มองแนวคิดอิเกียที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ยั่งยืนมากขึ้น
ทำไม อิเกีย เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ครองใจคนทั่วโลก หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากคุณภาพดีในราคาย่อมเยาแล้ว การใช้งาน รูปทรง และความยั่งยืน เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสินค้า และเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจมาตลอดกว่า 80 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ "การทำให้ชีวิตประจำวันของใครหลายคนดีขึ้น"
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมผู้บริหารอิเกีย ประเทศไทย ได้ฉายภาพรวมด้านความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ สถานที่ และ คน ทำให้เราเห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชั่นส์ ที่เป็นมากกว่าสโตร์ขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
คณิศร์ อุนจะนำ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อิเกีย ประเทศไทย เล่าว่า ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของอิเกียทั่วโลก เราจะมุ่งเน้นใน 3 เสาหลัก คือ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน (Healthy & Sustainable Living) การหมุนเวียนทรัพยากรและใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Climate, Nature & Circularity) และความเป็นธรรมและเท่าเทียม (Fair & Caring)
"อิเกียมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ตั้งแต่ชุมชนที่เรานำวัตถุดิบมาใช้ ไปจนถึงวิธีสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นที่บ้าน ทำให้ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่เข้าถึงได้ง่ายกับทุกคน"
สินค้าอิเกียยั่งยืนยังไง
Democratic Design ถือเป็นหลักที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการออกแบบสินค้าของอิเกีย โดยผสมผสานทั้ง 5 มิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง (Form) ประโยชน์ใช้สอย (Function) คุณภาพ (Quality) ราคาย่อมเยา (Low Price) และความยั่งยืน (Sustainability)
จากห้องครัวถึงห้องนอน สินค้าอิเกียจะถูกออกแบบโดยโฟกัส 5 อย่างที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน คือ การลดขยะ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ เพิ่มอายุการใช้งาน และดีต่อสุขภาพ เช่น กล่องใส่อาหาร ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดสาร BPA ซึ่งไม่ใช่แค่อุ่นอาหารกับเตาไมโครเวฟ และใช้ได้กับตู้ล้างจานเท่านั้น แต่ยังดีไซน์ให้ใช้เป็นจานเสิร์ฟได้ด้วย ก๊อกน้ำและฝักบัวช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 40% โดยแรงดันน้ำยังเท่าเดิม หมอนเจลเพิ่มความเย็นที่ช่วยซับพอร์ตคอ และผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% หรือแม้แต่ต้นไม้ประดิษฐ์ก็ทำจากพลาสติกรีไซเคิลเช่นกัน
ในการออกแบบเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circularity) อิเกียจะออกแบบสินค้าทุกชิ้นตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซม ผลิตใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลได้
การขายสินค้ามือสองเป็นอีกวิธีที่ทำให้สินค้าสามารถกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ โดยอิเกียเปิดบริการรับซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์อิเกียที่ใช้งานในครัวเรือน แล้วนำมาขายในรูปแบบสินค้ามือสองที่เซอร์คิวลาร์ ช็อป และแผนก As-Is ซึ่งจะเป็นทางเลือกสินค้าในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป อีกทั้งยังสนับสนุนการทำธุรกิจใแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นมิตรต่อโลกด้วย
ความอร่อยจากต้นทางถึงโต๊ะอาหาร
ร้านอาหารสวีเดน ของอิเกียเป็นอีกบริการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะนอกจากรสชาติอร่อย ยังเน้นอาหารที่ดีต่อโลก ดีต่อสุขภาพ และดีต่อใจ โดยคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน เช่น อาหารทะเลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Aquaculture Stewardship Council (ASC) และ Marine Stewardship Council (MSC) กาแฟและช็อกโกแล็ต ได้รับการรับรองจาก Rainforest Alliance และ UTZ
นอกจากนี้ อิเกียยังได้เพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืช (plant-based) ในร้านอาหารอิเกีย โดยปัจจุบัน 50% ของเมนูหลักเป็นอาหารจากพืช และกำหนดราคาให้คนเข้าถึงง่าย เช่น เมนู plant balls จะมีราคาถูกกว่า meat balls เพื่อเป็นตัวเลือกให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังมีพิซซ่าวีแกน บาบีคิว และหมูกรอบจากพืช ที่ให้รสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนหมูกรอบจริงๆ หากใครสั่งกาแฟใส่นมโอ๊ตก็จะจ่ายในราคาที่ถูกกว่านมวัว ทั้งนี้ อิเกียจะรังสรรค์เมนูอาหารจากพืชให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและการกินอย่างยั่งยืน
เพิ่มพลังงานทางเลือก
อิเกีย บางนา ใช้เงินลงทุน 26 ล้านบาท ขยายแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาเฟสสองเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มอีก 2,000 แผงจากเฟสแรกในปีที่แล้ว 1,800 แผง ทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 2,890 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,152 เมตริกตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 19,000 ต้นต่อปี และส่งผลให้สัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนของสโตร์เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35% โดยอิเกียยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในประเทศไทยในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน อิเกียได้ร่วมมือกับ Mober (Thailand) ให้บริการจัดส่งสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยรถ EV 21 คัน ภายในเดือนพฤษภาคม และจะเพิ่มเป็น 30 คันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอิเกียตั้งเป้าว่าอย่างน้อย 40% จะเป็นการขนส่งสินค้าด้วยรถ EV โดยจะเพิ่มสัดส่วนการจัดส่งสินค้าทั่วประเทศ ด้วยรถ EV ให้ถึง 70% ภายในปี 2573
ปัจจุบัน อิเกียจัดส่งสินค้า 100% ด้วยรถไฟฟ้ากว่า 2,500 คัน ใน 20 เมือง จากกว่า 300 สาขาทั่วโลก
หลักการสร้างคน
คนทำงานที่อิเกีย ไม่ว่าจะอยู่ระดับไหนก็ตาม จะถูกเรียกว่าเพื่อนร่วมงาน ซึ่งความเป็นธรรมและเท่าเทียม ถือเป็นหัวใจของการบริหารคน โดยไม่คำนึงถึงเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา และสถานะ พนักงานทุกคนจะผ่านการอบรมหลักสูตรออนไลน์เรื่องความยั่งยืน เพื่อเรียนรู้และเข้าใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องไปควบคู่กับผลกระทบเชิงบวกทางสังคม อีกทั้งทำให้พนักงานเห็นภาพชัดเจนว่า หากมีการใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ยั่งยืน กับยั่งยืน จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ อิเกีย ยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถย้ายแผนกได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความท้าทายและประสบการณ์ใหม่ๆ โดยการรับพนักงานในตำแหน่งต่างๆ จะให้สิทธิกับพนักงานภายในก่อน
แม้ว่า อิเกียจะมีพนักงานจำนวนมากจาก 480 สาขา ใน 63 ตลาดทั่วโลก แต่เชื่อมโยงให้สามารถดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกันได้ด้วย IKEA Core Values ทั้ง 8 ข้อ คือ ความร่วมแรงร่วมใจความเอาใจใส่ที่เรามีต่อคนและโลก คำนึงถึงคุณค่าและความประหยัด ความเรียบง่าย การพัฒนาและริเริ่มสิ่งใหม่ กล้าจะต่างอย่างมีความหมาย การแบ่งและรับความรับผิดชอบ และการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง