HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
บัตรเครดิต..คนตายแต่บัตรอยู่
by อัจฉรา ดีบุญมี
14 ก.พ. 2561, 03:46
  7,601 views

ระวัง...บัตรเครดิตยังคงช็อปต่อแม้เจ้าของบัตรลาโลกไปแล้ว

        บัตรเครดิตเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก แม้เราไม่มีเงินบัตรก็ทำให้เราซื้อของที่อยากได้ได้ ที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือ มันซื้อของหรือสร้างหนี้ให้เรา (หรือผู้รับมรดก) ได้แม้เราจะจากโลกนี้ไปแล้ว 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่เมืองไทยมีจำนวนบัตรเครดิตรวมๆหลายล้านใบ ต้องมีคนถือบัตรจำนวนมากมายที่ล้มหายตายจากไปในแต่ละปี แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ว่าเราจะสามารถเคลียร์หนี้และปิดบัตรด้วยตัวเองก่อนตายได้ ภาระอันนี้ต้องตกอยู่กับคนข้างหลัง ภาระจะเยอะมากน้อยขึ้นอยู่กับวิธีใช้บัตรของคนที่จากไป 

        จะไม่มีปัญหาถ้าใช้บัตรในการซื้อสินค้าและบริการครั้งเดียว เพราะการชำระหนี้ก็จะครั้งเดียว แต่ปัญหาอาจจะมีถ้าคุณใช้บริการหักค่าบริการหรือโอนเงินบริจาคผ่านบัตรเข้ามูลนิธิแบบงวดๆ และผู้อยู่เบื้องหลังไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ดำเนินการปิดบัตรให้เรียบร้อย

        ในยุคที่ประเทศไทยมีบริษัท ประกันวินาศภัยจำนวน 62 บริษัทและ บริษัทประกันชีวิตอีก 24 บริษัท และบรรดาโบรกเกอร์อีกมากมาย ต้องมีผู้ถือบัตรจำนวนมากที่ได้รับโทรศัพท์เสนอขายกรมธรรม์จากตัวแทนบริษัทเหล่านี้ และต้องมีคนจำนวนมากที่ตกลงซื้อสินค้าโดยจ่ายผ่านบัตร

        ในประเทศไทย มีมูลนิธิมากมายที่ให้บริการหักเงินบริจาคผ่านบัตรเครดิต จากมูลนิธิทั้งหมดจำนวน 953 (เฉพาะมูลนิธิที่เงินบริจาคนำไปหักภาษีได้ตามประกาศของกรมสรรพากร)

        ตอนคุณอยู่คุณตรวจสอบใบแจ้งยอดได้ เมื่อคุณไปบางทีคนอยู่ข้างหลังไม่เห็นใบแจ้งยอด และมีคนจำนวนมากที่ยุ่งกับการจัดการกับงานศพและงานเอกสารมากมายจนลืมไปปิดบัตรให้ผู้ตาย 

        ในการไปปิดบัตรให้ผู้ตาย คุณต้องใช้ใบมรณบัตร บัตรประชาชนของคุณและผู้ตาย พร้อมทั้งเงินไปเคลียร์ยอดค้างชำระทั้งหมด ทางผู้ออกบัตรจะขึ้นธงในระบบว่าลูกค้าคนนี้เสียชีวิตและจำหน่ายบัญชีออก แน่นอนว่ากระบวนการนานกว่าตอนเขาออกบัตร จากที่ประสบมาคือเกือบ 1 ชั่วโมง

        บางคนไม่รู้คิดว่าแจ้งการเสียชีวิตและเคลียร์หนี้ไปแล้วจะจบ ถ้าพนักงานไม่เรียกใบมรณบัตรให้แน่ใจเลยว่าจะมีใบเรียกเก็บหนี้มาในเดือนต่อๆไป  

        อีกกรณีคือมีบริษัทออกบัตรบางรายที่อนุญาตให้ส่งใบมรณบัตรผ่านระบบแฟกซ์ หรืออีเมล ผู้แจ้งการเสียชีวิตให้เบอร์ติดต่อกลับเพื่อแจ้งยอดหนี้จะได้ชำระและปิดบัตร แต่ไม่มีการติดต่อกลับใดๆ สิ่งที่กลับมาคือใบแจ้งหนี้ในเดือนต่อมาพร้อมกับยอดหนี้เดิมและดอกเบี้ยปรับที่ไม่ไปชำระหนี้ตามกำหนด โทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ก็ขอใบมรณบัตรอีกรอบ แล้วก็กลับมาเหมือนเดิม อันนี้ที่ทำได้คือโทรเข้าสำนักงานใหญ่เลย ถ้าคุณจำชื่อพนักงานคอล เซ็นเตอร์ที่คุยกับคุณครั้งก่อนได้ก็ยิ่งดี 

        ปัญหาจะไม่เกิดถ้าธนาคารและผู้ออกบัตรที่ไม่ใช่ธนาคารมีระบบติดตามการใช้เงินของลูกค้าที่ดี แย่ยิ่งกว่านั้นคือผู้ออกบัตรมีกระบวนการทำงานที่ช้า

        จะมีผู้ใช้บัตรกี่คนที่ใช้บัตรประจำ หากบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 6 เดือน แล้วมีการแจ้งเสียชีวิตและขอปิดบัตรก็ควรจะเร่งดำเนินการ

        ไม่อยากจะคิดว่าผู้ออกบัตรบางรายไม่อยากปิดบัตรเพราะบางสินค้าและบริการเสนอขายโดยบริษัทที่ผู้ออกบัตรมีหุ้น คิดซะว่าธนาคารที่ออกบัตรอบรมพนักงานมาไม่ดี เมื่อมีคนมาแจ้งการเสียชีวิต ถึงได้ไม่ขอเอกสารอะไรเลย แค่เคลียร์หนี้ล่าสุดให้ 

        บทเรียนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

        ควรจดชื่อพนักงานแบงก์ที่จัดการเรื่องปิดบัตรให้คุณ เพราะถ้ามีกรณีนี้เกิดขึ้น คุณจะได้รู้ว่าควรจะโทษใครและไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดหลังจากนั้น

        ไม่ควรซื้ออะไรที่ต้องตัดเงินจากบัตรเป็นประจำ ถ้าจะซื้อควรจ่ายครบจำนวน การบริจาคก็ควรจะให้หักผ่านบัตรเป็นครั้งๆไป มีบัตรอะไร ควรบอกคนไกล้ชิดที่คุณเชื่อและมั่นใจว่าเขาจะดูเรื่องข้างหลังให้คุณได้ เพื่อที่เขาจะได้จัดการยกเลิกบัตรและหนี้หลังการตายให้คุณได้

ABOUT THE AUTHOR
อัจฉรา ดีบุญมี

อัจฉรา ดีบุญมี

อดีตบรรณาธิการ The Nation ชื่นชอบเรื่องการออม ผู้สูงอายุ

ALL POSTS