วิถีชุมชน จุดหมายจัดประชุมแนวใหม่
วิถีชุมชนไม่ใช่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่กำลังจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับจัดประชุมหรือเอ้าท์ติ้งอีกด้วย
จากแคมเปญ "ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ" กระตุ้นให้หน่วยงานภาคเอกชนจัดงานประชุมสัมมนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชา ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการ "ไมซ์ชุมชน" คัดเลือก 37 สหกรณ์นำร่องทั่วทุกภาคเป็นสถานที่รองรับกลุ่มการประชุม ฝึกอบรม จัดกิจกรรมเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และกิจกรรมซีเอสอาร์ โดยจะมีการจัดทำคู่มือให้องค์กรธุรกิจ สถาบันและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เลือกเป็นจุดหมายใหม่สำหรับวางโปรแกรมการจัดกิจกรรมได้หลากหลาย ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ บอกว่า โครงการไมซ์ชุมชนเป็นการส่งเสริมการจัดกิจกรรมไมซ์แนวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะส่งผลดีหลายด้าน นอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ประสบการณ์จากการสัมผัสวิถีชุมชนที่แตกต่างหลากหลายทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของเกษตรกร รวมไปถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นแล้ว ยังเป็นกลไกช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นโดยเฉพาะเมืองรองและชุมชนเล็กๆ อีกด้วย
ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็มีโอกาสขยายธุรกิจชุมชนมากขึ้นผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับองค์กรธุรกิจต่างๆ ตลอดจนการแบ่งปันความรู้และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนด้านการบริหารจัดการ การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
ด้านพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบายว่า เบื้องต้นได้คัดเลือก 37 สหกรณ์นำร่องที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมรองรับกิจกรรมไมซ์ โดยประเดิมที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองขึ้นชื่อ และยังเป็นศูนย์เรียนรู้ตาลโตนดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ
สหกรณ์นำร่องแต่ละแห่งจะมีความเข้มแข็งทั้งการบริหารงาน ทำธุรกิจที่เอื้อต่อเกษตรกรมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมไมซ์ และสินค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดได้ รวมถึงความเข้าใจของเกษตรกรในการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนกลุ่มต่างๆ ด้วย
ศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่าวว่า กล้วยหอมทองถือสินค้าเด่นของบ้านลาด มีผลผลิตออกจำหน่ายวันละ 3-4 ตัน จำหน่ายให้กับร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น และส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นเป็นมูลค่าปีละ 20 ล้านบาท
ไม่เพียงกล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรูปจากกล้วยหอมเท่านั้น สหกรณ์ฯ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากกล้วยหอมทอง อาทิ สครับผิว และเซรัม ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจากอาหารและยา
นอกจากจะได้ชมโรงงานบรรจุและแปรรูปกล้วยหอมทองแล้ว สวนตาลลุงถนอม เป็นอีกจุดหมายที่ไม่ควรพลาดชม เพราะถือเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนดแห่งแรกและแห่งเดียวในปัจจุบัน กว่า 20 ปีที่ลุงถนอม ภู่เงิน อดีตกำนันตำบลถ้ำรงค์ บุกเบิกสวนตาลแทนพืชล้มลุกที่เสียหายจากน้ำท่วมทุกปี วันนี้ ตาลโตนด 450 ต้น บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ยืนตระหง่านเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบแบบสวนผลไม้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นับวันจะหาดูได้ยากเต็มที
อำนาจ - ลูกชายลุงถนอมที่สืบทอดอาชีพสวนตาล ทำหน้าที่เป็นทั้งวิทยากรบรรยาย และสาธิตขั้นตอนการทำตาลโตนดที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก เช่น การบีบงวงตาล วิธีผูกงวงตาลเข้าด้วยกัน การนวดงวงตาล และการปาดงวงตาล ไปจนกระทั่งการเคี่ยวน้ำตาลเพื่อทำน้ำตาลโตนดซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ใช้เวลานานมากร่วม 3 ชั่วโมงต่อ 1 กระทะ
ช่วงในการทำน้ำตาลอยู่ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม หรือประมาณ 5 เดือน ทำได้ทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย ปกติต้นตาลจะสามารถทำน้ำตาลโตนดได้ต้องอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป อยู่ในระยะแทงช่อดอกใหม่ ซึ่งไม้ที่ใช้นวดช่อ (จั่น) ที่เรียกว่า "ไม้คาบ" จะแตกต่างกัน ถ้าเป็นช่อดอกตัวผู้จะใช้ไม้คาบที่มีลักษณะแบบ ส่วนช่อดอกตัวเมียจะใช้ไม้คาบกลมและยาวกว่า
อำนาจ ยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังต้องใช้แรงงานคนขึ้นตาลซึ่งนับวันจะหายากขึ้นทุกที เพราะมีความเสี่ยง บางต้นสูงถึง 20 เมตรทีเดียว ฉะนั้น คนที่ใจรักจริงๆ เท่านั้นถึงจะยึดอาชีพขึ้นต้นตาลได้
สำหรับการส่งเสริมไมซ์ชุมชนนี้ ทีเส็บ จะรณรงค์ผ่ายเครือข่ายอนาคตไทยที่มีสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และภาคสังคมต่างๆ เชิญชวนให้เปิดประสบการณ์แปลกใหม่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ
โทร. 02 694 6000
STORY BY L.Patt