ชวนอ่าน “ สาส์นสมเด็จ” ในวันนริศ
28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จครู – นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จารึกพระนามเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก
ยามปกติทุกปี ที่ “บ้านปลายเนิน” หรือวังคลองเตย จะมีงาน “วันนริศ” ที่นำความรื่นรมย์มาให้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานที่คณะครูและศิษย์ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงศิลปินแห่งชาติจะได้กลับมารวมตัวฝึกซ้อมดนตรี โขน ละครรำ พบปะสังสรรค์ ส่วนนักเรียนทุนนริศก็เตรียมคัดเลือกผลงานศิลปะไทยแขนงต่าง ๆ รวมถึงภาพวาดมาจัดแสดง ฝ่ายอาหารนอกจากข้าวแช่และข้าวเหนียวมะม่วงที่ขึ้นชื่อ ยังต้องคิดหาของอร่อยมาประชันฝีมือกัน ตั้งแต่อาหารเลี้ยงคณะละคร เครื่องเสวยเจ้านาย ไปจนถึงของว่างที่จำหน่ายเพื่อหารายได้สมทบทุนการศึกษาศิลปะ แล้วก็พูดคุยกันว่าปีนี้ละครจะแสดงเรื่องอะไร ตอนไหน มีใครมารำบ้าง เครื่องละครชุดใหม่จะสวยงามสักเพียงไหน
ในวันงาน สวนสวยข้างตำหนักไทยกลายเป็นเวทีธรรมชาติ กรุงอโยธยา กรุงลงกา หรือว่ากุเรปันตามแต่ท้องเรื่อง เสียงสรวลเสเฮฮาคลอด้วยเพลงเขมรไทรโยค ระหว่างรอละครลงโรง นอกจากรับประทานของว่างยังมีร้านหนังสือเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยพระนิพนธ์อันทรงคุณค่ากับของที่ระลึกน่าสะสม และเป็นโอกาสดีที่จะขึ้นไปชมศิลปวัตถุบนพระตำหนักไทย ทั้งงานศิลปะอันเปรียบเสมือน “ครู” ของสมเด็จฯ และผลงานฝีพระหัตถ์ แบบแปลน ภาพร่าง ภาพวาดต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของไทย เช่นโบสถ์วัดเบญจมบพิตร วัดราชาธิวาส ฯลฯ
แต่สองปีแล้ว ที่ไม่มีงานวันนริศ และไม่ได้เปิดพระตำหนักซึ่งเพิ่งบูรณะใหม่ให้ชม เนื่องจากพิษโควิด-19 สิ่งที่พอจะทดแทนได้ในขณะกักตัว คือหนังสืออิเลคโทรนิคส์ชุด “สาส์นสมเด็จ” ที่เผยแพร่ผ่านห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณรวมลายพระหัตถ์โต้ตอบในเชิงสันทนาการของสมเด็จครูกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกเช่นกัน
เมื่อปราชญ์สองพระองค์ทรงส่งจดหมายถึงกัน เรื่องราวในนั้นย่อมน่าสนใจ ทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์ และข้อวินิจฉัยต่าง ๆ ตลอดจนข่าวคราวของผู้คนที่ทรงรู้จัก เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2457 จนกระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2486 จัดพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศิลปากร และมีรวมเล่มอีกหลายครั้ง แต่ชุดสมบูรณ์ที่สุด รวมลายพระหัตถ์ช่วงปีพ.ศ. 2475 คือชุดที่อยู่ในห้องสมุดดิจิตัลนี้ อ่านแล้วจะรู้สึกเหมือนได้เฝ้าสมเด็จครูที่วังคลองเตยจริง ๆ ด้วยลายพระหัตถ์ส่วนใหญ่ขึ้นต้นว่า “ตำหนักปลายเนิน คลองเตย...”
อ่าน สาส์นสมเด็จ ได้ที่. วชิรญาณ คลิกที่นี่
ขอขอบคุณรูปภาพจาก FB. บ้านปลายเนิน Ban Plainern