HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เวลาสั้นๆ ที่ “นานดี”
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
8 มี.ค. 2562, 14:56
  2,103 views

สงสัยใช่ไหมครับว่าตกลงมันสั้นหรือยาว เร็วหรือช้า นานหรือไม่นานกันแน่?

         เฉลยครับเฉลย... เวลาสั้นๆ นั้นคือเวลาที่ผมมี เพราะผมมาแวะเปลี่ยนเครื่องเพียงหนึ่งวันหนึ่งคืนที่เมืองนานดี ประเทศฟิจิเท่านั้น นั่นเลยเป็นที่มาของชื่อเรื่องที่ชวนสับสนในครั้งนี้

         นานดีสะกดด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า Nadi เมื่อมองเร็วๆ ก็ดูเหมือนจะอ่านว่า “นา-ดี” แต่ความจริงแล้วเราต้องออกเสียงว่า “นาน-ดี” นะครับ ดังนั้นหากใครเดินทางมาเที่ยวที่นี่ อย่าลืมเตือนตัวเองให้ออกเสียง น. หนู เพิ่มเข้าไปด้วยนิดนึง

         นานดีเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญเพราะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวของประเทศฟิจิ  ที่นี่มีสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่และทันสมัยคอยรองรับนักธุรกิจ และนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก สาเหตุที่นานดีพัฒนาจนกลายมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะว่าที่นี่เคยเป็นเมืองที่พ่อค้าวาณิชย์ชาวอินเดียเดินทางมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19

         ด้วยความที่ทั้งฟิจิและอินเดียนั้นต่างก็ตกอยู่ใต้อาณัติจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้ประชากรของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปตั้งรกรากยังอีกที่หนึ่งได้ ชาวอินเดียจำนวนมากจึงตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนออกเดินทางเพื่อย้ายมาแสวงหาโชคในดินแดนใหม่ที่ไกลแสนไกล และต่อมาเขาเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นนักธุรกิจผู้ประสบผลสำเร็จและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิจิในปัจจุบัน นานดีจึงเป็นเมืองที่มีประชากรเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่มากที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก และไม่ว่าอดีตพวกเขาจะเป็นใครหรือมาจากไหนก็ตาม ทุกวันนี้ทุกคนคือชาวฟิเจี้ยน (Fijian) อย่างเต็มภาคภูมิ ความที่ผมมีเวลาอันสั้นแสนสั้นที่นานดี ดังนั้นผมจึงต้องเลือกเฟ้นอย่างดีที่สุดว่าจะไปไหน

             “ไปเดินเล่นตลาดสดดีกว่า ไปดูผลไม้ผักหญ้าอาหารของชาวนานดีนี่แหล่ะ” ผมได้ข้อสรุปที่แสนพึงพอใจให้กับตัวเอง ว่าแล้วก็รีบไปขอข้อมูลคุณพี่แผนกต้อนรับที่อยู่ในชุดโสร่งแบบชาวเกาะ

          “ผมมีเวลาที่นี่แค่วันเดียวเลยคิดว่าจะเดินตลาดสดกลางเมืองสักหน่อยครับ ไม่ทราบว่าไปด้วยวิธีอะไรดีครับ” ผมถามคุณพี่แผนกต้อนรับ “สบายมากครับ... ทางโรงแรมยินดีจัดรถบริการให้ได้ครับ คนขับจะไปรอและรับคุณกลับมาได้เลย คุณเดินเล่นเพลินๆ ได้ตามใจชอบ จะไปสักครึ่งวันก็ยังได้” เสียงอธิบายพร้อมข้อเสนอของพนักงานต้อนรับหนุ่มแห่งโรงแรมเชอราตัน ฟิจิ รีสอร์ตพาผมเคลิบเคลิ้มไปกับบริการที่แสนจะเอกซ์คลูสีฟ         

        “แล้วราคาล่ะครับ? ไม่ทราบว่าเท่าไหร่?” ผมถามเขากลับ

        300 ดอลล่าร์ฟิจิเท่านั้นครับ” คุณพนักงานตอบกลับมาด้วยราคาที่ทำเอาผมหงายเงิบ

            300 ดอลล่าร์ฟิจินี่มันประมาณ 4,500 บาทนะครับคุณพี่ นี่ผมต้องเตรียมเงินไปเดินตลาดวันนี้สักกี่หมื่นกันครับเนี่ย ไม่ไหวล่ะครับ ไม่ไหว

        “เอ่อ.... งั้น... โทษครับ ไม่ทราบว่าป้ายรถเมล์อยู่ไหนครับ? เดี๋ยวผมไปเอง” ผมรีบตัดบท และเข้าประเด็น

         อีกประมาณ 20 นาทีต่อมา ผมก็เดินอาบเหงื่อหน้ามันผ่านลิมูซีนคันหรูของโรงแรมมายังป้ายรถเมล์ที่แสนจะเป็นชาวเก๊าะชาวเกาะเพราะมุงหลังคาด้วยใบจากใบมะพร้าวดูน่ารัก รถเมล์ Westbus สีเหลืองปรี่เข้ามารับและพร้อมที่จะพาผมเดินทางไปยังตลาดสดด้วยราคาเพียง 1 ดอลล่าร์ฟิจิ หรือ 15 บาทเท่านั้น....

