เปิดพื้นที่โรงพิมพ์เก่าสู่การแสดงศิลปะร่วมสมัย ที่ชักชวนให้ตั้งคำถาม ณ Bangkok Kunsthalle
"This page is intentionally left ___." นิทรรศการที่เปิดให้ผู้ชมร่วมสร้างความหมายใหม่ของพจนานุกรม ณ "บางกอก คุนส์ฮาเลอ" ในย่านเยาวราช
หลังจากการปรับปรุงโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเก่าให้เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย Bangkok Kunsthalle (และมีงานแสดงมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชั้น 5 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของอาคารประวัติศาสตร์นี้เสร็จสมบูรณ์ และได้ประเดิมด้วยนิทรรศการแรกโดยกลุ่มภัณฑารักษ์ 'ยุงลายคอลเลคทีฟ' (Yoonglai Collective) ที่เปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นงานศิลปะหลากแขนงที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของอาคารได้อย่างน่าสนใจ

"เราเปลี่ยนบทบาทของเราในนิทรรศการนี้ เราเป็นกองบรรณาธิการ ไม่ใช่ curator" ตัวแทนกลุ่มยุงลายคอลเลคทีฟกล่าวในการนำชมนิทรรศการที่เพิ่งเปิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วการมีส่วนร่วมของผู้ชมในการสร้างสรรค์
นิทรรศการ "This page is intentionally left ___." เปิดกว้างให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์พจนานุกรมร่วมสมัย ผ่านการจัดวางงานพิมพ์ ภาพประกอบ และระบบร่วมเขียน (Co-authorship) บนชั้น 5 ณ Bangkok Kunsthalle พื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยใจกลางเยาวราช
งานแสดงนี้นำเสนอผลงานของศิลปินที่ต่อยอดประวัติศาสตร์ของอาคาร และในขณะเดียวกันก็สะท้อนวิวัฒนาการทางการศึกษาไทยร่วมสมัย
อาคารนี้เดิมเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่ตีพิมพ์บทเรียนของคนไทยทั้งประเทศ เรียกได้ว่าคนในรุ่น Baby Boomer หรือ Gen X ต่างก็ได้ผ่านการอ่านตำราเรียนของโรงพิมพ์นี้มาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะพจนานุกรมที่ สอ เสตบุตร (เศรษฐบุตร๗ เขียนขึ้น ซึ่งใช้กันแพร่หลายในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ได้รับการตีพิมพ์ที่อาคารหลังนี้
ภายในนิทรรศการมีห้องจัดแสดงที่ใช้ชื่อว่า "Editorial Room (Staff Only)" ซึ่งเป็นเวิร์คช็อปพิเศษที่จัดขึ้นร่วมกับ KRACK! Printmaking Collective จากยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แม้ชื่อห้องอาจฟังดูเหมือนกีดกันผู้ไม่เกี่ยวข้อง แต่นิทรรศการนี้กลับเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม
ผู้ชมจะได้เห็นเส้นในมิติสังคมของประเทศไทยและอินโดนีเซีย เอกสารจดหมายเหตุ สาระเกี่ยวกับภาษาและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม รวมถึงพจนานุกรมร่วมสมัย และพจนานุกรมเล่มแรกๆ ของไทยที่นำมาจัดแสดงให้เห็นวิวัฒนาการ โดยทั้งหมดเขียนโดย สอ เศรษฐบุตร
"นิทรรศการไม่ได้เป็นจุดจบ แต่เราอยากให้เป็นจุดเริ่มในการเรียนรู้มากกว่า" ตัวแทนกลุ่มยุงลายฯ กล่าว
แนวคิดและบทบาทศิลปิน
ความน่าสนใจคือนิทรรศการเปรียบเสมือนงานทดลองที่จัดวางพื้นที่และการเข้าเยี่ยมชมความทรงจำภายในอาคาร ที่เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช สถานที่สำคัญในการผลิตหนังสือเรียนและพจนานุกรมของไทยหลายทศวรรษ ก่อนที่อาคารจะกลายเป็น Bangkok Kunsthalle พื้นที่ร่วมสมัยที่ไม่ได้มุ่งสรุปความหมายหรือให้คำนิยามใดๆ แต่ผู้ชมจะได้ "ทำความเข้าใจ" ในหน้าว่างแห่งนี้ด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยิน อ่านสิ่งที่ไม่เคยถูกเขียน เพื่อจินตนาการถึงโรงพิมพ์และสิ่งพิมพ์ที่เคยเป็นกิจกรรมหลักของตัวอาคารในอดีต ในฐานะความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของพื้นที่แห่งนี้
