HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ขนมอร่อยซอย 103
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
5 พ.ย. 2562, 18:58
  2,433 views

จอรอ ซูยี ของอร่อยที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบนถนนเจริญกรุง

        ซอย 103 ที่ผมพูดถึงนี้หมายถึงซอยหนึ่งร้อยสามบนถนนเจริญกรุงนะครับ ไม่ใช่ถนนอื่น ๆ และที่นี่เป็นที่ตั้งของตลาดริมคลอง ชุมชนสวนหลวง 1 ซึ่งเป็นชุมชนที่น่าสนใจมาก ๆ แต่ก่อนจะพาไปชิมขนมอร่อย ๆ นั้น ผมขออนุญาตกล่าวถึงประวัติของชุมชนนนี้สั้น ๆ ก่อนนะครับ ทนหิวอดใจรอสักเล็กน้อยนะครับ....

        ชุมชนสวนหลวง 1 เป็นชุมชนโบราณที่พี่น้องไทยมุสลิมได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าเมื่อครั้งสงครามเก้าทัพที่ไทยรบกับพม่ารบกันถึงเก้าครั้ง ในการสงครามทัพที่ 1 นั้น พม่าได้ยกพลลงมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ของไทยตั้งแต่เมืองระนองเรื่อยลงไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีเสด็จนำทัพเรือไปตีพม่าที่นครศรีธรรมราช และในครั้งนั้นได้ทรงนำพี่น้องไทยมุสลิมจากหัวเมืองทางใต้ เช่น ปัตตานี กลับมายังกรุงเทพ ฯ ด้วย และพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนหนึ่งก็ได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณชุมชนสวนหลวง 1 ถนนเจริญกรุงซอย 103 ในปัจจุบันนั่นเอง

ถนนเจริญกรุงในสัมยรัชกาลที่ 5

        ต่อมาเมื่อถนนเจริญกรุงได้กลายมาเป็นย่านการค้าสำคัญ ชุมชนในย่านนี้จึงขยายใหญ่ขึ้นโดยมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีนเข้ามาอาศัยร่วมกันกับชาวไทยมุสลิมด้วยความสงบสุข โดยช่วยกันประกอบอาชีพทำสวนทำไร่และทำประมงเนื่องจากมีถิ่นฐานที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ชุมชนนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลหมากรากไม้และอาหารนานาชนิดนานาวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน

         ทุก วันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์แรกของทุกเดือน ชุมชนสวนหลวง 1 จะจัดให้มีการออกร้านโดยสมาชิกในชุมชนโดยเรียกว่า ตลาดฮาลาล โดยสมาชิกในชุมชนจะทำอาหารหรือขนมที่จัดว่าเป็นสูตรดีสูตรเด็ดของครอบครัวมาวางขายให้เราได้ไปเดินชิมเดินช้อปกันอย่างอิ่มอร่อยและสนุกสนานกว่า 200 เมนู และเป็นกิจกรรมเด็ดที่ผมกับคุณพ่อไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง และแล้วก็ถึงเวลาที่ผมจะขอพาไปลองทานขนมอร่อย ๆ กันเสียที และขนมที่ผมเลือกมาวันนี้จัดว่าเป็นของหายากหรือ Rare Item ว่าแล้วก็ตามผมมาเลยนะครับ

        เมื่อเดินเข้าซอย 103 ไปเรื่อย ๆ จนพบกับมัสยิดอัลอะติ๊กที่ตั้งเด่นเป็นประธานของชุมชน ตรงกันข้ามกับมัสยิดจะมีป้ายเล็ก ๆ ที่อ่านได้ชัด ๆ ว่า ขนมจอร้อหรือขนมกาบัร

        “คุณพ่อครับ.... อ๊ากกกก... แวะ แวะ แวะครับ แวะเลย ผมออกอาการดี๊ด๊าขึ้นมาทันที ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านเกี่ยวกับขนมชนิดนี้มาแล้ว และทำให้ผมอยากจะลองลิ้มรสจริง ๆ เสียที

        “รอนานหน่อยนะคะ... สัก 20 นาทีถึงจะเสร็จ คุณพี่ใจดีผู้ทำหน้าที่ปรุงขนมจอร้อบอกผมให้ใจเย็น ๆ

        “งั้นผมขออนุญาตเข้าไปดูวิธีการทำด้วยเลยได้ไหมครับ? ผมถาม

        “ได้เลย มา มา มา...” ว่าแล้วก็ชวนผมเดินเข้าไปถึงในครัวเพื่อชมวิธีการทำอย่างมีน้ำใจ

        ต้องใช้แป้งสาลีละเอียดมาผสมกับน้ำสะอาด เนย นม กะทิ จากนั้นโขลกใบเตยให้ละเอียดแล้วกรองเอาแต่น้ำออกมาผสม กวนให้เข้ากัน เติมรสหวานด้วยน้ำตาลตะโหนด ต้องคนให้ส่วนผสมละลายเป็นเนื้อเดียวกันและออกสีเขียวอ่อน แบบนี้เลยนะคะ ว่าแล้วผมก็เดินไปดูถังที่ใส่ส่วนผสมสีเขียวปาสเทลนั้นพร้อมกับกลืนน้ำลายไปหนึ่งเอื๊อก

    พิมพ์ที่ใช้เป็นพิมพ์ขนมโบราณของครอบครัวที่ใช้กันมานานหลายปี เป็นพิมพ์เนื้อทองเหลืองสีสวย เป็นพิมพ์โบราณของครอบครัวที่ใช้กันมานเป็นร้อยปีเหมือนกัน และตอนนั้นต้องสั่งมาจากสิงคโปร์เลยนะคะ ลงเรือมาจากสิงคโปร์เลย คุณป้าผู้อธิบายหมายถึงพิมพ์เนื้อทองเหลืองสีสวยที่กำลังทำให้ขนมสุกขึ้นรูปสวย

         ที่ต้องใช้เวลานานคือตรงนี้.... ต้องใช้ไฟจากถ่านเท่านั้น ไม่สามารถใช้ไฟจากเตาแก๊สทำได้ ต้องใช้ไฟจากเตาถ่านเท่านั้น เคยลองทำกับเตาอบนะคะ แต่ไม่อร่อยเท่าเตาถ่าน ที่สำคัญคือต้องใช้ทั้งไฟบนและไฟล่างค่อย ตะล่อมให้ขนมสุกแต่พอดี พี่สาวอธิบายพร้อมสาธิตการใช้ไฟบนและไฟล่าง โดยไฟล่างหมายถึงไฟในเตา ส่วนไฟบนนั้นเราต้องคีบถ่านมาใส่แป้นโลหะก่อนยกมาปิดพิมพ์ขนมด้านบน

       

        “ต้องกะไฟและเวลาให้สมมาตรกัน ถ้าไฟร้อนไป ขนมจะไหม้ทันที ไม่อร่อย กินไม่ได้ ต้องทิ้ง พี่สาวอธิบายต่อขณะที่กำลังเขี่ยถ่ายทั้งไฟบนไฟล่างเข้า ๆ ออก ๆ เพื่อปรับอุณหภูมิที่ใช่ที่สุด กลิ่นหอมใบเตยลอยขึ้นมาพร้อมกับภาพความใส่ใจของผู้ปรุงขนมตรงหน้าทำให้ผมกลืนน้ำลายอีกหลายเอื๊อกติด ๆ

        “เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับขนมจอร้อหน่อยสิครับ ผมถามคุณยายขณะที่ดูพี่สาวสาละวนกับจอร้อบนเตา

        ขนมจอร้อมาจากอินโดนีเซีย เข้ามาเมืองไทยโดยพี่น้องมุสลิมจากชวาที่มาอาศัยอยู่ที่ย่านนี้ด้วยกัน ที่มาเลเซียก็มี แต่เรียกว่าขนมบากัร คุณพี่เล่าถึงที่มา ส่วนการออกเสียงขนมบากัรนั้นไม่ยากครับ ลองเพิ่ม ร . เรือ รัว ๆ ลงไปตรงพยางค์ท้ายเวลาออกเสียงว่า “กัร” แบบ “กัรรรรร” ......นั่นล่ะ.... ใช่เลย

       

       อีกสิบกว่านาทีต่อมา เอ้า.... เสร็จแล้วค่ะ ทานเลยตอนร้อน นี่แหล่ะค่ะ พี่สาวแกะขนมสีเขียวอ่อนชิ้นขนาดฝ่ามือจากพิมพ์ลงบนจาน ควันสีขุ่นลอยอึงอวลอยู่ในอากาศ

       อั้มมมม... ผมตักชิมคำแรกพร้อมด้วยอาการน้ำตาจะไหล มันหวานกำลังดี นุ่มเหมือนเนื้อคัสตาร์ด กลิ่นใบเตยกระทบโสตประสาทจนบรรลุความดื่มด่ำ