ป้ายรถเมล์แสนจะชาวเกาะ

       “โอ้โห... นี่เราแอบประหยัดเงินให้ตัวเองไปถึง 299 ดอลล่าร์ฟิจิเลยนะเนี่ย เก่งมากๆ” ว่าแล้วผมก็แอบยิ้มชื่นชมตัวเอง

         ฟิจินั้นเป็นประเทศที่เจริญมากกว่าประเทศพี่ๆ น้องๆ เพื่อนบ้านใกล้เคียง สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือสภาพถนนหนทางที่ราดยางอย่างดี ตีเส้นแบ่งเลนได้ชัดเจน ซึ่งสภาพถนนแบบนี้แทบไม่มีโอกาสได้พบเห็นเลยในประเทศอย่างวานูอาตู หรือคิริบาส ในนานดีแอบมีอาคารสูงๆ อยู่มากมายซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเมืองใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน สำหรับผมนั้นฟิจิเลยเป็นประเทศที่ดูมั่งคั่งกว่าใครเขา

          รถเมล์ Westbus วิ่งเอื่อยๆ ให้ผมได้ชมวิวเพลินๆ ลมจากพัดลมบนเพดานรถช่วยคลายร้อน ผู้โดยสารมีเพียงหลวมๆ และต่างก็ขึ้นลงกันอย่างเป็นระเบียบที่ประตูด้านหน้า ผมจึงเดินทางไปถึงตลาดอย่างเพลิดเพลินที่สุด ที่สำคัญก็คือนั่งยังไงก็ไม่หลง เพราะป้ายตลาดสดนานดีนั้นเป็นป้ายสุดท้ายปลายทาง

         ตลาดสดนานดีกินพื้นที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่ เรียกว่าเป็นตลาดขนาดกลางๆ แต่สีสันบรรยากาศนั้นก็สนุกสนานไม่แพ้ตลาดสดอื่นๆ ในภูมิภาคแปซิฟิก ผู้คนเดินจับจ่ายข้าวของกันคึกคัก แม่ค้าพ่อขายที่เปิดแผงสินค้าอยู่หลายต่อหลายแผงต่างพากันส่งเสียงเชิญชวนลูกค้ากันอย่างสนุกสนาน ผมสังเกตเห็นว่าประชากรจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นชาวฟิเจี้ยนเชื้อสายอินเดีย และก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังแต่งกายในชุดส่าหรีสีสวยสดใส ประดับร่างกายด้วยด้วยปะวะหล่ำกำไล และเจิมหน้าผากเป็นจุดสีแดง

         หลังจากนั้นไม่นานผมก็เริ่มได้กลิ่นแกงกะหรี่ ไก่ย่างหมักเครื่องเทศแบบทันดูรีที่ลอยอึงอลอยู่ในอากาศ และเมื่อเหลียวมองรอบๆ ตัวผมก็เห็นแผงอาหารอินเดียเมนูเด็ดๆ เรียงรายหลายต่อหลายแผงอันเป็นที่มาของกลิ่นหอมชวนหิวที่ผมจาระไนไปเมื่อสักครู่ แต่อาหารที่ผมพบว่ามีขายดาดดื่นสุดในตลาดนานดีก็คือโรตีไส้ต่าง ๆ ไม่ว่าไส้กะหรี่ไก่ หรือกะหรี่แกะ มีวางขายเป็นห่ออวบๆ ทั่วไปหมด ที่สำคัญคือราคาเพียง 1.50 ดอลล่าร์ฟิจิ หรือ 22 บาทเท่านั้น

  โรตีแบบนี้มีทั่วตลาด

         “ถูกและดีแบบนี้.... นี่แหละอาหารกลางวันของเรา ...ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ผมเปรยกับตัวเองพร้อมปรี่เข้าไปซื้อมาทานแล้วพบว่ามีรสชาติที่อร่อยมากๆ

         ตลาดสดนานดีเป็นตลาดสะอาด ไม่ชื้นแฉะ และไม่มีกลิ่นเหม็นเลย นอกจากนี้ยังค่อนข้างแบ่งสัดส่วนได้ดี ผมเริ่มเดินสำรวจตลาดไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากโซนขายอาหารทะเลที่พบว่ามีแผงขายหอยแมลงภู่สดตัวเล็ก ๆ วางจัดลงเป็นจาน ๆ พร้อมเทขายได้ทันที ถัดไปเป็นแผงขายปูทะเลสดตัวขนาดกลางๆ ที่ถูกมัดไว้รวมกัน ปลิงทะเลตัวอวบอ้วนนอนอยู่ไม่ไกล และที่ผมสนใจมากๆ คือสาหร่ายหลากชนิดที่มีทั้งชนิดที่เป็นเส้นยาวๆ ชนิดที่เป็นใบ และชนิดที่เป็นเมล็ดๆ อย่างที่เรียกว่าสาหร่ายองุ่นพวง หากเรากระซิบถามพ่อค้าแม่ขายว่าเอาไปปรุงอาหารกันอย่างไร ก็จะได้คำตอบง่ายๆ ซ้ำๆ กันว่า “ก็แค่เอาไปต้มกับน้ำกะทิไง”

แผงหอยแมลงภู่
แผงปูน้อย (ไม่) หนีบมือเพราะมัดอย่างดี
สาหร่ายพวงองุ่น

          จากประสบการณ์เดินทางในแถบแปซิฟิกใต้มาเมื่อคราวก่อนๆ นั้นผมพบว่าอาหารในภูมิภาคนี้ทำง่ายมากๆ ครับ และส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำกะทิ” ที่ใช้ต้มหรือคลุกเคล้ากับเนื้อกุ้ง ปลา ปู หอย รวมทั้งสาหร่าย พร้อมปรุงรสด้วยเกลือเม็ด น้ำมะนาว และหอมแดง ผมเคยทานมาแล้วหลายครั้ง และหากจะลองเปรียบเทียบได้กับเมนูอาหารไทยก็อาจกล่าวได้ว่ามีความคล้ายกับต้มข่าไก่ที่ไม่ใส่ข่า

          โซนต่อมาที่กินพื้นที่ใหญ่หน่อยก็คือโซนขายพืชมีหัวจำพวกหัวเผือกหัวมันนานาชนิด แหล่งคาร์โบไฮเดรตสำคัญของชาวเกาะแปซิฟิกคือพืชมีหัวเหล่านี้ และภูมิภาคนี้ส่วนมากตั้งอยู่บนแนวภูเขาไฟปะทุจึงได้รับแร่ธาตุบำรุงดินจากลาวา ส่งผลให้พืชมีหัวเหล่านี้เติบโตได้ขนาดใหญ่มากๆ ดังนั้นอย่าตกใจถ้าเห็นหัวมันขนาดครึ่งค่อนแข้งวางขายอยู่นะครับ

โซนพืชมีหัว (ขนาดใหญ่มาก ๆ)
ลูก Soursop หรือ Graviola หรือทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนแขก

        ถัดจากพืชมีหัวก็จะเป็นโซนผักผลไม้ ที่ดูคุ้นๆ ไม่ว่าพริกหลากสี แตงโม ส้ม สับปะรด มะละกอ มะพร้าวที่มีทั้งแบบเผาและไม่เผา ฯลฯ สำหรับผมนั้น ผมชอบดูกล้วยของแปซิฟิกมากครับ กล้วยในภูมิภาคนี้มีหลากหลาย ทั้งสีเขียว แดง เหลือง และผลที่มีขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋วจนใหญ่เท่าแขน และวันนั้นมีผลไม้หนึ่งชนิดที่มีป้ายภาษาอังกฤษระบุไว้ว่าชื่อ Soursop หรือ Graviola ซึ่งเป็นลูกสีเขียวแก่มีหนามอ่อนบนผิว เนื้อในนั้นสีขาวและมีรสหวาน ผมเคยเห็นผลไม้ชนิดนี้ขายอย่างกลาดเกลื่อนในแถบประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ผมเพิ่งทราบว่าที่ฟิจินั้นก็เป็นที่นิยมด้วย ต่อมาเมื่อผมได้มีโอกาสค้นคว้าผมจึงทราบว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับน้อยหน่า และเราก็นิยมปลูกกันที่ภาคใต้ของไทย โดยเราเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่าทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนแขก

         อีกโซนที่น่าสนใจและเป็นโซนใหญ่กินพื้นที่ของตลาดไปไม่น้อยเลยคือโซนที่ขายคัฟวา (Kava) หากเห็นโซนนี้จะตกใจนิดหน่อยว่ามันคืออะไรดูคล้ายๆ รากไม้สมุนไพรอะไรสักอย่างที่นำมาวางกองขายกันอย่างเอิกเกริก

คัฟวา (Kava)

        คัฟวาเป็นพืชที่ได้รับความนิยมมากๆ ในแถบแปซิฟิก และนำมาทำเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าคัฟวาเช่นเดียวกัน คนแถบนี้ติดคัฟวากันงอมแงมชนิดที่ว่าดีใจก็ดื่มคัฟวา เสียใจก็ดื่มคัฟวา แขกไปใครมาก็รับรองด้วยคัฟวา และหากไปลองค้นดูวิดีโอภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไว้เมื่อคราวที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธ ที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนฟิจิเมื่อปี ค.ศ. 1982 นั้น ก็จะพบวิดีโอหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญเมื่อรัฐบาลฟิจิได้จัดพิธีทำคัฟวาถวายเพื่อเป็นพระสุธาราสทรงดื่มในพิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการ

         คัฟวาเป็นพืชตระกูลมีหัวที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pepper Methysticum ก่อนจะกินได้นั้นต้องนำรากมาสับและทุบให้ละเอียดบนแผ่นหิน ก่อนที่จะนำน้ำสะอาดมาราดลงไปแล้วโกยทั้งหมดโดยลงห่อผ้า เมื่อบิดห่อผ้านั้นก็จะได้น้ำสีโคลน ๆ ออกมา ดูไม่น่ากินเลย และหากสังเกตดีๆ ก็จะพบคำว่า Pepper ในชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ซึ่งนั่นเป็นตัวชี้ว่าทำไมน้ำคัฟวาจึงมีรสเผ็ดปะแล่มๆ ออกเผ็ดคล้ายพริกไทย เมื่อดื่มเข้าไปตอนแรกๆ จะมีอาการลิ้นชา ปากชา บางทีรู้สึกเหมือนปากแข็งลิ้นแช็งไปเลย แต่พอจิบไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเคลิบเคลิ้มล่องลอยประหนึ่งว่าไปปุ๊นมา...... ทีนี้พอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมมันถึงฮิตกันนัก

         ผมเคยถามชาวแปซิฟิกใต้ไม่ว่าพนักงานโรงแรม ไกด์ หรือ Dive Master ที่นำดำน้ำว่าเสร็จงานวันนี้แล้วพวกยูไปไหนกัน? คำตอบที่ผมได้เสมอๆ คือ “ไปดื่มคัฟวาที่ Kava Bar

        ที่ผมอธิบายได้เป็นหลายต่อหลายบรรทัดก็เพราะว่าผมก็เคยไปลองดื่มคัฟวาจากคัฟวา บาร์ ที่มีอยู่มากมายในประเทศแถบนี้ และผมก็ผ่านอาการลิ้นชา  ปากชา จนเคลิ้มเบาๆ มาแล้ว แต่ส่วนตัวผมก็ไม่ชอบคัฟวาเลยนะครับ สีโคลนๆ ของมันดูไม่น่าดื่มเลย และรสพริกไทยของมันนั้นแย่เอามากๆ ผมเลยเลือกดูคนอื่นดืมมากกว่า

          ผมได้มีโอกาสไปดูชาวเผ่าที่เกาะเอสปิริตู ซานโตส (Espiritu Santos) ในประเทศวานอาตูสาธิตการทำคัฟวาให้ชม ผมเลยนำภาพนี้มาประกอบกับเรื่องในวันนี้นะครับ

วิธีทำคัฟวา (ภาพนี้ถ่ายที่วานูอาตู แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของแปซิฟิก รวมทั้งฟิจิ)

         อ้อ... แลวหากใครไปเที่ยวที่นี่แล้วติดใจอยากขนคัฟวากลับบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบผงคัฟวาพร้อมชง หรือเป็นน้ำคัฟวาพร้อมดื่มบรรจุขวดมาแล้วเรียบร้อย ผมเสนอว่าควรตรวจสอบข้อกฏหมายให้ดีๆ นะครับ เพราะผมคิดว่ามีหลายประเทศไม่อนุญาตให้นำสินค้าประเภทนี้เข้าประเทศ อย่างน้อยก็คือประเทศใกล้ๆ เขาอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

         หลังจากผมเดินเรื่อยๆ เล่นๆ สัมผัสบรรยากาศตลาดเมืองนานดีไปครึ่งค่อนวัน ผมก็คิดว่าถึงเวลาที่จะกลับโรงแรมเสียที ผมกลับไปอุดหนุนโรตีห่อแกงกะหรี่ไก่ชิ้นอวบราคา 22 บาทหรือ 1.50 ดอลล่าร์ฟิจิกลับไปเป็นอาหารเย็น รถเมล์ Westbus สีเหลืองรอผมอยู่ที่ท่ารถเพื่อพาผมมาส่งโรงแรมหรูในราคา 1 ดอลล่าร์ฟิจิเช่นขามา

         ตอนที่ผมนั่งรถกลับมานั้น ผมคิดในใจว่า ถ้ามีโอกาสมานานดีอีก คราวนี้คงต้องอยู่นานๆ ถึงจะดี คราวนี้มันรีบไปนิดนึง..... ไว้เจอกันใหม่นะนานดี

 

Story by โลจน์ นันทิวัชรินทร์

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS