ก็อีกนั่นแหละ มันก็จะ...
  2.   ขึ้นอยู่กับสไตล์การฟังและแนวเพลงที่คุณฟัง บางทีลำโพงบุคเชลฟ์ (วางหิ้ง) ขนาดเล็กหรือกลาง ๆ ที่ผลิตมาดีถ้าติดตั้งได้อย่างถูกต้องก็สามารถให้เสียงเบสตอบสนองได้มากพอแล้ว
  3.  ช่องต่อสัญญาณต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก็คือ ช่อง Phono in และถ้าจะมีช่อง aux in สำหรับเครื่องรับวิทยุ หรือเครืองเล่นชนิดอื่นด้วยก็ยิ่งดี ช่องต่อหูฟัง ต่อลำโพงอีกคู่ในกรณีที่คุณมีลำโพงมากกว่าหนึ่งคู่ หลัก ๆ ก็เท่านี้ แต่ถ้าหยุมหยิมขึ้นก็จะมีช่องต่อปรีเอาต์ สำหรับการอัพเกรดพาวเวอร์แอมป์ หรือต่อซับวูฟเฟอร์
  4.  บุคลิกของเสียง ข้อนี้จริง ๆ แล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นอาจยังไม่ต้องคำนึงถึงมากนัก แต่ถ้าเราพอรู้จักรสนิยมของตัวเองว่าเราชอบเสียงแบบไหน เราก็จะตีวงการเลือกให้แคบลงได้ (ในกรณีที่คุณไม่ได้อยู่ในที่ ๆ มีชุดเครืองเสียงให้เลือกลองฟังมากนัก) เครื่องเสียงแบรนด์ชั้นนำทั้งหลายนั้นให้คุณภาพเสียงที่เที่ยงตรงได้มาตรฐานอยู่แล้ว หากแต่ละแบรนด์นั้นมันก็จะมีบุคลิกเสียงที่แตกต่างกันไปบ้างตามแต่อุปกรณ์ที่ใช้และการแนวคิดการออกแบบ ในเรตราคาปานกลาง สุ้มเสียงนั้นไม่ได้ต่างกันมากเสียจนผู้เริ่มต้นจะสังเกตุได้ชัดหรอก
  5.  ข้อนี้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำหรับหลายคน แต่มันอาจเป็นส่วนที่ทำให้คนตัดสินใจเลือก คือรูปร่างหน้าตา อันนี้ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะแต่ละคนก็คงชอบไม่เหมือนกัน
ดอกวูฟเฟอร์เสียงกลางและเสียงต่ำ

         เมื่อคุณสำรวจงบ และลองตอบคำถามเหล่านั้นได้ครบ คุณก็น่าจะพอกรองตัวเลือกได้แล้วล่ะ อ้อ ผมมีข้อแนะนำอีกนิด คุณอาจลองมองหาเครื่องรับวิทยุที่มีแอมป์ขยายในตัว ที่เรียกว่า Reciever แต่เป็นคนละอย่างกับรีซีฟเวอร์ของระบบโฮมเธียเตอร์นะ อย่าลืมดูให้ดีก่อนว่ามีช่อง Phono ด้วยล่ะ ผมพบว่า เครื่องรับวิทยุแบบที่มีภาคขยายในตัวบางรุ่นนั้นราคาจะย่อมเยากว่าอินติเกรตแอมป์โดยเฉพาะ

         ได้เครื่องเล่น มีภาคขยาย ตอนนี้เราพร้อมจะทำการส่งออกสัญญาณไปยังลำโพงแล้ว

        สำหรับผม ลำโพงเป็นอะไรที่เลือกได้ยากที่สุด ใช้เวลาเลือกนานที่สุด แต่เอาเข้าจริง แนวทางการเลือกลำโพงก็มีข้อควรคำนึงคล้าย ๆ  กับแอมป์

