HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ตามหา “ซิมบา” ในป่ามาลาวี (ตอนที่ 2)
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
22 ส.ค. 2562, 14:10
  1,623 views

        1. ศาสตราจารย์มุสตาฟา

        “นี่ตัวอะไร?” มุสตาฟาชี้นิ้วไปยังฝูงสัตว์ที่ดูเหมือนกวาง มุสตาฟาคือไกด์สำหรับทุก ๆ Game Drive ของผมที่ อุทยานแห่งชาติมาเจเต้ (Majete) อันเป็นอุทยานสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศมาลาวี (Malawi) ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ และวันนี้เป็นวันที่สามและเป็น Game Drive รอบที่ห้าของผมกับเขาแล้ว

        “ตัวนี้คือวอเตอร์บัค ผมตอบ แอบกัดลิ้นเบา ๆ

        “ไม่ใช่ นี่อิมพาล่า ดูที่หูกับก้นมันสิ มุสตาฟาชี้จุดสังเกตบนตัวอิมพาล่า ก่อนขับรถวนออกหาสัตว์ตัวต่อไป

         “แล้วนี่ล่ะ?” มุสตาฟาชี้นิ้วไปยังฝูงสัตว์อีกกลุ่มที่ดูเหมือนกวาง (อีกแล้ว)

        “นี่วอเตอร์บัคแน่นอน ผมตอบเบา ๆ

        “ไม่ใช่ นี่เอ็นยาลาตัวเมีย ดูแถบขาวที่พาดขวางลำตัวมันสิ ถ้าเป็นตัวผู้จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะ ลำตัวจะสีออกดำและที่เท้ามีลายดูเหมือนใส่ถุงเท้าสีเหลืองทั้งสี่ขา มุสตาฟาอธิบายอย่างใจเย็น

        “แล้วนี่ตัวอะไร?” มุสตาฟาชี้นิ้วไปยังฝูงสัตว์ที่ดูเหมือน ....เอ่อ... กวาง

        “นี่ก็วอเตอร์บัคไง ผมตอบอีกครั้ง มันต้องมีถูกบ้างล่ะ

        “ไม่ใช่ ไม่ใช่ นี่คูดู และตัวนั้นคืออีแลนด์ ดูขนาดของมันสิ มันตัวโตกว่าวอเตอร์บัคมาก ถ้านับไม่ผิด มุสตาฟาอธิบายเรื่องคูดูกับอีแลนด์ป็นเรอบที่สิบสี่ได้แล้วมั้งเนี่ย

วอเตอร์บัค 

        แม้จะผ่าน Game Drive กับมุสตาฟามาหลายรอบ แต่สำหรับผมนั้น ไม่ว่าเขาชี้อะไร มันก็เป็นสัตว์ที่ดูเหมือนกวางไปหมด และไม่ว่าเขาถามอะไร ผมก็จะตอบว่าวอเตอร์บัคเป็นหลัก

        เอ๊ะ.... แล้วตกลงวอเตอร์บัคเหมือนอะไรหว่า? สงสัยจะเหมือนกวางมั้ง?

ตัวอะไรที่คล้ายกวาง
อิมพาล่าชอบโดดหนี

        ความจริงโลกใบนี้ยังมีสัตว์ที่เหมือนกวางแต่ไม่ใช่กวางอีกมากมาย นอกจากสัตว์ต่าง ๆ ที่ผมเอ่ยชื่อมาด้านบนแล้ว ก็ยังมีรีดบัค ซาเบล ฯลฯ ตลอดสองสามวันที่ผ่านมา ผมเริ่มรู้แล้วว่าศาสตราจารย์มุสตาฟาผู้นี้จะไม่ยอมให้ผมเดินออกจากอุทยานแห่งชาติมาเจเต้ได้ง่าย ๆ โดยไม่มีความรู้เรื่องสัตว์ป่าในระดับที่เขาพอใจ ใน Game Drive แรก ๆ เขาจะอธิบายถึงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ทุกครั้งที่เห็นและจอดรถซุ่มดู แต่ Game Drive ในวันหลัง ๆ เขาเริ่มกลายเป็นผู้ป้อนคำถามแทน

         “ตกลงยูจำตัวอะไรได้บ้าง? อย่าตอบว่าช้าง ยีราฟนะ แล้วห้ามตอบว่าวอเตอร์บัคด้วย มุสตาฟาดักทางผมไว้แล้ว

        “อ๋อ... จำตัวนี้ได้ มันเหมือนหนูตะเภาตัวใหญ่ คล้าย กาปีบาร่า แต่ชื่อว่า Hilux เหมือน Toyota Hilux ไง?” ผมตอบถึงหนูยักษ์ชนิดหนึ่งที่เพิ่งเห็นเมื่อวาน

        “ไม่ใช่... มันชื่อ Hyrax ไม่ใช้โตโยต้า ไฮลักซ์ คราวนี้อาจารย์มุสตาฟาหัวเราะลั่นป่าเลย

ศาสตราจารย์มุสตาฟา

        การสังเกตสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมันไม่ได้ยืนเฉย ๆ ให้เราดู มันเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขณะกำลังจะดูก้นของมัน มันก็ดันหันหัวมาให้ พอจะขอดูสีข้าง มันก็ดันหันหลังแทนเสียนี่ บนรถจะมีหนังสือระบุภาพ ชื่อ และพฤติกรรมของสัตว์ทุกชนิดที่พบได้ในอุทยานแห่งชาติมาเจเต้ และเป็นหนังสือที่ศาสตราจารย์มุสตาฟาใช้เปิดสอนผมมากที่สุด แต่เป็นหนังสือที่ผมจำได้น้อยที่สุดเพราะทุกอย่างดูเป็นกวางไปหมด

2. (สิง) สาราสัตว์

        การตามล่าสัตว์ในแต่ละครั้งเป็นความตื่นเต้นเร้าใจมาก ๆ เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเจอตัวอะไร พวกอิมพาลา วอเตอร์บัค เอ็นยาลา รีดบัค อันเป็นสัตว์กระโดดหยองแหยงแบบกวางนั้น พบได้บ่อย ๆ แต่พวกนี้ก็ขี้ตกใจมาก ๆ มันเอาแต่กระโดดหนีเราอยู่เสมอ   

        สัตว์ที่พบได้บ่อย ๆ ในอัตราเดียวกันกับพวกอิมพาลาก็คือหมูป่า เราเจอพวกมันวันละหลายสิบรอบทั้งตัวใหญ่เขี้ยวตัน จนตัวเล็ก ๆ เป็นลูกหมูน้อยวิ่งตามแม่เป็นพรวน หมูป่ายังพากันมาเดินเพ่นพ่านถึงในลอดจ์เลยทีเดียว แล้วมาแบบใกล้ตัวมาก ๆ ด้วย มันเคยวิ่งตัดหน้าผมเวลาเดินกลับกระท่อมเลยทีเดียว

        รองจากหมูป่าคือบาบูนที่ปรากฏตัวอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะบนต้นเกาลัดและต้นมารูล่าอันเป็นอาหารโปรดของพวกมัน และพอดีที่ Mkulumadzi Lodge ที่ผมพักนั้นก็มีต้นไม้สองชนิดนี้ขึ้นอยู่ด้วยและต้นก็ใหญ่ผลก็ดก ดังนั้นบาบูนจึงตามจากป่ามาป้วนเปี้ยนให้เห็นได้ใกล้ ๆ กระท่อมเสมอ

        เกาลัดนั้นมีลำต้นสีขาวโพลนเพราะลำต้นถูกฉาบไปด้วยแป้งขาวเนื้อละเอียดตลอดต้น มุสตาฟาอธิบายว่านี่เป็นกลไกที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของสัตว์ ผงแป้งขาวที่เคลือบอยู่นั้นจะทำให้ลื่นและปีนยาก แม้แต่บาบูนยังเหนื่อยที่จะปีน แต่บาบูนก็ฉลาดพอที่จะไปปีนต้นไม้ต้นข้าง ๆ แล้วกระโดดข้ามมายังต้นเกาลัดแทน ผมจึงเห็นพวกมันนั่งแทะเกาลัดอย่างสบายอกสบายใจอยู่บนนั้นเสมอ แต่ผงขาว ๆ นี้กลับเป็นผงวิเศษที่ชาวมาลาวีนำมาทาหน้าทาตัวเพื่อกันรังสียูวีและบำรุงผิวให้งดงามเปล่งปลั่งได้ด้วย

        ส่วนมารูล่านั้นเป็นของโปรดทั้งบาบูนและช้าง และเป็นวัตถุดิบในการผลิตลิเคอร์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าอะมารูล่า (Amarula) หากเคยทานลิเคอร์ชนิดนี้ก็จะพบรูปช้างอยู่ข้างขวด พร้อมกับได้กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ผลมารูล่านั้นสีเขียวกลมขนาดผลมะนาว รสชาติเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบได้เพราะไม่เคยทาน และมุสตาฟาก็บอกว่ามีแต่บาบูนกับช้างเท่านั้นที่ทาน ส่วนมนุษย์นั้นยี้ใส่ แต่ถ้านำผลมารูล่ามาขยี้ดมก็จะพบว่ามันเป็นกลิ่นเดียวกันกับเหล้าอะมารูล่าเลย

      มุสตาฟาเล่าว่าเคยมีครอบครัวข้างเดินเลียบแม่น้ำชีเร่และผ่านหน้า Mkulumadzi Lodge พวกมันเห็นต้นมารูล่ากำลังออกผลดกจึงแวะจัดการกันอย่างอิ่มอร่อยสร้างความแตกตื่นให้แขกที่มาพักมาก ๆ เสียดายที่ผมไม่พบประสบการณ์เช่นนี้

        ส่วนฮิปโปกับจระเข้นั้นเป็นดาวเด่นประจำลำน้ำชีเร่ หากผ่านไปริมน้ำเมื่อไหร่ก็จะเจอพวกมันนอนบนตลิ่ง ไม่ก็แช่น้ำกันสบายอกสบายใจ

        ยีราฟเป็นของหายาก แต่ก็ได้เจอจัง ๆ ถึงสองครั้งและครั้งละสามตัว ยิ่งทราบว่าอุทยานแห่งชาตินี้มียีราฟเพียงสิบสามตัวเท่านั้น ยิ่งทำให้สถิตินี้น่าตื่นเต้น ส่วนม้าลายมีมากกว่าสิบสามตัวหลายเท่า แต่ก็ได้เห็นในอัตราเดียวกันกับยีราฟ นั่นคือสองครั้งและครั้งละสามตัวเช่นกัน ช้างป่านั้นมีนัดกันที่หน้ากระท่อมช่วงบ่ายเพราะเป็นครอบครัวช้างขาประจำที่จะมาดื่มน้ำริมแม่น้ำชีเร่ทุกวัน

       

       ส่วนนกสวย ๆ นั้นมีมากมายทั้ง Böhm’s Bee Eater, Prover, Little Bee Eater, African Grey Hornbill, Trumpeter Hornbill, Rocket-Talied Roller, Nightjar, Bateleur ฯลฯ จนกล้องส่องดูนกต้องทำงานหนักมาก ๆ พอ ๆ กันกับสายตาของเรา หากมองจากรายชื่อนกนานาชนิดที่ผมขียนไปเมื่อสักครู่แล้วก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมเก่งกาจเรื่องปักษีวิทยามาแต่ไหนนะครับ ผมนี่โง่เรื่องนี้มาก ๆ แต่อาจารย์มุสตาฟาของผมมีสารานุกรมนกติดรถและเขาจะเปิดภาพให้ผมดูทุกครั้งที่หยุดส่องดูนกต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องราวของมันให้ฟัง สำหรับผมแล้ว นกมีสีสันและลักษณะที่ผมสามารถแยกแยะได้ดีกว่าสัตว์จำพวก.... เอ่อ ... กวาง

        ตั้งแต่วันแรกที่มุสตาฟาถามว่าอยากเห็นอะไรเป็นพิเศษและผมตอบเขาไปว่า “ซิมบา” นั้น เขาใช้ประสาทสัมผัสทุกชนิดในการสอดส่องมองหาสิงโตอย่างไม่หยุดหย่อน เขาหยุดรถดูรอยเท้าที่ปรากฏตามเส้นทาง และเราก็เห็นรอยเท้าสิงโตหลายหน แต่ยังไม่เคยเจอตัวเป็น ๆ เลย แปลว่าเราคลาดกันไปมาเสมอ สัตว์ป่าอีกหลายประเภทก็ตกอยู่ในกลุ่มล่องหนแบบนี้ เราเจอทั้งรอยเท้าและมูลของ ไฮยีน่า แรด และเสือดาว แต่ก็ยังตามหาตัวไม่พบเสียที

        หนึ่งใน Big Five ที่มีจำนวนมากในอุทยานแห่งชาติมาเจเต้คือควายป่าที่มีนับพันตัว แต่เราไม่พบแม้แต่รอยเท้าหรือมูลของมันเลย มันหายตัวไปได้อย่างลึกลับและไร้ร่องรอยจนผมปลงแล้วว่าคงไม่ได้เห็นแบบไม่ต้องลุ้น

        3. The Last Game Drive

        และแล้วก็มาถึง Game Drive ครั้งสุดท้ายในวันที่สี่ คราวนี้ผมเตรียมตัวมาดีมาก ๆ ถึงแก่นั่งอ่านและจดจำภาพสัตว์ต่าง ๆ ไว้เพื่อเตรียมสอบกับอาจารย์มุสตาฟา และผมคิดว่าผมจะเป็นผู้เปิดเกมส์รุกให้อาจารย์หงายเงิบไปเลย

วอเตอร์บัค

         “ด้านซ้ายนี่คือวอเตอร์บัคตัวจริง เสียงจริง ตัวสีเทาฝุ่น และที่ก้นมีวงกลมสีขาวสามวง ผมบรรยาย อาจารย์มุสตาฟาแอบบตกใจ

        “นี่เอ็นยาลาตัวผู้ มันสวมถุงเท้าสีเหลืองทั้งสี่ขา หากเป็นตัวเมียจะสีน้ำตาลและมีแถบขาวพาดตัดลำตัว สอบข้อที่สองถือว่าผ่าน

        “นี่ Nightjar เป็นนกที่หลงแสง มันชอบอยู่บนพื้นและมีชื่อเล่นว่า Suicide Bird” ถึงคราวอาจารย์มุสตาฟาอึ้ง

        “อันนี้ Civet ที่ยูบอกวันก่อน ตัวนี้ก็หายาก แต่ผมจำได้

Civet

        และแล้ว Game Drive ครั้งสุดท้ายก็จบลงโดยผมสามารถบอกสัตว์ทุกชนิดได้ถูกต้องพร้อมความโล่งใจและผมก็สอบผ่านแบบ A+ โดยอาจารย์มุสตาฟาเป็นผู้มอบคะแนนให้ผม

         "เสียใจด้วยที่ไม่เจอซิมบาเลย มุสตาฟาบอก

        “เราอ่านหนังสืบพบว่าโครการ Lion Reintroduction ที่อุทยานแห่งชาติมาเจเต้นั้นประสบผลสำเร็จมากเพราะสามารถเพิ่มจำนวนสิงโตมากขึ้นกว่าเดิมไดถึง 400 เปอร์เซนต์ เราก็เลยตั้งใจมาที่นี่โดยเฉพาะ แม้จะไม่เจอสิงโตเลยสักตัว แต่ก็ดีใจกับนักอนุรักษ์ที่ทำหน้าที่ได้ดีมาก ขอแสดงควมยินดีด้วย ผมบอกมุสตาฟา

