HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
คารวะ “ครู” ของ “สมเด็จครู” ที่ตำหนักไทย บ้านปลายเนิน ในวันนริศ
by L. Patt
7 พ.ค. 2562, 16:15
  3,229 views

ชื่นชมพระตำหนักไทย และศิลปะโบราณวัตถุ ที่พระตำหนักไทย เปิดให้ชมครั้งแรกวันนริศปีนี้

        งานวันนริศปีนี้ พิเศษกว่าทุกปี เพราะเป็นครั้งแรกที่ทายาทของราชสกุลจิตรพงศ์เปิดตำหนักไทยให้ได้ชมหลังจากบูรณะปรับปรุงเสร็จ  และได้มีโอกาสขึ้นชมพระตำหนักซึ่งเป็นที่ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บรมครูด้านศิลปะของไทยประทับทรงงาน ผลงานศิลปะชิ้นมาสเตอร์พีซของไทยหลายชิ้น เกิดขึ้นจากพระตำหนักนี้เอง

Photo by สมัชชา อภัยสุวรรณ fyiphotography

        กิจกรรมเข้าชมตำหนักไทยที่บ้านปลายเนินกับ happeningbkk อุ่นหนาฝาคั่งด้วยผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมไทย ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์ ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 4เล่าให้คณะเราฟังว่า ตำหนักไทยนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว  ทรงนำเรือนไทย 6 หลังมาเรียงต่อกันเป็นแนวยาว แทนการปลูกเป็นเรือนหมู่มีนอกชานแล่นกลางตามแบบไทยประเพณี เพราะต้องการให้เรือนนี้รับลมและแสงทิศเหนือ-ใต้อย่างเต็มที่  ในการบูรณะตำหนักไทยราชสกุลจิตรพงศ์ปรับปรุงระบบระบายน้ำใหม่เพื่อไม่ให้ผุพังง่าย แต่โครงสร้างและส่วนอื่นๆ ยังคงไว้ตามเดิมทั้งสิ้น

       

        นอกจากการวางตัวเรือนตามแนวยาวแล้ว “สมเด็จครู” ยังทรงใช้หน้าต่างลูกฟักติดบานกระจกใส ซึ่งถือเป็นของใหม่มากในยุคนั้น ด้วยทรงตั้งพระทัยจะรับแสงจากทิศเหนือและใต้ที่เหมาะต่อการทำงาน แสงไม่จ้าไม่ร้อนจนเกินไป ทำให้ตำหนักไทยเป็นเรือนเอนกประสงค์ที่ทรงใช้เป็นที่บรรทม เสวย รับแขก ทำบุญเลี้ยงพระ ทรงงาน จนกระทั่งทรงพระชรามากแล้ว จึงได้ทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักตึกซึ่งปลูกลึกเข้าไปทางด้านหลังแทน          

           ห้องสำคัญบนเรือนคือท้องพระโรง ซึ่งมีภาพที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนด้วยพระองค์เอง  เป็นแบบขยาย1:1ของภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งจะนำไปวาดที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส

         งานศิลปะสำคัญอื่นๆ ที่ทายาทของสมเด็จครูนำมาแสดงคือรูปปั้นของพระองค์ท่านที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูอีกท่านหนึ่งเป็นผู้ปั้น มีทั้งหมดถึง 6 ชิ้น โดยเฉพาะรูปแกะสลักหินอ่อนสีแดง ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นำมาถวายหลังจากที่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อิตาลี  ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ ผู้เป็นหลานปู่ของสมเด็จฯ เคยเล่าว่า ไม่ทราบว่าอาจารย์ศิลป์มีภาพของพระองค์ท่านไปเป็นแบบด้วยหรือไม่ แต่สามารถแกะหินอ่อนได้เหมือนมาก

 

        อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญคือ เสลี่ยงที่สมเด็จครูประทับนั่งหลังจากเสร็จพิธีโสกันต์และเสด็จออกจากวังหลวงมาประทับที่วังท่าพระ  ในงานวันนริศ 28เมษายน 2562ได้เชิญพระอัฐิมาประดิษฐานบนเสลี่ยงองค์นี้ และให้นักเรียนที่ได้รับทุน มารับจากพระอัฐิของสมเด็จฯ จริงๆ

        งานเด่นๆ ที่ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์คัดมาจัดแสดงในตำหนักไทยหลังจากบูรณะเสร็จในปีแรกนี้ คือ งานที่สมเด็จครูทรงถือว่าเป็น “ครู” ของพระองค์ท่าน ด้วยการที่สมเด็จฯ ทรงเป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์ทำให้ไม่มีใครกล้าสอน  สมเด็จฯ จึงทรงอาศัยการเรียนรู้แบบครูพักลักจำเป็นส่วนใหญ่

