โลกของพอลลีน #2: เชฟตัวแม่
#2 เชฟตัวแม่ - วันแม่ของพอลลีนอาจจะไม่ได้พิเศษ แต่แม่คือคนพิเศษที่สร้างความทรงจำที่ดีให้พอลลีนเสมอ
เทศกาลวันแม่แต่ละปี พอลลีนก็จะเห็นผู้คนพากันโพสต์รูปแม่ลงเฟซบุ๊ก ไม่ว่าแม่จะยังอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเอาแม่มาอวด หรือไม่ก็อวดว่ารักแม่
คนที่ไม่เคยเห็นแม่ด้วยเหตุผลที่แม่จากไปตั้งแต่เราเป็นเด็กน้อย รูปถ่ายหรือหลักฐานเกี่ยวกับแม่หายากเต็มที การเห็นคนอื่น “อวดแม่” ก็อาจจะเป็นอะไรที่ทิ่มแทงหัวใจ บางครั้งอาจถึงขั้นหมั่นไส้กันเลยทีเดียว
ภาพของเด็กนักเรียนที่กราบเก้าอี้ว่างเปล่าในงานวันแม่ที่โรงเรียนจัดให้ มันช่างทิ่มแทงหัวใจ สำหรับคนที่ไร้แม่ ในบางแง่มุมก็ชวนให้โกรธผู้จัดงานที่ไม่คิดถึงจิตใจเด็กน้อยที่ “แม่จากไป” เอาเสียเลย
เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในมุมอีกด้านหนึ่งของ “เด็กน้อยกราบเก้าอี้” ถ้าเอาใจเราไปสวมใส่หัวใจของเด็กน้อย เราจะเข้าใจว่า แม้ไม่มีแม่ให้กราบไหว้ เด็กน้อยก็ยังดีใจที่มี “วันแม่” ให้พวกเขาระลึกนึกถึง แม้จะด้วยภาพความทรงจำอันน้อยนิด หรือไม่มีเลย
ไม่ว่าจะมีแม่หรือไม่มี ไม่ว่าแม่จะแสดงออกซึ่งความรักจะเป็นรูปแบบใด แม่ก็ยังรักเราเสมอ หรือในทางกลับกัน เราก็ยังรักแม่เสมอ
การแสดงออกซึ่งความรักของแม่และลูกจะออกมาในรูปแบบใด ตรงและไม่ตรงกับเทศกาลวันแม้หรือไม่ ล้วนแต่เป็นการแสดงออกที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย อยู่นอกเหนือมุมมองของผู้คนที่หลากหลายกระจัดกระจายอยู่รอบๆ ตัวเรา
ในอเมริกา เทศกาลวันแม่ เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เมืองไทย ผู้คนพากันพาแม่ออกไปทานข้าวนอกบ้านหรือไม่ก็ทำอาหารพิเศษทานกันในบ้าน เป็นช่วงวันหยุดที่ร้านอาหารต่างคึกคักเศรษฐกิจเงินดอลล่าร์ก็หมุนสะพัด
เมื่อสมัยก่อนพอลลีนไม่ค่อยใส่ใจกับเทศกาลทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวันพ่อ วันแม่ ปีใหม่ ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ เพราะหมกหมุ่นกับงานการและกิจกรรมต่างๆ ประกอบกับมีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ “เยอะ” และซ้ำซากเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เทศกาลวันแม่ปีนี้ พอลลีนมีโอกาสพาแม่ไปออกรายการทีวีให้คนได้รู้จัก มันเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ เพราะกลัวแม่อยู่บ้านเฉยๆ จะเบื่อ ก็เลยพาท่านติดสอยห้อยตามไปด้วย ผลปรากฏว่า ได้รับการชักชวนให้เปิดตัวคุณแม่ และคุณแม่ก็พยักหน้าเห็นด้วย ถ้าพอลลีนปฏิเสธก็กลัวท่านจะโกรธเอา
