HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
10 amazing มรดกโลกแก่งกระจาน ของ "สายป่า"
by ปริญญา ผดุงถิ่น
13 ส.ค. 2564, 13:52
  2,647 views

       กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) เพิ่งได้รับอนุมัติให้ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งผลงานการอนุรักษ์ธรรมชาติอันน่าภาคภูมิใจ

        อย่างไรก็ตาม คนเมืองกรุง ชาวบ้านทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ก็อาจไม่รู้เลย จริงๆแล้ว ป่าแก่งกระจานมีดีตรงไหน? มีเอกลักษณ์โดดเด่นอะไรบ้าง?

        ผู้เขียนในฐานะ “สายป่า” ที่เป็น FC ของป่าแก่งกระจานมายาวนานเกือบ 25 ปี อาสารวบรวมมาให้ดูกัน

1.เมืองหลวงนก

        อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นป่ารอยต่อของป่าภาคเหนือ ป่าภาคใต้ ป่าต่ำ ป่าภูเขา ป่าโปร่ง ป่าดิบ ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของชนิดนกมาเป็นอันดับ 1 มีรายงานการพบนกแล้วถึง 545 ชนิด หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของนกทั้งหมดที่พบในประเทศไทยเลยทีเดียว

นกแว่นสีเทา
นกแว่นสีเทา PHOTO BY PARINYA PADUNTIN 

2.เมืองหลวงเสือดาว

         ไม่ต้องเป็นถึงช่างภาพสัตว์ป่ามากประสบการณ์ แค่เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป ก็มีสิทธิ์ได้เจอเสือดาว (รวมถึงเสือดำ) แห่งแก่งกระจานกันได้ทุกคน ตามถนนที่พาดผ่านป่า จนกล่าวได้ว่าแก่งกระจาน เป็นป่าที่มีภาพถ่ายเสือดาวแพร่หลายมากที่สุด

ที่น่าทึ่งกว่านั้น แก่งกระจานสำรวจพบสัตว์ตระกูลแมวของไทยถึง 7 จากที่มีทั้งหมด 9 ชนิด นอกจากเสือดาว (รวมเสือดำ ที่เป็นชนิดเดียวกัน) แล้ว ก็มีเสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือไฟ เสือปลา แมวลายหินอ่อน และแมวดาว จึงครองแชมป์ความหลากหลายของสัตว์ตระกูลแมวไปอีก 1 ตำแหน่ง

PHOTO BY  EIT ISARAPONG 

3.เมืองหลวงผีเสื้อ

         ช่วงต้นฤดูฝนแห่งแก่งกระจาน เป็นเวลาของผีเสื้อ ออกมาอวดสีสันกันจนลานตา สำรวจพบแล้วประมาณ 300 ชนิด คว้ามงฯ ด้านความหลากหลาย เช่นเดียวกับนก และพวกเสือ-แมว

         และท่ามกลางความสวยงาม “นับร้อยนับพัน” นั้น ยังมีของหายากแทรกตัวอยู่ด้วย ชื่อว่า “ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว” ดีกรีความหายากถึงขนาดได้ขึ้นบัญชีเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” เลยทีเดียว แม้จะมีศักดิ์เป็นแค่แมลง

ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว PHOTO BY เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์

4.จระเข้แห่งต้นน้ำเพชร

        เมื่อต้นปี 2564 นี้เอง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แพร่ภาพล่าสุดของสัตว์ที่ลึกลับหายาก มากถึงมากที่สุด อย่างจระเข้สยาม หรือจระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile) ที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่าย ในป่าต้นน้ำเพชรอันห่างไกล

         สถานภาพระดับโลกของจระเข้สยาม คือ  Critically Endangered (ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต) ทั้งนี้ จระเข้ที่มีมากมากมายมหาศาลตามฟาร์มจระเข้ จะไม่ถูกนับรวมไว้ในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากจระเข้ฟาร์มเหล่านั้น มีสายเลือดที่ปนเปื้อน จนไม่เหลือสายพันธุ์แท้แล้ว

จระเข้สยาม แก่งกระจาน
จระเข้สยามจากเพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

5.ซาฟารีเมืองไทย

         อุทยานฯ กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานด้วย มีชื่อเสียงโด่งดังด้านกิจกรรมดูสัตว์ใหญ่มาเป็นอันดับ 1 จนได้รับการเรียกขานว่า “ซาฟารีเมืองไทย”

         การดูแลพื้นที่ที่ดี บวกกับการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้กิจกรรมชมช้างป่ากุยบุรี แทบจะเป็น “ของตาย” รับประกันความผิดหวังกันเลยทีเดียว ว่าไปถึงที่นั่นได้เจอช้างชัวร์ ไม่มีอุทยานที่ไหนๆ ทำได้ขนาดนี้

         มากกว่านั้น ยังมีฝูงกระทิงนับร้อยที่มักพาเหรดจากแนวป่าทึบ ออกมาหากินกลางทุ่งหญ้าในตอนเย็น เป็นภาพชีวิตสัตว์ป่าที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมากกว่าการดูช้างเสียอีก

จากเพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
โขลงช้างป่าจากเพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

6.อึ่งอ่างเทพแห่งตะนาวศรี

         ใช่จะเด่นดังแต่ด้านสัตว์ใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจานยังเป็นบ้านของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อัน “ซุกซนน่าค้นหา” ปัจจุบันพวกมันสลัดภาพ “สัตว์ยี้” ทิ้งได้สำเร็จ มี FC ติดตามมากมาย

         ณ ที่นี้ ยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก “เฉพาะถิ่น” ชื่อว่า “อึ่งกรายตาขาวตะนาวศรี” ถิ่นอาศัยของน้อง เป็นป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา เฉพาะในกลุ่มป่าแก่งกระจานที่เดียวเท่านั้น ทั้งนี้ อาจพบตามเทือกเขาตะนาวศรีในฝั่งประเทศเมียนมาด้วย ยังรอให้มีการสำรวจต่อไป

อึ่งกรายตาขาวตะนาวศรี
อึ่งกรายตาขาวตะนาวศรี PHOTO BY ปริญญา ภวังคะนันทน์

7.ปลาถิ่นเดียวแห่งพงไพร

        ตามลำธารน้ำไหลของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีปลา “เฉพาะถิ่น” ของระบบลุ่มน้ำแม่กลอง (หรือแปลว่าไม่ต้องหาปลาชนิดนี้จากที่อื่นใด) มันคือ “ปลาจาดแถบดำ”

         รูปร่างหน้าตา ไม่ต้องบรรยาย ดูจากภาพประกอบได้เลย ปลาจาดแถบดำ อาศัยในลำธารขนาดใหญ่ รวมถึงแม่น้ำที่มีพื้นเป็นกรวดและทราย และมีน้ำไหลแรง หรือเป็นแก่ง กินแมลงขนาดเล็ก สัตว์หน้าดินเล็กๆ รวมถึงตะไคร่น้ำ

ปลา แก่งกระจาน โดย ปริญญา ภวังคะนันทน์
ปลาจาดแถบดำ PHOTO BY ปริญญา ภวังคะนันทน์

8.อุทยานฯใหญ่ที่สุดของไทย

        มีหลักการจำง่ายๆ “เขาใหญ่” คืออุทยานแห่งแรกของเมืองไทย ขณะที่ “แก่งกระจาน” คืออุทยานใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ตั้งอยู่แนวเทือกเขาตะนาวศรี ในจ.เพชรบุรี เนื้อที่กว่า 2,900 ตารางกิโลเมตร

        แต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้มีการรวมผืนป่าใกล้เคียงมาเป็นผืนเดียวกัน รวม 3 จังหวัด เรียกว่า กลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยทางเหนือ เป็นอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี ส่วนทางใต้ เป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

        ส่งผลให้กลุ่มป่าแก่งกระจานมีเนื้อที่รวมกว่า 4,000 ตารางกิโลเมตร และมีความยาวตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดกว่า 200 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ภาพจากเพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

9.ทะเลหมอกใกล้กรุงเทพฯที่สุด

        โดยทั่วไป แหล่งชมทะเลหมอกมักอยู่ตามดงดอยภาคเหนือหรือภาคอีสาน แต่ป่าแก่งกระจานได้ฉีกกฎเกณฑ์นี้จนหมดสิ้น โดยบนเขาพะเนินทุ่ง บริเวณกิโลเมตรที่ 30 และ 36 เป็นจุดชมทะเลหมอกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในฐานะ “ทะเลหมอกใกล้กรุงที่สุด”

        แค่เดินทาง 200 กว่ากิโลเมตรจากเมืองหลวง ใครก็สามารถมายืนสัมผัสอากาศเยือกเย็นบนเขาพะเนินทุ่งยามเช้า ทอดสายตาชมทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งปกคลุมป่าดงดิบ ท่ามกลางเสียงชะนี เสียงนกป่า ก้องไพร มากกว่านั้น ยังเป็นทะเลหมอกที่มาชมได้ทุกฤดูกาลอีกต่างหาก ไม่จำเป็นต้องหน้าหนาว

ภาพจากเพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

10.ทะเลสาบสวยซึ้ง“คิดถึงวิทยา”

        จริงๆ แล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนป่าแก่งกระจาน จะต้องได้เห็นวิวทะเลสาบแก่งกระจาน ก่อนจะได้เห็นผืนป่าเสียอีก เป็นผลจากการสร้าง “เขื่อนดิน” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย (ที่สุดอีกแล้ว!) ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

         กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเพชรบุรี เป็นแหล่งทำประมงน้ำจืด แหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้า

PHOTO COURTESY OF  GDH

         ทะเลสาบแก่งกระจาน อันมีวิวเทือกเขาเรียงรายเป็นฉากหลัง ได้กลายเป็นโลเกชั่นถ่ายทำภาพยนตร์โรแมนติกอย่าง “คิดถึงวิทยา” (2557) อันสวยงามตราตรึงใจผู้ชม ทั้งทิวทัศน์ บรรยากาศ และเรื่องราวความรักความคิดถึงของครูหนุ่มสาว บนโรงเรียนกลางน้ำ จนทำรายได้ไปกว่า 100 ล้านบาท


MAIN PHOTO BY  Eit Isarapong

SOTRY BY Parinya Padungtin

ABOUT THE AUTHOR
ปริญญา ผดุงถิ่น

ปริญญา ผดุงถิ่น

ช่างภาพสัตว์ป่า นักดูนก และผู้ก่อตั้ง Bangkok Whale Watching

ALL POSTS