โคตรเจ๋ง!! เด็กไทยหัวกะทิด้าน STEM จากปรินส์รอยแยลส์ฯ คว้าที่ 1 แกรนด์อะวอร์ด Regeneron ISEF 2025
ประเทศไหนก็อยากมีคนเก่งสาย STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เยอะๆ เพราะสำคัญยิ่งต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงนับเป็นความหวัง เมื่อเยาวชนไทยไปผงาดในเวทีประชันทักษะด้าน STEM ระดับโลก โดย 3 นักเรียนมัธยมจาก วิทยาลัยปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ (The Prince Royal's College, Chiang Mai) คว้าที่ 1 รางวัลแกรนด์อะวอร์ด สาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ (Technology Enhances the Arts) และอีก 10 รางวัล จากหลายสถาบัน ในงาน Regeneron ISEF 2025
The Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2025) ถือเป็นเวทีการแข่งขันงานวิจัยด้าน STEM สำหรับนักเรียนนานาชาติระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยนักเรียนไฮสคูลตัวท็อปด้าน STEM จาก 66 ประเทศทั่วโลก มารวมตัวกันในงานนี้
ทรานสฟอร์มการเรียนรู้อักษรเบรลล์
ทีมนักเรียนจาก ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ (The Prince Royal's College, Chiang Mai) สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ของแกรนด์อะวอร์ด ในสาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ (Technology Enhances the Arts) พร้อมเงินรางวัล $6,000
ศิวกร สุวรรณหงษ์, ปัณณวิชญ์ พลนิรันดร์ และศตพร ธนปัญญากุล, อายุ 17 ปี พร้อมด้วยครูที่ปรึกษา (รุ่งกานต์ วังบุญ และ กฤติพงศ์ วชิรางกุล) นำเสนอโครงงาน ไอเบรลล์: การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (eiBraille: Systematic Reform of Braille Education with AI & Low-Cost Tactile Technology for an Inclusive Zero-Discrimination Society)
ในงานวิจัยระบุว่า การไม่มีความรู้อักษรเบรลล์ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเท่าเทียมของผู้บกพร่องทางการมองเห็น โดยทั่วโลก มากกว่า 70% ที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพราะความพิการ แต่เนื่องจากอุปสรรคเชิงระบบที่จำกัดการเข้าถึงการศึกษาภาษาเบรลล์ การขาดแคลนครูอย่างมาก (เข้าถึงได้เพียง 10%) สื่อการเรียนรู้ที่ล้าสมัย และต้นทุนที่สูงเกินเอื้อม (มากกว่า $6,000) ทำให้การศึกษาภาษาเบรลล์เข้าถึงได้ยาก ผลที่ตามมาคือ เยาวชนผู้พิการทางสายตาน้อยกว่า 7% ที่ได้เข้าโรงเรียน และทั่วโลกมีเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้นที่มีความรู้ด้านภาษาเบรลล์
eiBraille ได้นำเสนอเครื่องแสดงผลเบรลล์ราคาประหยัด และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่ออุดช่องว่างการเรียนรู้ทั่วโลก โดยใช้หลักการ STEAM ซึ่งในระยะที่ 1 ได้มุ่งพัฒนาเครื่องแสดงผลเบรลล์ที่ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก โดยกลไกการทำงานคู่กับอัลกอริธึมถอดรหัสเบรลล์ที่เชื่อมต่อ IoT ส่งผลให้ระบบสามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อย่างแม่นยำถึง 96%
ส่วนระยะที่ 2 ทีมนักเรียน ได้มีการพัฒนาผู้สอนเบรลล์เสมือนจริงที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสร้างจากโมเดล LLaMA 3.1 (โมเดล AI ล่าสุดจาก Meta) ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับหลักสูตร
ในการทดลองกับผู้เรียนที่พิการทางสายตาพบว่า ระบบนี้ช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้นถึง 9 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม ซึ่งจะลดระยะเวลาในการเรียรรู้อักษรเบรลล์จาก 3 ปี เหลือเพียง 6 เดือน
eiBraille ได้พลิกโฉมการเรียนรู้หนังสือเบรลล์ ทำให้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเข้าถึงได้สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นในทุกภาษา เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก และพัฒนาสังคมที่มีความครอบคลุมและปราศจากการเลือกปฏิบัติ

หลายผลงานเด่น
สัตวศาสตร์ (Animal Sciences) เป็นอีกสาขาที่เยาวชนไทยสร้างชื่อเสียงได้อย่างมากในการแข่งขันปีนี้ โดยทีมนักเรียนจาก กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คว้ารางวัล Grand Award อันดับ 2 จากโครงงาน การพัฒนานวัตกรรมฟองน้ำชีวภาพเพื่อลดพฤติกรรมการกินกันเอง สำหรับการอนุรักษ์ปูม้า และระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน
ขณะที่ โครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย, โครงงานการเพิ่มประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีวภาพ จากกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ, และโครงงานนวัตกรรมสูตรอาหารและปัจจัยแวดล้อม เพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาอย่างมีประสิทธิภาพ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ได้รับรางวัล Grand Award อันดับ 3
นอกจากนี้ ทีมนักเรียนจาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ยังได้รางวัล Grand Award อันดับ 2 ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ จากโครงงาน การศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์
Special Awards
ทีมจาก โรงเรียนกําเนิดวิทย์ จ.ระยอง คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จาก TUBITAK The Scientific and Technological Research Council of Türkiye พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการศึกษากระบวนการภายในของสมบัติการแปรเปลี่ยนด้วยแสงของธาตุวานาเดียมที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพภาวะความไม่ชอบน้ำของฟิล์มชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง
ขณะที่ ทีมโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้อันดับที่ 2 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก
ส่วนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย ได้อันดับที่ 4 จาก American Chemical Society กับโครงงาน การสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาวซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด
ปีนี้มีทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน 14 ทีม โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอีกส่วนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ธนาคารไทยพาณิชย์