“แม่เห็นลูกเครียดและเศร้ามาเยอะแล้ว ต่อจากนี้ลูกอยากเป็นอะไร ก็ให้ลูกเป็นในสิ่งที่ต้องการ แม่เป็นผู้ให้กำเนิด แม่อนุญาต” คำพูดนี้ ยังก้องอยู่ในหูของพอลลีนและจดจำไปจนวันตาย
นัยยะสำคัญของคำพูดนี้ ไม่ใช่เพราะพอลลีนได้รับการตามใจ แต่เป็นเพราะ ตลอดทั้งชีวิต พอลลีนไม่เคยได้ยินแม่ “อ้างสิทธิ์” ในการเป็นผู้ให้กำเนิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าพอลลีนจะกลับบ้านดึก ไม่อยู่กับแม่ เอาแต่ทำกิจกรรม และใส่ใจแต่รอบข้างคนอื่นๆ
แต่เมื่อคราวที่แม่ “อ้างสิทธิ์” มันเป็นการอ้างสิทธิ์ที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของแม่ ... แต่เป็นการอ้างสิทธิ์เพื่อให้ลูกคลายกังวล เพื่อให้ลูกสบายใจในการเดินหน้าเพื่อความสุขของลูกเอง
น่าจะมีพ่อแม่หลายคนที่อยู่ในสถานะเดียวกับพ่อแม่พอลลีน คือ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับหนทางความสุขของลูก แต่สุดท้ายพอลลีนเชื่อว่า “พลังของความรักจะแก้ปัญหาได้ทุกสิ่ง”
เมื่อพูดถึงแม่ พอลลีนมีความทรงจำเกี่ยวกับแม่ไม่น้อย ที่เยอะที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องแรงบันดาลใจในการทำอาหาร ตั้งแต่เด็กๆ แม่จะไม่อยู่นิ่ง แม้จะมีงานประจำอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่เมื่อเลิกงานตอนเย็น แม่จะมาเปิดพื้นที่ขายอาหารเล็กๆ ในละแวกแถวบ้าน อาหารที่ขายก็เป็นเมนูยอดฮิต นั่นคือ “ผัดไท” และ “หอยทอด”
พอลลีนมีโอกาสช่วยแม่เป็นครั้งคราวหลังกลับจากโรงเรียน ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เสริฟน้ำและรับออร์เดอร์จากลูกค้า จะมีโอกาสใกล้เตาผัดบ้าง ก็เมื่อตอนแม่เผลอ
ไม่คิดเลยว่า โชคชะตาจะทำให้พอลลีนกลายมาเป็นเชฟและกุ๊กทำอาหาร ทำผัดไทให้ฝรั่งที่อเมริกากินนับวันละเป็นร้อยจาน แม้ว่าสูตรและวิธีการทำผัดไทที่อเมริกาจะแตกต่างจากที่เมืองไทยและ “สูตรของแม่” โดยสิ้นเชิง แต่พอลลีนก็ได้ซึมซับเคล็ดลับในการทำให้เส้นผัดไทเหนียวนุ่มมาจากแม่
คงไม่ได้มีเฉพาะพอลลีน ที่เป็นปลื้มและภูมิใจในฝีมือทำอาหารของแม่ตัวเอง “อาหารของแม่ทุกคน” เป็นจานที่อร่อยเสมอ เพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมาตลอดชีวิต
เมื่อตอนเด็ก คนเรามีสิทธิ์เลือกกินอาหารได้แค่สองเมนู คือ “จะกิน” หรือ “ไม่กิน” ส่วนใหญ่เราก็จะเลือกเมนูแรก เพราะหากไม่กินฝีมือแม่ ก็เห็นจะอดตายหรือแคระแกร็นเป็นแน่แท้
พอลลีนมีแผนการที่จะเปิดร้านอาหารในกรุงเทพฯ ในเร็ววันนี้ รวมถึงรายการทีวีเกี่ยวกับการทำอาหาร คิดๆ อยู่เหมือนกันว่า อาจจะทาบทามคุณแม่มาร่วมรายการ หรือแม้กระทั่งอาจจะให้เป็นพิธีกรหลักของรายการเลยด้วยซ้ำไป
สองแม่ลูกก็จะกลายเป็น “เชฟตัวแม่” ในคราวนี้เอง