แวะชิม “โกโก้” ที่ “กานา”
ลุงครับ หากแวะได้...ช่วยแวะด้วยผมขอร้อง ผมอยากชิมจริงๆ
ขณะนี้ผมและพี่ๆ น้องๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในประเทศกานา (Ghana) นะครับ และรูปการเที่ยวแบบที่พวกเราติดใจเสียแล้วก็คือการเที่ยวแบบ “หากแวะได้....ช่วยแวะด้วย” ซึ่งหมายถึงว่าพวกเราพร้อมจะทำอะไรเลยเถิดนอกกำหนดการอย่างไม่ลังเลหากเราพบว่าข้าง ๆ ทางนั้น (ดัน) มีของดีที่น่าดูรอเราอยู่ และพวกเราได้กระซิบนโยบายการท่องเที่ยวนี้ไว้กับลุงโคฟี่ (Kofi) ไกด์ใจดีที่ควงคู่มากับลุงตีตี้ (Teetee) คนขับรถคู่ใจ
“ได้.... จะแวะไหนก็บอกลุงได้เลยนะ แต่นั่นหมายถึงว่า เราอาจต้องตัดบางรายการออกไปเพื่อทดแทนกับการจอดแวะระหว่างทางเป็นช่วงๆ นะ จะยอมแลกหรือเปล่าล่ะ?” ลุงโคฟี่ขอเคลียร์ ซึ่งเราเข้าใจและยอมแลกแต่โดยดี
และบ่ายวันนั้น บนเส้นทางจากเมืองเอลมินา (Elmina) ไปยังวนอุทยานแห่งชาติคาคุม (Kakum National Park) รถตู้ของเราก็วิ่งผ่านสวนโกโก้ขนาดใหญ่ จนเราต้องขอให้ลุง....
“จอดครับ จอด จอด จอด..... หากแวะได้ช่วยแวะด้วยครับลุงโคฟี่ ลุงตีตี้”
และถ้าหากผมเป็นเจ้าของสวนโกโก้คนนั้น ผมคงจะตกใจไม่น้อย เมื่อรถตู้คันหนึ่งเบนออกจากถนนเพื่อวกเข้ามาจอดเอี๊ยดเลียบสวนโกโก้ของเขา และเมื่อประตูเปิดออกอย่างฉับพลันทันใดก็มีคนหน้าแปลก ๆ เหมือนโก๋ ตี๋ กี๋ หมวย 4 คนวิ่งลงมาพร้อมกล้อง DSLR บ้าง กล้อง GoPro บ้าง รวมทั้งมือถือสุดฟรุ้งฟริ้งบ้าง โดยมีลุงโคฟี่จ้ำพรวด ๆ ตามมาด้วยกัน
“ไหนครับ? ผลโกโก้อยู่ไหนครับ? อยากเห็นผลสดๆ มากเลยครับ” พวกผมดูดี๊ด๊ากระตือรือร้นกันเป็นพิเศษ
การแวะสวนโกโก้ในประเทศกานานั้นเรียกได้ว่าเป็นความฝันของพวกผมเลยทีเดียว เราทั้ง 4 คนเป็นคนกินชอคโกแลต “ดุเดือด” มาก แทบทุกคนกินชอคโกแลตกันทุกวัน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของชอคโกแลตแท่ง เครื่องดื่มชอคโกแลต เค้กชอคโกแลต อะไรก็ได้ที่เป็นชอคโกแลต เราพร้อมกินเสมอ และเราเคยได้ยินมาว่ากานาผลิตโกโก้คุณภาพดีที่สุดในโลก หากสังเกต Premium Chocolate ที่วางขายในร้าน Chocolatier หรูๆ สัญชาติดัทช์ สวิส หรือเบลเยี่ยมนั้น เชื่อได้เลยว่าต้นกำเนิดของโกโก้ที่นำมาผลิตเป็นชอคโกแลตนั้นมาจากกานา
ก่อนหน้านี้เราได้ถามคำถามนี้กับลุงโคฟี่เพื่อให้ช่วยยืนยันว่าโกโก้กานานั้นเจ๋งจริงๆ นะ
“ใช่ ใช่ ใช่.... พวกยูเข้าใจถูกต้องแล้วว่าโกโก้เราดีที่สุดในโลก โกโก้กานาคว้าแชมป์ทุกปีในการประกวดโกโก้เวทีคุณภาพระดับโลก เรียกได้ว่าครองแชมป์จนเขาไม่อยากจะเชิญกานามาประกวดล่ะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ลุงโคฟี่เล่ารัวๆ อย่างภูมิใจ เรียกเสียงฮือฮาจากเรา
ลุงโคฟี่เองก็เติบโตในไร่โกโก้ ลุงเล่าว่าลุงชอบไปสวนเพื่อ ไปสอยผลโกโก้มากินสดๆ เพราะเนื้อขาวๆ นุ่มๆ ของมันหวานหอมอร่อย
“ลูกสดๆ ก็กินได้เหรอครับ?” ผมชักสนใจ
“ได้สิ อร่อยด้วย เคี้ยวทั้งเม็ดเลย มันจะมีกลิ่นโกโก้อ่อนๆ ด้วย” ลุงยืนยัน “แต่กว่าจะมาเป็นชอคโกแลตนั้น ขั้นตอนยังมีอีกมากมายเลยนะ”
และนั่นคือที่มาของการ “หากแวะได้...ช่วยแวะด้วย” เพื่อบุกสวนโกโก้แบบด่วนๆ ทันทีที่เห็นไร่โกโก้ที่ไหนก็ได้เป็นที่แรก เซียนชอคโกแลตอย่างพวกเราเองก็อยากเห็นต้นโกโก้ อยากจับผลโกโก้ และอยากลองกินโกโก้สดพร้อมเม็ด แบบที่ลุงเล่าให้ฟังบ้าง
ในไร่อันร่มรื่น เจ้าของใจดีให้เราเดินดูต้นโกโก้ได้ตามสบาย เราเห็นดอกโกโก้ ผลโกโก้ตั้งแต่อ่อนจนสุก ลานปอกโกโก้ ที่บ่มโกโก้ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง และได้ลองโกโก้สดๆ สมใจ
“หนิงว่าเนื้อเหมือนกระท้อน อร่อยดี” น้องหนิงคอมเมนท์ ซึ่งพี่นน น้องอ๊อบ และผมก็คิดเหมือนน้องหนิง เนื้อขาว ๆ ที่หุ้มเมล็ดนั้นให้ความรู้สึกเหมือนกระท้อน แต่มันยังห่างไกลจากชอคโกแลตที่เราเคยกินอย่างไกลโพ้น และผมก็ไม่ได้กลิ่น “โกโก้อ่อนๆ” อะไรอย่างที่ลุงว่าเลย แต่มันกลายเป็นรสหวานปนขมแปลกลิ้น
เมื่อออกจากสวนแล้ว ลุงโคฟี่สอดส่ายสายตาหาโรงงานผลิตเม็ดโกโก้เป็นเป้าหมายต่อไป และเราก็เจอสถานที่ดังกล่าวพร้อมเม็ดโกโก้ตากแห้งอยู่เต็มลาน และเราก็ต้องขอให้ลุง “หากแวะได้...ช่วยแวะด้วย” กันอีกครั้ง
จากผลโกโก้ เม็ดโกโก้นั้นต้องนำมาตากแดดอยู่อีกนานนับสัปดาห์เพื่อให้แห้งได้ที่ และกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่กานายังยืนยันที่จะใช้เพียงการตากแดดเท่านั้นในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกโกโก้รายอื่นๆ ในแถบแอฟริกา อย่าง โก๊ต ดิวัวร์ (Côte d’Ivoire) จะหันไปใช้การอบเพื่อเร่งการผลิต แต่...
“ที่กานานั้น เราจะตากแดดอย่างเดียว และนี่คือสาเหตุที่โกโก้เราครองคุณภาพอันดับหนึ่งมาตลอด” ลุงโคฟี่แอบเผยความลับ
และเมื่อเม็ดโกโก้ที่ตากจนแห้งสนิทจำนวนหนึ่งอยู่ในมือเรา เมื่อกระเทาะเม็ดออก ข้างในมีอะไรบางอย่างเป็นเนื้อกึ่งแข็งกึ่งนุ่มสีดำสนิท และเมื่อได้ลิ้มรส มันเหนือนชอคโกแลตบาร์ที่เขียนไว้บนห่อว่า 100 % Cocoa คราวนี้ผมได้ทั้งกลิ่นและรสโกโก้แล้ว.... และมันมาแบบเต็มๆ
ที่สำคัญ... ผมเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของผลไม้หน้าตาคล้ายมะละกอ เนื้อคล้ายกระท้อน เม็ดคล้ายกาแฟ แต่เป็นสิ่งที่นำอาหารอร่อยมาให้ผมทานได้ทุกวันอย่างชอคโกแลต.... แต่มันมีชื่อว่า “โกโก้” อ้อ..... แล้วผมเริ่มเชื่อลุงโคฟี่แล้วว่าโกโก้กาน่าเป็น World’s Number One อย่างแท้จริง
สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับพวกผมก็คือเกษตรกรชาวกานา ผู้ปลูกโกโก้ หรือเด็กๆ ชาวกานาจำนวนมากไม่เคยลิ้มลองชอคโกแลตเลยในชีวิต และเขาไม่รูว่าปลายทางของโกโก้คุณภาพที่มาจากสวนของพวกเขานั้นมันวิเศษขนาดไหน
จากสวนโกโก้ เรามุ่งหน้าต่อไปเรื่อยๆ และแล้ว.....“จอดครับ จอด จอด จอดครับลุงโคฟี่ ลุงตีตี้... หากแวะได้ช่วยแวะด้วยครับ” เสียงผมดังขึ้นอีกครั้งเมื่อผมเห็นไร่ปาล์มที่มีต้นปาล์มต้นใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งโค่นล้มลง ผมเชื่อว่าเขากำลังสกัดน้ำหวานจากต้นปาล์มจากต้นเพื่อนำไปบ่มทำเหล้าแน่ๆ และพวกเราก็น่าจะแวะไปดูกันเสียหน่อย
ลุงโคฟี่กับลุงตีตี้เกาหัวแกรกๆ ที่ลูกทัวร์คณะนี้แวะเรื่อยแวะเปื่อยกันบ่อยจริงๆ แต่ก็ยินดีที่จะจอดให้เราลงไปดูอย่างที่อยากเห็น..... ขอบคุณนะครับลุง
ปาล์มต้นใหญ่ที่ถูกโค่นล้มลงนั้นเป็นปาล์มที่ให้ผลผลิตและหมดอายุขัยแล้วเรียบร้อยแล้ว ผลปาล์มนั้นนำมาหีบเพื่อทำน้ำมันปาล์ม ส่วนตันนั้น สามารถทำประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยเฉพาะการกรีดเนื้อปาล์มเพื่อปล่อยให้น้ำรสหวานไหลออกมาก่อนนำไปบ่มเพื่อผลิต Palm Wine หรือเหล้าชนิดอื่นๆ
ลุงโคฟี่รับหน้าที่เจรจาขออนุญาตจากเจ้าของสวนใจดีและก็ได้รับอนุญาตเช่นครั้งก่อนๆ พร้อมกับที่เจ้าของสวนมาพาพวกเราไปเดินดูกรรมวิธีการผลิตด้วยตัวเองเลยทีเดียว
ชาวสวนจะฝานเนื้อปาล์มออกและเจาะรูเพื่อให้น้ำไหลออกลงมารวมกันในถังที่เตรียมไว้ น้ำปาล์มสดๆ ที่ได้จะมีสีขุ่นขาว แต่รสหวาน หอม และอร่อยมากๆ ผมคิดว่ารสชาตินั้นคล้ายๆ กับน้ำตาลสดเลยทีเดียว
ปาล์มต้นใหญ่ให้ปริมาณน้ำได้เยอะมาก ดังนั้นแต่ละวัน คนงานก็จะต้องหมั่นมาตรวจสอบว่าถังที่รองไว้นั้นเต็มหรือยัง น้ำปาล์มที่ได้ก็จะแบ่งขายสดๆ หรือนำมาเพื่อผลิตเป็นเครื่องดื่มหลากชนิด
หากนำมาบ่มให้พอเกิดฟองเป็นแอลกอฮอล์ต่ำๆ สัก 10 – 12 เปอร์เซนต์ สิ่งนั้นก็จะเรียกว่า Palm Wine สีขาวขุ่นที่พี่น้องชาวกานามักนำมาดื่มกันจากถ้วยที่ผลิตจากผลฟักแห้ง แต่ถ้าบ่มต่อไปและนำมากลั่น ก็จะได้เหล้าใสไร้สีที่มีแอลกอฮอล์สูงถึง 40 %
อุปกรณ์การหมัก ต้ม กลั่น และสกัดนั้นก็ทำง่ายมากๆ นั่นคือหมักในถังพลาสติกสีฟ้า (แบบถังรองน้ำฝน) จนเกิดฟองและกลิ่นแอลกอฮอล์ฉุนๆ จากนั้นนำของเหลวที่ได้มาต้มในหม้อที่ทำจากถังน้ำมันเก่าบนเตาดินโดยใช้ฟืน ก่อนจะใช้สายยางนำไอระเหยผ่านน้ำในเย็นบ่อซีเมนต์ให้ควบแน่นกลับมาเป็นเหล้า
สารภาพว่าตอนแรกที่เห็นอุปกรณ์การผลิตนั้นพวกเราแอบมีอาการจังงังเล็กน้อย และเกร็งๆ กลัวๆ ว่าจะลองดื่มเหล้าที่เขาเอามาเสิร์ฟดีหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ลองกันไปคนละนิดละหน่อยและพบว่า “อืม.... ก็โอเคนะ”
Palm Wine นั้นหวาน ๆ และมีกลิ่นแอลกอฮอล์บางๆ ที่ชิมแล้วมึนเพียงเบาๆ ส่วนเหล้าใสนั้นชิมแล้วก็ต้องร้องจ๊ากออกมาทันทีเพราะว่าเข้มมากๆ และบาดคอมากๆ แต่
“ขอเติมอีกหน่อยได้ไหมครับ? พอดีจิบไปจิบมามันก็เพลินๆ ดีเหมือนกัน ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า...... เอิ๊ก เอิ๊กส์”
เพื่อไม่ให้ถลำลึกไปกว่านี้ เราคิดว่าถึงเวลาต้องร่ำลาเจ้าของสวนปาล์มใจดีเพื่อออกเดินทางต่อไปอีกครั้งแล้วล่ะ
“คราวนี้แวะไม่ได้และไม่แวะให้ด้วยแล้วนะ วันนี้ยังต้องไปอีกไกล เดี๋ยวจะเสียเวลาไปเยอะ” เสียงลุงโคฟี่กับลุงตีตี้ดังหงุงหงิงอยู่แว่วๆ ไกลๆ แต่ไม่มีใครตอบ
พวกผมขอหลับกันก่อนนะคร้าบลุง.... เจอแอลกอฮอล์จากต้นปาล์มไปหลายขนาน คราวนี้คงไม่ต้องแวะแล้วล่ะครับ... คร่อก ฟี้
ขอขอบคุณภาพจาก
ดวงฤทัย พุ่มชูศรี Facebook Ning’s Homemade
นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี
Story by โลจน์ นันทิวัชรินทร์