นิทรรศการ "This Page Is Intentionally Left ___." นำเสนอการจัดพิมพ์ในฐานะ "กระบวนการ" มากกว่าผลลัพธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ภัณฑารักษ์โดย "ยุงลายคอลเลคทีฟ" กลุ่มบรรณาธิการที่จะไม่กำหนดกรอบความคิด ทำงานข้ามวินัยระหว่างศิลปะ การวิจัย ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเทคโนโลยี เพื่อสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ระหว่างผู้คน ภาษา และพื้นที่เข้าด้วยกัน
พร้อมเชิญศิลปินไทย 3 ท่าน ทำหน้าที่ผู้ร่วมสร้างความหมายผ่านสื่อหลากหลายทั้งข้อความ เสียง ภาพพิมพ์ และศิลปะจัดวาง โดยศิลปินแต่ละท่านจะทำหน้าที่แตกต่างกัน นั่นคือ
ณัฐ เศรษฐนา (Nat Setthana) ศิลปินผู้จัดวางภาพถ่ายและวิดีโอจากกรุงเทพฯ ดัดแปลงพื้นที่ชั้นบนของตัวอาคารให้เป็น "Hyper Site" เล่าเรื่องราวผ่านเศษซากของภาษาและกาลเวลา
อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต (Anusorn Thanyapalit) ศิลปินสหศาสตร์จากเมืองแพร่ ผู้ทำงานข้ามเสียงผ่านอักษรเบลล์และบทกวี รับหน้าที่สำรวจโครงสร้างของตัวอาคารที่จองจำเชิงภาษาและความทรงจำ
ธีธัช ธัญกิจจานุกิจ (Theetat Thunkijjanukij) ศิลปินผู้สำรวจอุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตซ้ำสิ่งพิมพ์ ความหมายของการพิมพ์ใหม่ การลบต้นฉบับ และความคลุมเครือของคุณค่าในวัตถุจำลอง
ห้องแต่งพจนานุกรมร่วมสมัย
นอกจากจะชมนิทรรศการในพื้นที่ Editorial ยังเปิดให้ทุกคนมาลองบัญญัติศัพท์ใหม่กันเอง โดยพิมพ์คำศัพท์ของตัวเอง แปลความหมายและตัวอย่างการใช้ในประโยค เพื่อทำตัวเสมือนเป็นหนึ่งในผู้เขียนพจนานุกรม เพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเข้ามาให้ความหมายร่วมกัน
มุมนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก และคาดว่าน่าจะมีคำศัพท์และความหมายร่วมสมัยเกิดขึ้นจากนิทรรศการนี้มากมาย ซึ่งตรงกับความตั้งใจของทางนิทรรศการและ มาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง Bangkok Kunsthalle ที่อยากให้อาคารนี้เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความคิดและการตีความนอกกรอบได้อย่างอิสระ เพื่อเชื่อมต่อมุมมองอันหลากหลายไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป
มาริษากล่าวว่าเธอไม่รู้สึกผิดหวังเลยกับงานแสดงนี้ เพราะทำได้ดีมากในการตีความและนำเสนอรูปแบบศิลปะร่วมสมัย "สิ่งที่ชอบมากคือ 'คอลเลคทีฟ' เพราะยุคสมัยแห่งความขัดแย้ง การร่วมมือกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก"
"หลังจากนิทรรศการนี้จบลงแล้ว พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะบนชั้น 5 จะกลายเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับศิลปินและภัณฑารักษ์ไทย โดยเน้นที่คนรุ่นใหม่ เพราะมาริษาเห็นว่ายังมีพื้นที่ในการจัดแสดงและแสดงออกให้ศิลปินอย่างจำกัด "ดิฉันและทีมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Bangkok Kunsthalle จะเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความคิดและการตีความนอกกรอบได้อย่างอิสระต่อๆ ไปอย่างไม่มีสิ้นสุด"
.......
นิทรรศการ: This page is intentionally left ___.
ระยะเวลา: 13 มิถุนายน – 17 สิงหาคม 2568
เวลา: 14.00 – 20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)
สถานที่: ชั้น 5 Bangkok Kunsthalle เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
ค่าเข้าชม: ฟรี
PHOTO by Samatcha Apaisuwan