  1.  พื้นที่ห้อง
  2. สไตล์การฟัง
  3. ผมจะเปลี่ยนข้อสามเรื่องฟังก์ชั่น เป็นเรื่องชนิดของลำโพงแทน  ลำโพงยุคแรก ๆ  จะเป็นแบบ Horn อันมีเสียงแผดดัง (ที่เป็นทองเหลืองหน้าตาเหมือนดอกไม้บาน)  และค่อย ๆ พัฒนามาเป็น Full range คือมีลำโพงดอกใหญ่ดอกเดียวใหญ่ถ่ายทอดเสียงทุกย่านความถี่ ทั้งทุ้ม กลาง แหลม ต่อมาก็พัฒนามาเป็นสองทาง คือเพิ่มลำโพง Tweeter เพื่อไว้ขับเสียงแหลมโดยเฉพาะ และต่อมาเป็นสามทาง เพิ่มลำโพงเสียงกลาง หรือกลางแหลมเข้ามาอีก ก็จะทำให้มีการแยกแยะรายละเอียดได้ดีขึ้น ลำโพงที่ออกแบบดีก็จะมีการผสานรอยต่อระหว่างความถี่ของลำโพงแต่ละย่านเสียงที่เรียกว่า Crossover ได้เรียบเนียน แต่การจะฟังออกถึงความละเอียดระดับนี้ ก็คงต้องใช้เวลาฝึกฝนและสังเกตุกันหลายปีทีเดียวล่ะ

         ถ้าจะแบ่งชนิดของลำโพงตามขนาด เราแบ่งคร่าว ๆ ได้สองแบบ

  •       หนึ่ง ขนาดตัวไม่ใหญ่นักที่เรียกว่า ลำโพง วางหิ้ง (book Shelf) จริง ๆ นักเล่นเครื่องเสียงเค้าก็ไม่ได้วางบนหิ้งหรอก เค้านิยมใช้ขาตั้งกัน
  •       สอง ลำโพงขนาดสูงใหญ่ที่เรียกว่า แบบ tower หรือตั้งพื้น ซึ่งแบบนี้ก็มักจะมีจำนวนดอกลำโพงมากกว่า แน่นอนว่า ด้วยขนาดและจำนวน ลำโพงแบบทาวเวอร์นี้ก็จะให้เสียงย่านต่ำที่ลึกมากกว่าแบบตั้งหิ้ง  และกลายเป็นว่า ลำโพงตั้งพื้นนั้นให้เสียงดังย่านเสียงออกครบได้ง่ายกว่าลำโพงเล็ก ๆ

         กูรูบางท่านบอกว่า ถ้าไม่ติดเรื่องพื้นที่ก็ให้ใช้แบบตั้งพื้น

         เพราะฉะนั้นก็ลองกลับไปดูข้อ 1 และข้อ 2 อีกที

        ถ้าห้องคุณมีพื้นที่พอ และคุณไปเจอตัวตั้งพื้นที่ราคาเหมาะสม มันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ลำโพงสองทางแบบวินเทจ

         เรื่องสเป็คของลำโพงก็จะมี ย่านความถี่ (หน่วยเป็นเฮิร์ซ) และความไว (หน่วยวัดเป็นเดซิเบล db) ตัวเลขยิ่งสูง ความไวก็เยอะตาม ถ้าลำโพงนั้นมีความไวสูง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แอมป์ที่มี กำลังวัตต์มาก

        แต่ความไวหรือความดังนั้น มันคนละเรื่องกับ เสียงดี หรือไม่ดี นะ

        จริง ๆ มันมีเรื่องของแม่เหล็ก วัสดุที่ใช้ทำกรวย ตู้ปิดตู้เปิด การเชื่อมต่ออีก แต่ขอเว้นไว้ก่อนอีกตามเคย