         “ใช่แล้ว เมื่อก่อนมีสิงโตทั้งหมดสามตัว แต่ตอนนี้เพิ่มเป็นสิบสองตัวแล้วมุสตาหาเผยข้อมูลอีกด้าน

         ผมเริ่มเข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมถึงตามหาซิมบายากมาก ๆ ข้อมูลในบทความที่เขียนว่า 400 เปอร์เซนต์นั้นหมายถึงสิงโต 12 ตัวที่มุสตาฟาเพิ่งบอกนี่เอง... ในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 700 ตารางกิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติมาเจเต้แห่งนี้ถ้าผมเจอสิงโตได้สักตัวนี่ก็ถือว่าผมโชคดีมาก ๆ

         เมื่อตอนผมมาถึงที่นี่ใหม่ ๆ ผมเอาแต่มองหาสิงโตจนแทบไม่สนใจสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เลยอย่างนก อย่างหนูนี่ผมไม่สนใจโดยสิ้นเชิง แต่พอผมได้เจอมุสตาฟาที่คอยชี้และเล่าเรื่องราวของสัตว์ต่าง ๆ ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กแม้กระทั่งแมลง ผมเลยเริ่มมองเห็นพวกเขา เริ่มสนใจ และในที่สุดผมก็เพลิดเพลินมาก ๆ ที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่เหล่านี้

        การตามหาซิมบาไม่ว่าจะเจอหรือไม่นั้นกลับกลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญไปเลย ตลอดสี่วันที่อุทยานแห่งชาติมาเจเต้ ผมได้สัมผัสธรรมชาติอันแสนสงบงดงามและได้รู้จักสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มจะแยกแยะออกว่าอะไรเป็นอะไร และผมก็ถึงกับซื้อหนังสือว่าด้วยสัตว์ป่าและนกหลากชนิดกลับไปอ่านต่อที่บ้านเพราะผมยังอยากทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่น่ารักและสวยงามเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น และคนที่สร้างแรงบันดาลใจเช่นนี้ไม่ใช่ใครอื่นเลยนอกจาก ศาสตราจารย์ มุสตาฟา คนนี้ของผม

4. ซิมบา...แล้วเราจะได้เจอกัน

        และแล้วเวลาของผมในอุทยานแห่งชาติมาเจเต้ก็หมดลงโดยที่ผมไม่มีโอกาสเจอสิงโตเลยสักตัว นา.... ซิงก้อนยา....” เนื้อเพลง Circle of Life ยังคงดังกระหึ่มอยู่ในหัวผมตั้งแต่วันแรกที่ผมบินข้ามฟ้ามาตามหาสิงโตในมาลาวี  โดยเฉพาะประโยคแรกของเพลงนี้ที่ร้องว่า “Nants ingonya...” เพลงนี้ยังคงกระซิบบอกผมว่า ออกไป... ออกไปตามหาซิมบา อย่าหยุดนะ พร้อม ๆ กันกับที่สายตาของผมก็เริ่มมองไปยังแผนที่โลกอีกครั้ง... บนทวีปแอฟริกา แถว ๆ ประเทศซิมบับเว หรือไม่ก็แซมเบีย บางทีซิมบาอาจรอผมอยู่ที่นั่น

        “นา..... ซิงก้อนยา...” แล้วเราจะได้พบกันนะซิมบา

อ่าน ตามหา "ซิมบ้า" ในป่ามาลาวี ตอนที่ 1  คลิกที่นี่

STORY BY โลจน์ นันทิวัชรินทร์

PHOTO Courtesy of Robin Pope Safaris

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS