HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
พระตำหนักปลายเนิน โบราณสถานสำคัญในวันที่อาคารสูงรุกคืบ
by Veen T.
5 พ.ย. 2561, 04:42
  7,954 views

        สถานีรถใต้ดิน เอ็มอาร์ที คลองเตยในปัจจุบัน ถือเป็นทำเลทองที่การคืบคลานของเมืองขยายต่อเนื่องมาจากสาทร และถนนพระรามสี่ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปหนึ่งศตวรรษที่แล้ว บริเวณนี้คือชานเมืองที่ช่างห่างไกลจากพระนคร อากาศดี มีความร่มรื่น จึงไม่แปลกที่ถูกพระทัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จนมีพระประสงค์ที่จะสร้างพระตำหนักและประทับที่นี่ อันนำมาสู่ตำหนักไทยไม้สักทอง ที่ประทับ เป็นภาพจำของพระตำหนักที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมในวันครบรอบวันประสูติของพระองค์ในงานวันนริศ ตรงกับวันที่ 28 เมษายนของทุกปี

        ท่านประทับที่ตำหนักมาจนช่วงปัจฉิมวัยของท่าน จึงมีการสร้างตำหนักใหม่ ที่ทายาทวังปลายเนิน เรียกขานกันว่า “ตำหนักตึก” เป็นตึกสองชั้น ซึ่งประทับเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ในห้องบรรทมบนชั้นสอง ในวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช  2490 ตำหนักตึกแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันเป็นที่เก็บพระอัฐิของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ  “สมเด็จครู” แล้วยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่เก็บงานของท่านทุกชิ้น สมบัติวัตถุตลอดช่วงเวลาของการทรงงาน ซึ่งยาวนานถึงสี่รัชกาล

ตำหนักตึก ที่ประทับ“สมเด็จครู”

       ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ พระทายาทรุ่นที่ 3 ของราชสกุลจิตรพงศ์ อธิบายถึง “งาน” ของสมเด็จครูว่า “กระดาษทุกแผ่นที่ท่านทำงาน ท่านเก็บอย่างดี พระทายาทเก็บสงวนไว้ไม่ให้เสียหาย  ท่านมัธยัสถ์มาก เวลาที่ท่านมีความคิดเกิดขึ้น ท่านคว้าเอากระดาษที่ใกล้มือ แม้แต่ซองจดหมายที่เปิดอ่านแล้วที่มีที่ว่างท่านก็เขียน จากนี้ไปเป็นแบบร่างของผลงานจริงขยายมาถึงรูปต้นแบบและตัวงานจริงที่นำเสนอ”

 

        หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะของสี่แผ่นดินดังกล่าว ได้รับการเก็บรักษาทุกชิ้น อยู่ที่ตำหนักตึก ซึ่งทางทายาทใช้เวลาศึกษากระดาษ และงานทุกชิ้น เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานมาก เพราะจะมองข้ามกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ได้เลย ถึงกระนั้นก็ตามพระทายาทรุ่นเหลนอย่าง ม.ล.อนุวาต ไชยันต์ หรือคุณโต้ง และ ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ หรือคุณแว๋ว ก็บอกว่าในขณะที่ทำการศึกษาจัดระเบียบก็ยังเจองาน ของท่าน ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน ที่ทำให้ต้องร้อง “ว้าว” อยู่เสมอ ๆ

         ความคิดริเริ่มในงานอนุรักษ์โบราณวัตถุที่บ้านปลายเนินให้คงอยู่ได้นานและเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้นต้องใช้เวลา และทำอย่างละเอียด เพราะตลอดเวลาที่สมเด็จครูทรงงาน พระกรณีกิจของท่านอยู่ในทุกแขนงของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ศิลปกรรม ออกแบบ ด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ และการละคร

         งานของสมเด็จครูเหล่านี้นี่เอง ที่ทายาท นำมาแสดงให้ประชาชนได้ศีกษาและชื่นชม ในการเปิดวังปลายเนินทุกปี ซึ่งมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกปี “อันนี้คือสมบัติวัตถุ ในเวลาวันที่เรามีงาน วันนริศเราให้ลูกหลานสรรหาศิลปะ แสดงที่ห้อง “ทรงเขียน” หรือห้องทรงงาน ตัวอย่างฝีพระหัตถ์แท้ ๆ ซึ่งจะเปลี่ยนไปทุกปี หมุนเวียน ฝีมือของท่าน คนที่เข้ามาในงานจะมุ่งหน้ามาที่ห้องนี้เลย” คุณชายจักรรถ เผยความในใจว่าอยากจะให้ประชาชนชาวไทยทั้งปวงตระหนักว่าที่นี้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ บ้านของท่าน พระตำหนักที่อาศัยอยู่ ท่านไม่ใช่คนของคนไทยเท่านั้นแต่ยังบุคคลสำคัญของโลกเป็นคนของโลก

        “เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราต้องเอาใจใส่กับประวัติและสิ่งที่ท่านออกแบบไว้ ตำหนักของที่ท่านอาศัยอยู่” คุณชายจักรรถกล่าวเน้น

  ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ กราบพระบรมอัฐฐิ 

ภัยใกล้ตัวจากอาคารสูง

         ความพยายามที่จะส่งต่อมรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่คนทั่วไปมีมาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันทางพระทายาทกำลังบูรณะตำหนักไม้ สีทองของไม้สักทองเหลืองอร่ามกระทบแดด ล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นที่เคยเป็นที่วิ่งเล่นของลูกหลานในราชสกุลจิตรพงศ์และเครือญาติ การบูรณะเตรียมพร้อมต้อนรับคนรักศิลปะในวันนริศฯ ปีหน้า การซ่อมแซมพระตำหนักอายุขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องหาช่างที่เข้าใจสถาปัตยกรรมไม้ ซึ่งงานนี้ทายาทรุ่นที่  4 คุณแว๋ว ซึ่งเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นหนึ่งในหัวหอกในงานนี้ ทางราชสกุลใช้จังหวะนี้ในการสร้างอาคารเพิ่มเติมในการรองรับแนวคิดพิพิธภัณฑ์ในอนาคต เช่นการสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้เข้าชมโดยมีทีมสถาปนิกอนุรักษ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ทำงานร่วมกับรุขกรนักออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ภูมิสถาปนิกและวิศวกรงานระบบระบายน้ำ  ทุกคนตั้งใจที่จะทำให้เสร็จพร้อมจัดงานวันนริศในปี พ.ศ. 2562 

        แต่ทว่าในขณะนี้ ความกังวลและหนักใจหลักของทายาทวังปลายเนินอยู่ที่โครงการตึกสูงที่จะมาสร้างจ่อพระตำหนักในทิศที่ตั้งของ ตำหนักตีก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำหนักไทยเพราะตัวตึกมีอายุกว่า 80 ปี แล้ว ในการขึ้นตึกสูงถึง 36 ชั้น ในระยะห่างจากตัวตึกเพียง  20 กว่าเมตร จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน อาจทำให้พระตำหนักแตกร้าว หรือพังลง หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น คงเป็นยากลำบากที่จะซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิม ของโบราณที่มีอยู่จะเสื่อมไปต่อหน้าต่อตาลูกหลาน

        “เขาไม่ได้ติดต่อตรงกับเรา เราทราบเรื่องที่เขาจะสร้างคอนโดก็เมื่อเดินไปเห็นมีการล้อมรั้วและติดป้ายหน้าโครงการแล้ว” คุณชายจักรรถ กล่าว

        ในขณะนี้ทางวังปลายเนินได้แจ้งกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างตึกสูงขนาดนี้ประชิดตัววัง นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้น อาคารสูงขนาดนี้จะบดบังทัศนียภาพของทางวังในทิศนั้นเกือบหมด ยังไม่รวมถึงเรื่องฝุ่นและมลพิษที่จะเกิดขึ้นกับศิลปวัตถุอายุร่วมร้อยปีที่จัดเก็บ รอจัดแบ่งหมวดหมู่ที่เก็บไว้ที่ตำหนักตึก

        ขณะนี้ที่ทางทายาทมีงานด้านบูรณะตำหนักไม้ และงานจัดระเบียบงานและศิลปวัตถุ ของสมเด็จครู ซึ่งเป็นสมบัติชาติ ก็ยังต้องตามลุ้นและเกาะติดกับสถานการณ์ของการขออนุมัติอาคาร  36 ชั้น ทางวังปลายเนิน ได้แจ้งความจำนงค์ไปแล้วหลังการประชุมของทายาทว่า มีจุดยืนที่แน่นอนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ทั้งนี้ทายาททุกรุ่นตระหนักดีว่าพระตำหนักต้องดูแลด้วยลูกหลาน ทั้งที่อันที่จริงแล้วสถานที่สำคัญต่อประวัติศาวตร์ชาติไทยขนาดนี้ น่าจะได้รับการปกป้องจากบ้านเมือง

        “ผมเสียใจ ถ้าเขามาคุยกับเราก่อน ก่อนที่จะลงทุนมหาศาล ซื้อที่ดินเราอาจจะพูดให้เขาเข้าใจได้”

ABOUT THE AUTHOR
Veen T.

Veen T.

Ex-lifestyle editor who's all about the slow-life vibe and still trying to nail it

ALL POSTS