        ทีนี้รู้แล้วนะคะว่าทำไมใช้เวลานาน คุณพี่สาวพูดยิ้ม ๆ ก่อนหันมาเตรียมตักส่วนผสมลงพิมพ์เพื่อทำจอร้อให้ผู้โชคดีคนต่อไป

         เข้าใจแล้วครับ แล้วผมก็งงมากที่พี่ขายขนมชิ้นใหญ่ ทำยาก สุดวิเศษนี้ในราคาเพียง 35 บาทเท่านั้น

        “พี่อยากให้คนได้ลองกินขนมของครอบครัว เราไม่ได้หวังกำรี้กำไรอะไรหรอกค่ะ พี่สาวเฉลยข้อข้องใจ

         ผมกับคุณพ่อกล่าวขอบคุณครอบครัวใจดีที่ทำขนมอร่อยแล้วยังอนุญาตให้ผมเข้าไปชมวิธีทำอย่างละเอียด

         จากขนมจอร้อ ผมกับพ่อเดินต่อไปตามทางเดินร่มรื่นเลียบคลองสะอาด แล้วสายตาของเราก็มาสะดุดกับแผงขนมน่าทานหลายชนิดและหนึ่งในนั้นคือขนมที่มีชื่อว่า ซูยี

       

ลองทานขนมซูยีไหมคะ? ขนมซูยีเป็นขนมที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมนิยมทานกันในช่วงเดือนถือศีลอด และวันพิเศษต่าง อร่อยนะคะ เพิ่งทำมาร้อน ลองชิมดูเลยค่ะ คุณพี่ใจดีอีกท่านกล่าวเชิญชวน ที่นี่มีแต่คนใจดีทั้งนั้นเลย เพราะใคร ๆ ก็พร้อมจะต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มและคำทักทาย

         โอ้โห.... อร่อยจริง ครับ ผมตอบคุณพี่ไปหลังจากที่ขนมเนื้อคล้ายพุดดิ้งหอมนมกำลังละลายผ่านลำคอลงไป เนื้อขนมมีอะไรบางอย่างสาก ๆ พอสะดุ้งลิ้นทำให้ทานแล้วแอบสนุก

        ผมยากซื้อกลับไป 4 ถ้วยครับ ผมนำไปเก็บไว้ทานมื้ออื่น ได้ใช่ไหมครับ? ผมกับพ่อเริ่มช้อปทันทีหลังจากชิมและซื้อทานไปหนึ่งถ้วยตรงนั้น

        ได้ค่ะ เก็บในตู้เย็นได้ 7 วัน แล้วทานตอนนำออกมาจากตู้เย็นทันทีเลยก็ได้นะ พี่ว่าขนมซูยีตอนเย็น จะยิ่งอร่อย เนื้อจะมัน หวาน หยุ่น กำลังดีเลยคุณพี่อธิบายวิธีทานที่ถูกต้องให้ลูกค้ารายแรกอย่างผม

       

        จากข้อมูลที่ผมได้รับจากคุณพี่พอสรุปได้ว่าขนมซูยีประกอบไปด้วย แป้งซูยี ผสมนมข้นหวาน นมข้นจืดและเครื่องเทศกลิ่นหอมอย่างกานพลู และเปลือกอบเชย นำมาเคี่ยวไฟอุ่น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนหลอมเป็นเนื้อละเอียดลื่นคอ ใส่เมล็ดอัลมอนด์ และลูกเกด เพื่อเพิ่มความหวานกรุบ ลูกซูยีจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายสาคูช่วยต้านลิ้นทำให้ทานได้อร่อยยิ่งขึ้น ที่สำคัญขนมซูยีไม่สามารถหาทานได้ง่าย ๆ เพราะจะทำในช่วงเทศกาลเท่านั้น อย่างเช่นช่วงเดือนรอมาฎอน

        ความจริงเมนูเด็ด ๆ ยังมีอีกมาก แต่วันนั้นผมมีเวลาจำกัด และได้มีโอกาสทดลองไปไม่กี่เมนู อย่าลืมนะครับ ทุกสุดสัปดาห์ต้นเดือน อย่าลืมไปเดินเล่นที่ตลาดริมคลองชุมชนสวนหลวง 1 ที่ถนนเจริญกรุง ซอย 103 นะครับ


PHOTO Charoenkurng Road: Wikipedia - http://2bangkok.com/news05z.html [Public domain]

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS