โปลิสน้อยแชทบอท ที่พึ่งหญิงเหยื่อความรุนแรง
อีกไม่นาน ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามจะมีเพื่อนหุ่นยนต์ PoliceNoi มาช่วย
แม้ว่า หลายหน่วยงานจะพยายามรณรงค์ปลุกกระแสต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น “บ้านไม่ใช่เวทีมวย…ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” แต่สถิติผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ถูกข่มขืน ทำร้ายร่างการหรือถูกฆาตกรรมยังเป็นปัญหาอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นข่าวพาดหัวตัวโตไม่เว้นแต่ละวัน ล่าสุดที่เป็นคดีสะเทือนขวัญก็คือ กรณีที่น้องเมย์ถูกอดีตแฟนหนุ่มฆ่าหั่นศพเมื่อเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากความหึงหวง
สารวัตรโอ๋ หรือ พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน เล่าว่า ปัญหาผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นภาพที่ติดมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเห็นข่าวหญิงสาวในสลัมถูกฆ่าข่มขืนในขณะที่แม่ออกไปตลาดตั้งแต่เช้ามืด แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำอย่างไรผู้หญิงในสังคมจึงจะปลอดภัย
ยุคนี้ ผู้หญิงก็ยังมีพื้นที่จำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกทำร้ายผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเงียบไม่กล้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เกรงจะถูกตราหน้าให้อับอาย ความกลัวเพราะถูกข่มขู่โดยคู่กรณี หรืออยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งไม่ทราบว่าตนมีสิทธิของตนที่จะดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในครัวเรือน เช่น คนรับใช้ในบ้าน
ผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็มี แต่เมื่อไปร้องทุกข์ก็จะไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่จากเจ้าพนักงานตำรวจโดยเฉพาะผู้ชายในการดำเนินคดีให้ แต่จะให้ประนีประนอมกันมากกว่า บางครั้งก็เปรียบเทียบปรับทั้งสามีและภรรยาโดยอ้างว่าเป็นความสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน หรือหากดำเนินคดีไป ท้ายที่สุดแล้วในชั้นศาลก็เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยซ้ำไปซ้ำมา ส่วนผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงก็มักมาขอถอนคำร้องทุกข์เพราะความใจอ่อน สงสาร จนไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับคู่กรณีต่อไป
สารวัตรโอ๋ อธิบายว่า จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพของกลไกในการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้นเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแชทบอทจะมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อแนะนำในการแก้ปัญหา
ไอเดียในการสร้างแชทบอทโปลิสน้อยเริ่มจากการเห็นชุดคำถามของพนักงานสอบสวนในไลน์กลุ่ม และพบว่า คำถามส่วนใหญ่จะซ้ำๆ กัน ก็เลยเกิดความคิดที่จะสร้าง AI Chatbot เหมือนกับแชทบอทของดีแทคที่ให้บริการตอบคำถามลูกค้าแบบอัตโนมัติ
ประจวบเหมาะกับการที่ดีแทคเปิดโครงการดีแทคพลิกไทย ทางสถาบันฯ จึงเข้าร่วมโครงการและได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 โครงการดีแทคพลิกไทยในปีนี้ โดยได้รับทุนเบื้องต้น 100,000 บาท จากดีแทคในการพัฒนาแชทบอทโปลิสน้อย
ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำเทเลนอร์ เอเชีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์โปลิสน้อย อธิบายว่า แชทบอทก็คือ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถรับรู้และเข้าใจภาษามนุษย์ ซึ่งนอกจากใช้อย่างแพร่หลายในเชิงธุรกิจแล้ว แชทบอทยังสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างนานัปการ เพราะมีข้อดีคือการให้ข้อมูล 24 ชั่วโมง ตอบโต้ทันที และได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ
เมื่อถามว่าจะทำให้แชทบอทมันฉลาดได้ยังไง ดร. วินน์บอกว่า จะต้องรณรงค์ให้คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงป้อนข้อมูลเข้ามาในเฟซบุ๊กโปลิสน้อย หรือ PoliceNoi เพราะยิ่งใส่คำถามมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้แชทบอทฉลาดมากขึ้นและสามารถให้คำตอบกับคนได้ ถ้าจะให้ดี ควรมีชุดคำถามเป็นหลักแสนเพื่อนำไปพัฒนาคำตอบให้ดียิ่งขึ้น
ในขณะที่คำตอบจะถูกกลั่นกรองมาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องมีการควมคุมกลุ่มผู้ที่จะมาให้คำตอบเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น สถานบันฯ จะต้องมีเครือข่ายพันธมิตรที่จะมาช่วยตรวจสอบคำตอบให้เกิดความเหมาะสม
ในอีกสองเดือนข้างหน้านี้ ผู้หญิงทุกคนก็จะมีแชทบอทโปลิสน้อยมาเป็นเพื่อน ซึ่งจะแชทกับหุ่นยนต์นี้ได้ทั้งเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ และไลน์ โดยขณะนี้รอการขออนุมัติจากเฟซบุ๊กและไลน์ ประเทศไทย
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่า ว่า ทัศคติชายเป็นใหญ่ยังฝังรากลึกในกลไกยุติธรรมทั้งฝ่ายกระทำและผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถปรึกษาคนใกล้ตัว เพื่อน หรือคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ ต้นเหตุสำคัญของความรุนแรงยังมาจากปัญหาแอลกอฮอล์ ยาเสพติด รวมถึงการพนันด้วย
ฉะนั้น แชทบอทโปลิสน้อยจะมีบทบาทมากในการเป็นช่องทางให้เหยื่อความรุนแรงระบายความรู้สึก และได้รับปรึกษาเบื้องต้น และเป็นกลไกที่ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อย่างไรก็ตาม แชทบอทต้องให้คำตอบเชิงบวก ให้กำลังใจ เพราะคนที่ถูกทำร้ายจะอยู่ในภาวะจิตใจและร่างกายที่บอบช้ำอยู่แล้ว
นอกเหนือจากทุนตั้งต้นจากดีแทคแล้ว โครงการดีแทคพลิกไทยมีการระดมทุนออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ เทใจดอทคอม (www.taijai.com)หรือบริจาคผ่านทาง USSD ของดีแทค (บริการข้อความสั้นแบบ Interactive)อีกด้วย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่www.dtac.co.th/plikthai
STORY BY L. Patt
MAIN PHOTO BY AI Chatbot