       

         เมื่อทรงพบเห็นงานศิลปะเก่าที่สวยงาม มักทรงนำมาเป็นต้นแบบศึกษาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ ต่อไป อาทิ บุษบกโบราณ ซึ่งทรงพบที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่สมบูรณ์ แต่มีสัดส่วนที่งดงาม ก็ทรงนำมาศึกษาและใช้เป็นต้นแบบเวลาที่ทรงออกแบบบุษบกหรือพระจิตกาธาน ปลายหอกทรงยาวที่มีลวดลายวิจิตร  ไม้ฆ้องที่ทรงถือว่าเป็นครูดนตรี ด้ามเป็นไม้ไผ่เก้าปล้อง หรือหนึ่งคืบมีเก้าปล้อง ส่วนหัวที่ตีทำด้วยหนังช้าง  ตู้ลายรดน้ำ  ช้างปูนปั้น รูปพระอิศวรที่สมเด็จฯ รับสั่งว่า เวลาคนมองไปที่พระอิศวร จะเห็นว่าพระอิศวรมองตามไม่ว่าคนจะอยู่มุมไหนของห้อง และหนังสือตำราทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่ทรงศึกษาและถือเป็นครูของท่าน

        นอกจาก “ครู” ของสมเด็จฯแล้ว ยังมีงานฝีพระหัตถ์อีกจำนวนมากที่เป็น “ครู” ของศิลปินรุ่นหลังและสมบัติของชาติที่นำมาจัดแสดงในตำหนักไทย เช่น หัวโขนที่บูชาเป็นครู หัวโขนนางอากาศตะไล และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ หัวครูดำ ซึ่งเป็นหัวโขนทศกัณฐ์ ที่ลงรักเป็นสีดำด้าน มีสัดส่วนและรายละเอียดงดงามสมบูรณ์แบบในตัว  สมเด็จฯ จึงไม่โปรดให้ปิดทอง แต่ให้ใส่เขี้ยวเป็นสัญลักษณ์ว่าสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

        

        ชุดตาลปัตรดำรงธรรม เป็นงานที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงผูกลายถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยจัดแสดงแบบร่างตั้งแต่แบบแรกที่ทรงเขียนไว้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่โปรด จนกระทั่งแบบร่างลายสุดท้ายที่ให้ช่างปักจริง

        งานอีกชิ้นซึ่งถือเป็นบรมครูของงานจิตรกรรม และสะท้อนถึงความเป็น Renaissance Man ศิลปินผู้กล้าคิดนอกกรอบ คือภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่ทรงวาดถวายรัชกาลที่ 6 สิ่งที่พิเศษของรูปนี้คือ สมเด็จฯ ไม่ได้ทรงเขียนช้างเอราวัณให้มีสามเศียรเหมือนโบราณ เพราะท่านบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เขียนยังไงก็ไม่สวยไม่สมจริง จึงตัดสินพระทัยเขียนช้างเอราวัณเศียรเดียวแต่มีงา 4 งา เป็นสัญลักษณ์ความเป็นเทพ ส่วนองค์ของพระอินทร์ ท่านตัดสินพระทัยลงสีเขียวอ่อน ไม่ใช่เขียวปี๋ ที่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นจริงได้และงามมากกว่า   ต่อมากรุงเทพมหานคร ได้ขอใช้ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณไปเป็นสัญลักษณ์ ของกรุงเทพมหานคร 

        

        ความเป็นศิลปิน “นอกกรอบ” ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังปรากฎในงานอื่นๆ อีกหลายชิ้น ในยุคที่ศิลปินไทยยังคงวาดภาพแบบไทยประเพณี สมเด็จฯ ทรงเป็นศิลปินรุ่นแรกๆ ของไทยที่ใช้หลักกายวิภาคมาประกอบในการวาด เช่น เมื่อจะทรงวาดรูปวัว ก็ทรงเช่าวัวมาผูกไว้ในสวนเพื่อศึกษาสัดส่วน กิริยาท่าทางของวัว   เมื่อทรงวาดภาพพระมหาชนกที่ว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร ก็ให้หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ พระโอรสลงไปว่ายน้ำในคลอง ให้ทรงสเก็ตช์ภาพ เป็นต้น

       งานศิลปะที่เป็นครูของสมเด็จฯ และงานของสมเด็จฯ ที่เป็นครูของศิลปินทั้งหลาย ถูกจัดแสดงในสถานที่ที่เป็นบ้าน เป็นห้องทรงงานของพระองค์ท่าน บนโต๊ะที่ทรงงานจริง มีหีบเครื่องมือวางใต้โต๊ะเสมือนเมื่อทรงมีพระชนม์ชีพ  และยังมีการนำของใช้ส่วนพระองค์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ คือ ธารพระกร ฉลองพระเนตร(แว่นตา) ที่ทันสมัยมาก ไฟแช็ค กล่องใส่นามบัตร กระเป๋าสตางค์ ซองใส่บุหรี่

         

        ในห้องบรรทม มีพระแท่นบรรทมของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดา ซึ่งสมเด็จฯ ทรงบันทึกเอาไว้ด้วยว่า ตอนเด็กๆ จะมาบรรทมกับพระมารดา แต่บรรทมไม่หลับ “เพราะกลัวผี”

        จากตำหนักไทย คณะของเราได้เดินชมบริเวณรอบๆ ซึ่งยังคงรักษาของเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้เก่าแก่ที่เป็นความทรงจำของลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้วยพัด ต้นพิกุล ต้นสาละ ต้นปีป ต้นมะขาม ทางเดินปูหินที่เรียกว่า “ทางเสด็จ” เพราะเมื่อสมัยรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงพระเยาว์เคยเสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จฯ ที่นี่

 

        เมื่อเดินลึกเข้าไปจะพบตำหนักตึก ซึ่งเป็นที่ประทับในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ และสิ้นพระชนม์ที่ห้องบรรทมบนชั้น 2 ของอาคารนี้  ตำหนักตึกเป็นอาคารปูน 2 ชั้น หน้าต่างบานยาวเปิดได้ทั้งด้านบนและด้านล่าง ถ้าเปิดทั้งหมด จะเป็นเหมือนศาลาโล่งๆ  ซึ่งหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ (ท่านหญิงอาม) พระธิดา ก็มักจะบรรทมตรงนี้เพื่อรับลม ส่วนด้านซ้ายเป็นส่วนต่อเติมใหม่เพื่อใช้เป็นห้องทรงงานของพระธิดาอีกองค์ คือหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ หรือ ท่านหญิงไอ ด้านนอกจะมีรอกอันเล็กๆ ยื่นออกมา ซึ่งท่านหญิงไอใช้สำหรับรับ-ส่งของ ส่วนห้องด้านล่างจะเป็นห้องเสวย และห้องนั่งเล่น

        ส่วนห้องบรรทมบนชั้น 2 ถูกปิดไว้ หลังจากสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2490   จนเมื่อไม่มีผู้อยู่อาศัยในตึกนี้แล้ว ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ได้เข้าไปสำรวจข้างใน พบว่ามีพระนขาหรือเล็บ เส้นพระเกศาของสมเด็จฯ ที่ตัดไว้เก็บไว้ในขวด มีพระอัฐิ กาน้ำชาที่ยังมีคราบน้ำชาติดอยู่ยังวางไว้ในห้อง เรียกได้ว่า เป็นห้องมีศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของบ้านปลายเนิน        

        

        ข้างตำหนักตึกเรือนไม้สีเขียวด้านขวา ออกแบบโดยท่านหญิงไอ ซึ่งท่านอยากเป็นสถาปนิก แต่สมเด็จฯ ไม่สนับสนุนให้เรียนด้านนี้เพราะเป็นผู้หญิง ท่านหญิงก็เลยเรียกตัวเองว่าเป็นสถาปนึก และออกแบบเอง เรือนหลังนี้ใช้เป็นเรือนละคร สมัยก่อนทุกวันเสาร์ตอนเช้าจะมีเด็กนักเรียนตั้งแต่ 5 ขวบ มาเรียนรำละครกันที่นี่ และทุกปีเด็กๆ จะได้รำหรือแสดงในวันนริศ  แต่ในตอนหลังไม่ได้มีการเรียนการสอนเป็นประจำแล้ว

        วันนริศปีนี้ แม้จะไม่มีเด็กหลายวัยมาแสดงเหมือนเมื่อก่อน แต่ศิษย์เก่าและนักเรียนที่ได้รับทุนในปีนี้ยังมาแสดงให้แขกรับเชิญได้ชมเช่นเดิม บ้านปลายเนิน จะเปิดให้เข้าชมเพียงปีละครั้งเท่านั้น  แต่ในอนาคตทายาทราชสกุลจิตรพงศ์มีแผนที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม 

ขอบคุณภาพจาก  fyiphotography สมัชชา อภัยสุวรรณ

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS