ฮินะมัตสึริ...วันเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นในความทรงจำ
ต้นฤดูใบไม้ผลิของทุกปี เมื่อท้องฟ้าใสดอกไม้สวยงาม ที่ญี่ปุ่นมีเทศกาลน่ารักงานหนึ่ง ชื่อว่า ฮินะมัตสึริ เป็นเทศกาลวันเด็กผู้หญิง ที่จะเฉลิมฉลองการเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ของเด็กหญิงในวันที่ 3 มีนาคม แต่ละบ้านจะประดับตุ๊กตาฮินะ และรับประทานอาหารพิเศษด้วยกัน
ตุ๊กตาฮินะ หรือฮินะนิงเงียว เป็นตุ๊กตางานฝีมือแต่งตัวแบบราชสำนักโบราณ จัดวางบนชั้น สูงสุดคือตุ๊กตาเจ้าชายโอไดริซามะและเจ้าหญิงโอฮินะซามะ พร้อมด้วยตุ๊กตาอิ่น ๆ และเครื่องตกแต่งสวยงาม
อาหารที่จัดในเทศกาลฮินะ มัตสึริ ก็มีความหมายพิเศษ อย่างเช่นฮิชิโมจิ ขนมโมจิสี่เหลี่ยมสีเขียว ขาว ชมพู รับประทานเพื่ออธิษฐานให้สุขภาพแข็งแรงอายุยืน ฮินะ อาราเระ ขนมกลมรสหวาน ขอให้มีความสุขตลอดปี ซุปหอยตลับ สัญลักษณ์ของชีวิตคู่ที่มีความสุข ชิราชิซูชิ เพื่อเป็นสิริมงคล เครื่องดื่มเป็นสาเกขาวสำหรับเด็กไม่มีแอลกอฮอล์

อาหารชุดพิเศษเพื่อร่วมฉลองเทศกาลวันเด็กผู้หญิงของประเทศญี่ปุ่น ที่โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ
งานฮินะมัตสึริจะจัดทุกปีจนกว่าลูกสาวจะอายุครบ 10 ขวบ แต่ถึงจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พิธีที่สวยงามนี้จะเป็นความทรงจำที่อบอุ่นในหัวใจเสมอ อย่างที่คุณคิมิโกะ สตรีญี่ปุ่นวัย 80 ปีเล่าให้เราฟังว่า...
“ฉันเกิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่ของฉันเล่าว่า ตอนนั้น ครอบครัวยังอยู่ที่เมืองโมริ ตอนในของเกาะฮอกไกโดเมืองโมริ ก็เหมือนเมืองชนบท ในสมัยนั้นไม่ใช่หัวเมืองเจริญอย่าง ฮาโกดาเตะ ที่อยู่ทางใต้ของเกาะ ตอนอยู่ที่โมริ พ่อรับซื้อของทะเลสด มาแปรรูปขาย ที่บ้านมีฐานะปานกลาง เราเกิดที่นั่นตอนปลายเดือน 11 พอข้ามปีใหม่ สมัยนั้น ถือว่า อายุครบ 1 ขวบ พ่อเราก็ไปหาซื้อ ตุ๊กตาฮินะ โดยขึ้นรถบรรทุกสินค้ามาลงที่เมืองฮาโกดาเตะ ที่มีห้างสรรพสินค้า และซื้อได้แค่ชั้นวาง พรมสีแดง และตุ๊กตาชั้นยอดบนสุด 2 ตัว คือ ตุ๊กตาเจ้าชายและเจ้าหญิง เพราะตอนนั้น ราคาแพงมาก ปีแรกเลยได้จัดชั้นเดียวไปก่อน”
“ปีถัดไป พ่อก็ค่อยๆซื้อ ตุ๊กตาชั้นอื่นๆ ทีละชั้นเพิ่มขึ้น เพราะสงครามเกิดของยิ่งหายาก แต่สุดท้ายก็หามาได้จนครบ 7 ชั้น มีตุ๊กตาแบบต่างๆ จนครบตามธรรมเนียม”
“ตอนที่ฉันรู้ความ ฉันจำได้ว่า พอใกล้วันที่ 3 เดือน 3 แม่เราจะเอากล่องใส่ตุ๊กตาและของประดับออกมาจากห้องเก็บของ ให้ฉันช่วยรื้อห่อตุ๊กตาและของแต่ละชิ้นส่งให้แม่ จำความรู้สึกได้ ว่า ตอนแกะห่อออก มีแต่ของสวยงาม ตุ๊กตาแต่งเครื่องแต่งกายแบบโบราณ ประทับใจมาก จำภาพที่แม่เอาแท่นไม้มาวางเป็นชั้นๆ ปูผ้าสีแดงเป็นเหมือนพรมสีสด นำตุ๊กตามาค่อยๆ บรรจงวาง ทีละตัวๆ ตอนนั้น ฉันตื่นเต้นดีใจมาก เพราะจะได้เห็นและสัมผัสของสวยงามเช่นนั้นเพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น และแม่จะบรรจงเก็บของแต่ละชิ้นลงกล่องเข้าห้องเก็บของเมื่อผ่านวันเด็กผู้หญิงไปครบสัปดาห์ รอปีต่อไปค่อยรื้อออกมาจัดใหม่”
“วันเด็กผู้หญิง ฉันจำได้ว่า แม่จะวางขนมของไหว้ ไว้ที่ชั้นล่างสุด มีขนมแป้งไส้ถั่วแดง ขนมข้าวพองเคลือบน้ำตาลสีต่างๆสวยๆ และหุงข้าวใส่เครื่องเคราต่างๆ ที่เรียกว่า ชิราชิซูชิ และที่บ้านก็ได้ทานเลี้ยงกันสนุกสนาน”
“ช่วงปีหลังสงคราม พ่อยังพอมีพอกินไม่ลำบากมาก ถึงวันเด็กผู้หญิงที ก็มักชวนเด็กๆแถวบ้าน มาร่วมงาน และเลี้ยงขนมกับอาหารด้วย”
“พอฉันโตขึ้น ขนาดอายุสิบกว่าปลายๆ ก่อนที่ฉันจะไปเรียนสาขาวิชาชีพต่อที่โตเกียว บ้านเราก็ยังจัดชั้นตุ๊กตาฮินะ และทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมมาตลอด แต่เสียดาย ช่วงที่ฉันอยู่โตเกียว บ้านพ่อเราเกิดไฟไหม้ กล่องเก็บตุ๊กตาไฟไหม้หมด และหลังจากนั้น เนื่องจากที่บ้านไม่มีเด็กๆ และฉันก็อยู่โตเกียว ที่บ้านจึงไม่ได้ซื้อตุ๊กตาฮินะมาใหม่”
“ด้วยโชคชะตาทำให้ฉันมาเจอสามีคนไทยที่มาเรียนที่ญี่ปุ่น และรักกัน พอเรียนจบ พวกเราจึงขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย ทำพิธีจดทะเบียนสมรสที่สถานอัครราชทูตไทยที่เมืองโตเกียว และย้ายมาใช้ชีวิตกับสามีที่ประเทศไทย มีลูกแต่ก็ไม่ได้จัดพิธีฮินะมัตสุริอีกเลย ถึงจะไม่มีโอกาส แต่เมื่อนึกถึงสมัยเด็กทีไร ยังจำความสุขสมัยวันเด็กผู้หญิงได้ดีเสมอ”
ขอบคุณ คุณ Hasegawa Kimiko
ข้อมูลอ้างอิง https://www.jnto.or.th/newsletter/hina-matsuri/