ทีเส็บ จับมือ ICCA จัดประชุมระดับโลกแบบยั่งยืน
ไทยเนื้อหอม ดึงสมาคมการประชุมนานาชาติ หรือ ICCA (The International Congress and Convention association) กลับมาจัดประชุมใหญ่ประจำปี (ICCA Congress) อีกเป็นครั้งที่ 3 ทีเส็บ ผนึกกำลัง ICCA กำหนดรูปแบบการจัดงานให้เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) พร้อมเตรียมประกาศแนวทางปฏิบัติสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของโลก หรือ Bangkok Protocol ด้วย
ทีมผู้บริหาร ICCA นำโดย เซนทิล โกพินาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมประชุมหารือและสำรวจความพร้อมของสถานที่จัดงาน โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทีเส็บ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ประจำปี 2566 ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2566
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า การประชุมใหญ่ประจำปีของ ICCA จะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไมซ์ไทยอย่างมาก เพราะเป็นเวทีการประชุมผู้นำองค์กรด้านการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติจากทั่วโลก ออกาไนเซอร์ PCOs (Professional Convention Organizer) ศูนย์การประชุมชั้นนำจากทั่วโลก รวมไปถึงหน่วยงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ถือเป็นโอกาสดีที่ทีเส็บ ด้วยความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร จะได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ผ่านแนวคิดและมุมมองใหม่สู่ประชาคมโลก พร้อมทั้งโชว์ให้เห็นความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ สถานที่การจัดงานใหม่ๆ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยทีเส็บคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน เป็นผู้แทนองค์กรจากต่างประเทศทั่วโลกไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 85 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทีเส็บ และ ICCA ยังร่วมกันออกแบบการจัดงานเพื่อความยั่งยืนโดยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆ อาทิ งดการพลาสติก การบริหารจัดการอาหารเหลือทิ้ง (Food waste management) Food Mileage หรือ การเลือกใช้วัตถุดิบประกอบอาหารในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดระยะทางในการขนส่งให้สั้นที่สุด ตลอดจนการให้ตั๋วรถไฟฟ้า MRT สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ขณะเดียวกัน ทีเส็บ และ ICCA ยังคำนึงถึงความเท่าเทียม ภายใต้คอนเซ็ปต์ Congress for All รวมทั้งการจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วย
ขณะที่ เซนทิล โกพินาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ICCA กล่าวว่า การมาสำรวจความพร้อมของไทยครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยเป็นสถานที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการประชุมนานาชาติได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชั้นนำระดับโลกหลายรายการ
ในปี 2575 กรุงเทพมหานครจะฉลองครบรอบ 250 ปี ขณะที่ กทม. กำลังดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง 20 ปี ภายใต้แนวคิด โครงการ "Bangkok Vision" เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งความรู้และการสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทุกคนเข้าถึงบริการ และมีความยั่งยืน การจัดประชุม ICCA Congress ครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในโครงการ Bangkok Vision ที่จะเปิดโอกาสให้ กทม. ได้แสดงวิสัยทัศน์ผ่านผู้นำองค์การจัดประชุมนานาชาติจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ICCA กำลังพิจารณาธีมในการประชุมใหญ่ประจำปี 2566 และจะประกาศในเร็วๆ นี้ แต่ในหลักใหญ่แล้ว จะมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน และความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน (Diversity and Inclusion: D&I) นอกจากนี้ นวัตกรรมไมซ์จะเป็นอีกหัวข้อสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยจะมีการประกาศแนวทางปฏิบัติร่วมกัน หรือ Bangkok Protocol
เซนทิล กล่าวอีกว่า ICCA กำลังมองหาระบบนิเวศใหม่ โดยจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนด้านการศึกษาในอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2023-2025 ICCA จะเน้นการดำเนินงานให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และขยายบทบาทลงไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อจะทำให้สมาชิกสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจและเพิ่มพูนความรู้ได้มากขึ้น
PHOTO Courtesy of FB ICCA