National Lipstick Day Part I: ลิปสติกมาจากไหน?
ว่ากันเรื่องประวัติความเป็นมาของลิปสติก ในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ถือกันว่าเป็นวันลิปสติกสากล
จากวัน “ลิปสติกแห่งชาติ” หรือ National Lipstick Day ที่เหล่าบล็อกเกอร์ และบรรณาธิการความงามภาคพื้นสหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นกันอย่างไม่เป็นทางการ บัดนี้ วันที่ 29 กรกฎาคมก็ได้กลายเป็นวันลิปสติกสากลเพื่อยกย่องผลิตภัณฑ์เมคอัพซึ่งมีความเก่าแก่ที่สุด เป็นที่รักมากที่สุด และทรงอำนาจที่สุดในการพลิกโฉมเปลี่ยนบุคลิกในการบริหารเสน่ห์ของผู้หญิงทุกคน
ว่าแต่มีใครจำได้บ้างว่าลิปสติกมาจากไหน?
อ้างอิงจากหนังสือ Read My Lips: A Cultural History of Lipstick เชื่อกันว่าธรรมเนียมการใช้สีแดงแต่งเติมความงามริมฝีปากเป็นที่ปฏิบัติกันมานานนับหลายพันปี จากบรรดาชาวสุเมเรียนในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย โดยมีข้อมูลอ้างอิงว่าราชินีชุบอัด (Schub-ad) ใช้ตะกั่วขาวกวนเป็นยางผสมหินแดงบดละเอียดสำหรับเติมสีสันประดับริมฝีปากของพระนาง
จากจุดนั้น ความนิยมในการใช้สีแดงแต่งริมฝีปากก็เป็นที่แพร่หลาย ไปว่าจะเป็นอาณาจักรอียิปต์โบราณ, กรีก และโรมัน สีแดงชาดบนริมฝีปากคงอยู่มาจนถึงยุคกลาง ผ่านยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของอิตาลี มีการพัฒนาด้านสูตรผสม และรูปแบบการใช้จนปัจจุบัน ลิปสติกคือผลิตภัณฑ์เมคอัพซึ่งรู้จักกันมากที่สุดของโลก
ลิปสติกอาจเริ่มต้นจากการใช้หินแดงบดละเอียดกวนกับตะกั่วขาว กระนั้น วิวัฒนาการตลอดหลายพันปีก็ได้เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างไปโดยสิ้นเชิงยกเว้นเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ...สีแดง...
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น มีความเป็นไปได้ว่าทั้งผู้หญิง และผู้ชายชาวสุเมเรียนต่างปรุงตำรับลิปสติกใช้เอง นั่นก็นานถึงห้าพันปีมาแล้ว ในกลุ่มชนชั้นสูง จะมีการนำรัตนชาติมาบดละเอียดเพื่อใช้เป็นสีสันแต่งเติมใบหน้า ซึ่งตำแหน่งสำคัญก็ย่อมเลี่ยงไม่พ้นริมฝีปากกับดวงตา ส่วนในอียิปต์ ว่ากันว่าพระนางคลีโอพัตราใช้แมลงปีกแข็งสีแดงสดเหมือนเลือด (ใช้เฉพาะส่วนปีก) มาบดละเอียด ทำเป็นสีแดงสำหรับทาปาก และผู้หญิงมากมายในกลุ่มอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (อินเดียโบราณ) นำแท่งดินเหลืองรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายตัดเฉียงมาใช้เป็นแท่งลิปสติกทาปาก
ในแง่ของวัตถุประสงค์แฝง ชาวอียิปต์โบราณใช้ลิปสติกเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมนอกเหนือจากเรื่องความสวยงาม ซึ่งนั่นก็หาได้เกี่ยวอันใดกับเพศสภาพ จึงทำให้วัฒนธรรมนี้ง่ายต่อการสืบทอด และมีการพัฒนาเผยแพร่ไปทั่วทวีปยุโรปในกาลต่อมา อย่างจักรวรรดิกรีก และโรมัน ลิปสติกคือสิ่งที่เหล่านักแสดงมหรสพชื่อก้องต้อง-มี อย่างไรก็ตาม หลังจากคริสต์ศาสนาถือกำเนิด และก้าวขึ้นไปสู่การเป็นศาสนาหลักของทวีปยุโรป ลิปสติกได้กลายเป็นอดีตที่แทบจะถูกลืมสืบเนื่องจากศาสนจักรแคธอลิกประณามการใช้เครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิปสติกแดง ในฐานะวัตถุอันมีความเกี่ยวข้องกับซาตาน
จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 ลิปสติกเหมือนได้เกิดใหม่ ระหว่างยุคปฏิวัติวงการแฟชั่นอันมีสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 1 เป็นผู้นำ (สิ่งที่น่าสังเกต ณ จุดนี้ก็คือ องค์ราชินีได้ให้รัฐสภาพออกพระราชบัญญัติสูงสุดเพื่อแสดงให้เห็นว่าคริสต์ศาสนานิกาย Church of England ซึ่งกษัตริย์เฮนรีที่ 1 พระราชบิดาของพระนางได้ก่อตั้งขึ้นนั้น เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อศาสนจักรวาติกัน อันหมายความว่าในหลายๆ กิจ หลายๆ พฤติกรรม ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับใดๆ จากสันตะปาปาอีกต่อไป)
ถ้าหลายคนได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth (1998) ที่เคท บลานเชทท์รับบทราชินีพรหมจรรย์ คงจำได้ดีถึงสไตล์การแต่งหน้าลงแป้งขาวโพลน และทาปากสีแดงสด ซึ่งกลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในยุคนั้น ก่อนสิ้นยุค และได้เปลี่ยนสถานะตกต่ำอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมคอัพสำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างอันรวมถึงโสเภณี และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องอยู่อีกหลายศตวรรษจนถึงสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ลิปสติกได้ก้าวกระโดดมาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ มีการผลิต และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ครองความนิยมอย่างยิ่งในวงการแฟชั่น สืบเนื่องจากความง่ายดายทางการผลิต ใช้ต้นทุนน้อย ถ่ายภาพขึ้นกล้อง และเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักแสดงหญิงแห่งวงการภาพยนตร์ ในที่สุด ลิปสติกก็กลายเป็นเมคอัพสามัญประจำกระเป๋าถือของผู้หญิงทุกชนชั้น ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ได้ปรากฏนวัตกรรมต่างๆ ทางการสร้างสรรค์ทั้งในแง่ของสูตรผลิตภัณฑ์ที่มอบเนื้อสัมผัสแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับงานออกแบบหลอดบรรจุสะดวกใช้ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดการขาย เหนืออื่นใดก็คือมีการนำเสนอเฉดสีใหม่ๆ ชวนตื่นตาตื่นใจอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ลิปสติกยุคแรกของจีนเมื่อกว่าหนึ่งพันปีที่แล้วถูกผลิตขึ้นจากการใช้ไขผึ้งสำหรับมอบคุณสมบัติในการปกป้องถนอมผิวริมฝีปากอันละเอียดอ่อน บอบบาง ระหว่างราชวงศ์ถัง (คริสตศักราชที่ 618-907) ก็มีการเติมน้ำมันหอมลงไปเพื่อให้ลิปสติกช่วยปรุงเสน่ห์เย้ายวนใจแก่ริมฝีปาก เกอิชาของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 17-19) ก็ใช้เบนิฮันนาหรือดอกคำฝอยมาทำเป็นชาดทาปากบรรจุกระปุก ลิปสติกยุคใหม่กลับมีรูปทรงเป็นแท่งสมชื่อ lip-stick หรือ “แท่ง-ทา-ปาก” โดยบรรจุไว้ในปลอกหมุนเลื่อนสะดวกใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเฉดสี, เนื้อสัมผัส, กลิ่น และประสิทธิภาพที่นอกเหนือจากการแต่งเติมความงาม ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติกันแดด, มอบความชุ่มชื่น หรือกันน้ำ ไม่ลอกเลอะ อีกทั้งยังก้าวมาสู่ความหลากหลายทางสูตรสัมผัสที่หาได้จำกัดวงอยู่แค่แท่งเมคอัพบรรจุปลอกอีกต่อไป – คล้ายกับย้อนคืนสู่รากฐานดั้งเดิม ลิปสติกกลับมาปรากฏในรูปแบบของเนื้อครีมบรรจุกระปุก หรือเนื้อลิควิดบรรจุหลอดพร้อมแกนฟองน้ำ หรือพู่กันสำหรับใช้แต่งเติม และแน่นอน นอกจากรูปแบบสูตรผลิตภัณฑ์ เรื่องของสีสันยังหาได้จำกัดวงอยู่แค่กลุ่มสีที่มีสีแดงเป็นแกนหลักเท่านั้น หากยังมีการนำเสนอความแปลกใหม่อย่างเช่นสีน้ำเงิน ไป
ด้านมืดของลิปสติก: หลักฐานทางประวัติศาสตร์ค่านิยม
ช่างขัดแย้งกับความสว่างสดใสของสีแดง สีมาตรฐานของลิปสติก หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ลิปสติกหาได้เป็นผลิตภัณฑ์ทวีความงดงามแก่ผู้หญิงทั่วโลก หากกลับกลายเป็นของต้นห้ามทางระบบสังคม หรือชนชั้น
อย่างในยุคกลาง บางสังคมจะดูแคลนผู้หญิงที่ใช้สีแดงทาปาก อย่างเช่นในศตวรรษที่หกของสเปน ลิปสติกคือเครื่องสำอางของโสเภณี ส่วนศตวรรษที่ 13 บรรดาบาทหลวง และเหล่าผู้เคร่งศาสนาหันมาวิจารณ์การใช้สีแดงทาปาก โดยกล่าวว่านี่เป็นกิจฝืนประสงค์ของพระเป็นเจ้า บ้างถึงกับอ้างว่าการใช้สีแดงทาปากเป็นวิถีของพวกบูชาซาตานที่ต้องการล่อลวงผู้ชายทั้งหลาย อันจะเห็นได้จากรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ออกประกาศเมื่อปีค.ศ. 1770 ห้ามทาปากสีแดงด้วยระบุว่าลิปสติกสีแดงคือกลลวงปิศาจในการหลอกล่อให้ผู้ชายแต่งงานด้วย ถึงแม้สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียจะทรงพิจารณาว่าการทาลิปสติกถือเป็นการไม่สุภาพ กระนั้น ซาราห์ เบิร์นฮาร์ดท์ นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศสก็ท้าทายสายตาสังคมอย่างก๋ากั่นด้วยการทา “ลิปรูจ” กลางที่สาธารณะ
กว่าห้าพันปีนับแต่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ ลิปสติกเป็นทั้งที่รัก และที่ชังในทุกสังคม และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากศตวรรษที่ 20 ลิปสติกคือเมคอัพมาตรฐาน – ผลิตภัณฑ์สามัญประจำกระเป๋าถือของผู้หญิงเกือบทุกคน
อ่าน PART 2: ลิปสติกแท่งแรกของโลก และสรุปประวัติศาสตร์ลิปสติก คลิกที่นี่