       ส่วนข้อสี่และห้าก็ตามเดิม

         อย่างที่บอกตอนต้นว่า ผมเลือกลำโพงอยู่นาน แรกสุด ผมไปชอบเสียงของลำโพงยุโรปยี่ห้อ ITT เข้า เป็นลำโพงวินเทจขนาดกลาง ๆ เป็นชนิดสองทาง (ก็คือมีวูฟเฟอร์หนึ่งและทวีตเตอร์หนึ่ง) แต่เพลง ป่านฉะนี้ เวอร์ชั่นอรวี สัจจานนท์ ซึ่งขับจากแอมป์ Luxman นั้นหวานฉ่ำถูกหูมาก

ดอกเสียงแหลม Tweeter

       แต่สุดท้ายที่ผมไม่เลือกก็คงเป็นคุณภาพการผลิตแบบโฮมเมดในสมัยยุค 50-60 ที่ดูไม่ค่อยเนี้ยบ และสองมันอาจไม่ค่อยเหมาะกับเพลงร็อคที่ผมชอบฟังสักเท่าไหร่

         มีคำบอกเล่าบอกว่า ถ้าเราฟังเพลงเก่า ๆ เราก็ควรเลือกลำโพงและอุปกรณ์ให้เป็นของยุคนั้น มันจะได้เสียงและบรรยากาศตรงยุค แต่ถ้าฟังเพลงใหม่ก็เลือกใช้ลำโพงสมัยใหม่ ผมเห็นด้วยเป็นบางส่วน

         จริงอยู่ว่า ลำโพงยุคไหนก็ผลิตมาเพื่อรองรับเสียงของยุคนั้น แต่ผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีใครฟังเพลงของยุคสมัยเดียว แม้จะค้นพบอย่างน่าฉงนว่า นักเล่นเครืองเสียงส่วนใหญ่ถ้าไม่ฟังแต่เพลงเก่า ก็จะฟังแต่เพลงลูกกรุงจีนนักร้องหญิง จนถึงกับมีคำพูดแซวว่า เป็นเแนวเพลงของนักเล่นเครื่องเสียง แต่ก็ไม่จริงหรอก เพราะนักเล่นอีกมากที่ชอบฟังเพลงกหลากหลาย

        ในเมื่อตัวผมเองนั้นฟังเพลงทุกแนว ผมก็เลยคิดว่าไม่ควรเอายุคสมัยของเพลงเป็นปัจจัยเดียวมากำหนดเลือกอุปกรณ์ และผมรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องการแบบบุ๊คเชลฟ์จึงเลือกดูเฉพาะตรงนั้น ร้านที่ผมไปมีสองคู่ให้เลือก คือ B&W 600 ที่เป็นแบรนด์อังกฤษ แม้ B&W จะชื่อชั้นดีกว่า แพงกว่า เสียงหนากว่า อิ่ม มีมวล เบสมากกว่า แต่สุดท้ายผมก็เลือกลำโพงสามทางวินเทจยุค 80's จากญี่ปุ่นยี่ห้อ Sansui

      ไม่รู้สินะ ก็แค่ถูกหูน่ะ

      ลำโพงของใหม่ ๆ นั้นราคาเพียงหนึ่งหมื่นต้น เราก็ได้ฟังเสียงที่ดีแล้ว แต่ถ้าดูมือสอง ผมอยากให้ตั้งงบไว้สัก 6-7,000 รับรองว่ามีของดีให้เลือก พอสมควร

       ตอนนี้เราได้สามชิ้นหลักครบแล้ว แต่ส่วนที่สำคัญและคนมักจะมองข้ามก็คือ

       การเซ็ตอัพ สายสัญญาณและสายไฟฟ้าไปจนถึงปลั๊กเต้ารับ

        ท่านผู้รู้บอกมาว่า สายสัญญาณและระบบไฟมีผลกับเสียงมาก มีคำแนะนำว่า ให้คำนวณค่าเครื่องทั้งระบบ และตั้งค่าสายไฟสายสัญญาณไว้ที่ 35% สมมติว่าคุณซื้อเครื่องเสียงทั้งหมด 10,000 บาท ราคาของสายที่พอเหมาะก็จะอยู่ที่ประมาณ​ 3500 บาทบวกลบ

       กับความเชื่อคลาสสิคที่ว่า ของแพงก็จะต้องดีกว่า นั้นย่อมมีส่วนจริง แต่ถ้าเราให้ความละเอียดกับการเซ็ตอัพ ซิสเต็มระดับเริ่มต้นไปจนถึงกลาง ๆ ก็อาจจะได้คุณภาพเสียงที่ดีได้ หากการเซ็ตอัพนั้นต้องทำโดยผู้ที่เข้าใจเรืองอคูสติกห้องและอุปกรณ์ ซึ่งต้องคำนึงถึง ขนาดกว้างยาวสูงของห้อง วัสดุ เสียงสะท้อนในห้อง ตำแหน่งการวางเครื่อง ระยะห่างของลำโพง ที่มีรายละเอียดหยุมหยิมมากมายที่พอจะแยกยกไปพูดต่อโดยเฉพาะได้อีกเรื่องเลย

        นอกจากสายแล้ว สำหรับแผ่นเสียง สิ่งที่คุณควรต้องจัดหาเพิ่มอีกหน่อยก็จะมีพวก clamp เพื่อทับแผ่น, ที่ทำความสะอาดแผ่น, ชุดล้างหัวเข็ม, adapter สำหรับเล่นแผ่นขนาด 7”

หม้อแปลงไฟDIY จาก 220V เป็น 100V

      อ้อ แล้วอย่าลืมเผื่องบไว้สำหรับซื้อแผ่นเสียงด้วยล่ะ

        อาจารย์วิจิตร บุญชู ผู้รู้ด้านเครืองเสียงท่านหนึ่งที่ผมติดตามอยู่ ท่านพูดไว้อย่างน่าคิดว่า เครื่องทุกระดับราคามีความน่าเล่นในตัวมันเอง ให้เราอยู่กับมันนาน ๆ  หัดฟังแบบสังเกตุรายละเอียด และค่อย ๆ ขยับเปลี่ยนอัพเกรดทีละจุด แล้วดูว่าสิ่งที่เราเปลี่ยนนั้นให้ผลไปในทางไหนอย่างไร

      ท่านบอกว่า สิ่งสำคัญคือการอัพเกรดนั้นต้องให้รายละเอียดเสียงที่มากขึ้น

       และไม่ควรลืมว่า เราซื้อเครื่องมาเพื่อใช้ฟังเพลงไม่ใช่ฟังเครื่อง เราควรมีความสุขกับการฟัง ถ้าเราฟังอย่างใส่ใจและเห็นในรายละเอียด เราก็จะรู้เองว่าเราควรจะไปต่ออย่างไร หรือเราอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็ได้ถ้าเราพอใจแล้ว

       อย่างเช่นที่ผมเห็นคนโพสต์วิดีโอเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพกพาราคาประหยัดที่กำลังเล่นแผ่นลูกกรุงไทยยุค 50 's ประกอบแคปชั่น

       รู้แหละว่าเสียงไม่ได้ดีอะไร แต่เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

        ส่วนตัวผมมองว่าแผ่นเสียงนั้นเป็น source ที่มีราคาสูงที่สุด มีรายละเอียดที่สุด (ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียง) อย่างน้อยเราก็ควรจะมีซิสเต็มที่พอจะถ่ายทอดรายละเอียดที่มันให้ออกมาได้ครบถ้วน แต่ก็นั่นแหละ นักเล่นหลายคนก็พอใจเพียงแต่ได้นั่งมองแผ่นดำหมุน

       สุดท้าย ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการฟังเพลง ไม่ว่ากับเครื่องเล่นแบบใดก็ตาม

กลับไปเล่นหน้า A คลิกที่นี่

STORY AND PHOTO BY  เพียงธุลี

ABOUT THE AUTHOR
เพียงธุลี

เพียงธุลี

ALL POSTS