Youth digital literacy: ดีแทคลุยเสริมพลังครู-นักเรียนรับมือโลกดิจิทัล
หลังจากริเริ่มโครงการ Safe Internet มากว่า 4 ปี ดีแทค ไม่หยุดขยายโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนให้ท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ ล่าสุด ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ออกแบบห้องเรียนเด็กและห้องเรียนครู เสริมทักษะชีวิตดิจิทัลผ่านหลากหลายวิชาที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
แม้ว่า ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนไทยก็เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ และไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มากับคอนเทนต์มากมาย จนตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์และกำลังกลายเป็นปัญหาของสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจและสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ สิ่งที่เยาวชนไทยต้องเผชิญ คือ โอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ดังนั้น ดีแทคจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะทางดิจิทัล (digital upskilling) เพื่อให้เยาวชนฝึกสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาทักษะพร้อมรับกับการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อโอกาสทางอาชีพ ขณะเดียวกัน ก็มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลการสำรวจของดีแทค พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของโรงเรียนไทยยังไม่ได้บรรจุทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy เข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ในขณะที่ร้อยละ 50 ของครูในประเทศไทยยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อการสอนแบบ e-Learning มากที่สุด รวมไปถึงปัญหาการออกแบบและพัฒนาคอร์สออนไลน์ และการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในภูมิทัศน์การเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ครูมีความหนักใจกับปัญหาการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่นักเรียนเมื่อเผชิญกับภัยเสี่ยงออนไลน์ โดยเฉพาะเช่น ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกกลั่นแกล้ง จะไม่ปรึกษาพ่อ-แม่ หรือ ครู แต่จะเลือกปรึกษาเพื่อน
ด้วยเหตุนี้ ดีแทค และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงการศึกษาและภาคสังคม จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่จำเป็นในชีวิตดิจิทัล 2 หลักสูตร คือ ห้องเรียนเด็กล้ำ และห้องเรียนครูล้ำ
ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อให้เกิดการบูรณาการ เพราะสื่อที่ดีไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่า หรือสื่อใหม่ ก็ไม่สามารถสร้างได้โดยลำพัง ฉะนั้น กองทุนพัฒนาสื่อฯ จึงต้องการจัดสรรทุนส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ และสามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริง รวมถึงนำไปพัฒนาชุมชนได้ด้วย
ที่ผ่านมา ดีแทค ได้ดำเนินโครงการ Safe Internet มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เปิดเว็บไซต์ SafeInternetForKid.com เพื่อให้ครู และผู้ปกครองสามารถใช้สอนบุตรหลานให้เข้าใจการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย จัดอบรมครูและนักเรียนจาก 400 โรงเรียนทั่วประเทศ และ เปิดค่ายแกนนำเยาวชนอินเทอร์เน็ต (dtac Young Safe Internet Leader Camp Version (YSLC) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สอง และเปลี่ยนรูปแบบสู่ “ค่ายออนไลน์” เป็นครั้งแรกของไทย เพื่อเป็นโอกาสให้แก่เยาวชนทั่วประเทศไทย สามารถเข้าถึงการเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ผ่านบทเรียนและกระบวนการบ่มเพาะออนไลน์
นายมาร์คุส เชื่อมั่นว่า การดำเนินโครงการต่างๆ จะช่วยสร้างพลังให้เยาวชนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ
ห้องเรียนเด็กล้ำ
หลักสูตรที่มุ่งเติมทักษัเฉพาะด้านให้แก่เด็กและเยาวชน ประกอบด้วย วิชาเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ (Diversity Respect to Stop Cyberbullying) โดย พ.ญ. เบญจพร ตันนสูติ, วิชาแยกแยะองค์ประกอบของข่าวปลอม (Anatomy of Fake News) โดยพีรพล อนุตรโสตถิ์ - ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ MCOT, วิชาป้องกันความเป็นส่วนตัวเพื่อรับมือกับการล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ (Data Privacy & Sexual Abuse) โดย ดร. ศรีดา ตันทะอธิพาณิช และ พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู, วิชาออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมส์ โดย Bluspel ผู้ผลิตบอร์ดเกม The Trust, วิชาความรู้พื้นฐาน Artificial Intelligence โดย TK Gear Walker, วิชาสร้างสรรค์ออนไลน์คอนเทนต์ โดยนภพัฒน์จักร อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร WorkpointToday, วิชาแสดงผลด้วยภาพ (Data Visualization) โดย Punch Up และ วิชาสร้างแชตบอท โดยชิตพงษ์ กิตตินราดร จาก Change Fusion.
ห้องเรียนครูล้ำ
หลักสูตรเพื่อสนับสนุนครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนในเรื่องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม โดยในเบื้องต้น หลักสูตรจะประกอบด้วยเนื้อหา 4 วิชา ได้แก่ วิชาบูรณาการสื่อออนไลน์เพื่อการสอนในศตวรรษที่ 21 Getupteacher ผู้พัฒนาหลักสูตรพัฒนาครูออนไลน์, วิชาความหลากหลายทางเพศเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ โดย Plan International, วิชาการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ โดย Inskru สตาร์ทอัพด้านการศึกษา และ การใช้สื่อศึกษาอย่างสร้างสรรค์ โดยสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย