HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
แรงเหวี่ยงหนีศูย์ (กลาง) เมื่อวงการดนตรีเชียงใหม่ลุกขึ้นยืน
by เพียงธุลี
21 ก.พ. 2568, 17:55
  55 views

กลางปี 2567 เกิดกิจกรรมดนตรีชื่อว่า My Hometown  Project ขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ โดยผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์นี้คือ เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล และ เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ โปรดิวเซอร์ 

ถ้าใครไม่คุ้นสองชื่อนี้ เราจะแอบกระซิบให้ก็ได้ว่า “เอิง” เป็นนักดนตรีและเป็นคนทำสื่อดนตรีในเชียงใหม่ ชื่อ tempowav และ “เฟนเดอร์” คือฟร้อนแมนแห่งวง Solitude is Bliss วงอินดี้ดาวรุ่งพุ่งแรงจากเชียงใหม่ที่ตั๋วคอนเสิร์ต Sold Out แทบทุกรอบการแสดง 

แต่วงที่เล่นในงาน My Home Town Project นั้นหาใช่ Solitude is Bliss ไม่ หากเป็น View From The Bus Tour ซึ่งก็คือวงไซด์โปรเจ็กต์ของเฟนเดอร์นั่นเอง 

นี่เป็นข้อความที่เราคัดมาจากเพจ View From The Bus Tour

...“My Hometown Project จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองจุดประสงค์เหล่านี้ คือการสื่อสารถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจในประเทศไทย ทั้งเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ผ่านมุมมองของนักสร้างสรรค์ โดยใช้เสียงดนตรีของ View From The Bus Tour [VFBT] เป็นตัวกลางจุดชนวนการพูดคุยกับผู้คนในวงกว้าง โปรเจ็กต์นี้จะมีการผลิตรายการออนไลน์ [My Hometown Session] เป็นสื่อกลางที่ส่งสารเรื่องราวของ ‘Hometown’ เชียงใหม่ โดยมีบันทึกการแสดงของวง VFBT สลับ ผสานกับการพูดคุยเสวนากับเพื่อนๆ ในแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม ในประเด็นท้องถิ่นนิยม”

My Hometown Project เปิดระดมทุนโดยนำโปรเจ็กต์ขึ้น Crowd Funding กระจายข่าวระดมทุนทางโซเชียลมีเดีย ในนั้นบรรจุข้อความไว้ว่า “อยากเห็นโมเดล ดนตรีแบบออริจินัลเกิดขึ้นได้จริงที่เชียงใหม่” นั้นอาจเป็นภาพสะท้อนความฝันของเฟนเดอร์ที่อยากให้วงของเขา รวมไปถึงวงการดนตรีของที่นี่เติบโตขึ้น

อาจเพราะประโยคนั้น หรืออาจเพราะตัวโปรเจ็กต์มันน่าสนใจ หรือเพราะตัวเฟนเดอร์เองที่มีฐานแฟนเพลงอยู่มากพอสมควร หรือทุกอย่างรวมกัน ทำให้การระดมทุนในระยะเวลาหนึ่งเดือนได้รับยอดบริจาคเท่ากับตัวเลขที่คาดคำนวณไว้พอดีเป๊ะ

เมื่อทุนพร้อม ทุกอย่างก็เดินหน้า กลางเดือนพฤษภาคม การแสดงสดสิบโชว์จากวง View from the Bus Tour ก็เกิดขึ้น

แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอะไรอีกหลายอย่าง…

กังวานตัวโน้ตจาก My Hometown Project เฟดจบไปไม่นาน เสียงฝนก็ดังพรมไปทั่วโฮมทาวน์ เชียงใหม่เข้าสู่ฤดูกาลที่ชาวบ้านร้านช่องเรียกขานว่า หน้าโลว์ หรือโลว์ซีซั่น ช่วงเวลาหนาวเหน็บของผู้ดำรงอาชีพอิงแอบกับนักท่องเที่ยว, สถานประกอบการร้านรวงต่างๆ จำต้องเตรียมรับช่วงเวลาอันร้างไร้และเงียบเหงา แน่นอนว่ามาตรการนั้นย่อมกระทบคนจำนวนมาก ทั้งตัวเจ้าของกิจการ พนักงาน และแน่นอน...นักดนตรี

ย้อนกลับไปคืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน สุพิชา เทศดรุณ (หรือที่รู้จักกันในนาม ชา ฮาร์โม) สะพายกีตาร์ขับมอเตอร์ไซค์เพื่อไปเล่นดนตรีที่ร้านสุดสะแนน (ร้านที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งนัดพบของศิลปิน นักกิจกรรมของเชียงใหม่) 

ในเวลาที่ชาย่างเท้าถึงร้านนั้นไม่มีเงาของแขกเลยแม้สักโต๊ะ เขามองหน้ากับเจ้าของร้าน ก่อนจะลงเอยด้วยข้าวหนึ่งมื้อจากร้านแทนการขึ้นเล่นดนตรี กินข้าวเสร็จ ชาขับมอเตอร์ไซค์กลับโดยไม่ได้เงินค่าจ้างเพิ่มมาในกระเป๋า 

นั่นเป็นภาพที่ฉายซ้ำมานานหลายปี ตั้งแต่สุพิชาจำความดนตรีกลางคืนได้ คืนนั้นก็อาจเป็นเพียงอีกฉากซ้ำที่เกิดขึ้นภายใต้สายฝน แต่เม็ดฝนซึ่งกระเซ็นเปียกหน้าก็อาจเป็นน้ำหนักเพิ่มขึ้นให้ชาชั่งตวงขบคิดถึงบางสิ่งที่เคยคิดมาก่อนหน้านั้นอย่างจริงจังยิ่งขึ้น

แล้วมันก็มาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่สมัครพรรคพวกเริ่มสนทนากันถึงเรื่องการรวมกลุ่มศิลปินดนตรีเชียงใหม่ผู้รังสรรค์ผลงานเพลงของตัวเอง และสุพิชาจำแม่นว่า เกิดสุข ชนบุปผา นั้นเป็นหนึ่งในผู้ก่อการ

“ผมเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะไอ้เกิดสุขนี่แหละ ชอบบอกให้ผมทำโน่นทำนี่” เขาส่ายหัวยิ้มขำขัน

หลังจากการสนทนาถึงรุ่งสางในคืนหนึ่ง ชาก็ทำการเปิดเพจ Chiang Mai Original ตอนนั้นเขาเองก็ยังไม่รู้หรอกว่ามันจะนำพาเขาไปถึงไหนบ้าง

และเขาก็คงไม่รู้ว่า เพียงไม่ช้าไม่นานหลังการเกิดของ Chiang Mai Original โลกมนุษย์ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วยไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นสายพันธุ์หนึ่ง ประชากรโลกรวมไปถึงคนดนตรีทุกสายต่างก็ได้รับคลื่นกระแทกนี้โดยถ้วนหน้า หลายคนต้องเอาเครื่องดนตรีออกเร่ขาย หลายคนต้องหันเหไปหาประกอบอาชีพอื่น 

ในช่วงเวลาล็อคดาวน์นั้น ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ผู้ใหญ่แนวตัวพ่อ ได้จัดเทศกาลดนตรีออนไลน์ขึ้นมา ชื่อ “เทศกาลเปิดหมวก” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้นักดนตรีในช่วงเวลาอันเงียบงัน ไร้ความช่วยเหลือจากภาคส่วนใด

นักดนตรีทั่วประเทศส่งคลิปวิดีโอเล่นสดไปยังเทศกาล คลิปใดที่ผ่านการคัดเลือกก็จะได้นำเสนอเป็นสตรีมไลฟ์ออนไลน์ในช่อง youtube ทั้งยังขึ้นเลขบัญชีให้ผู้ชมได้หย่อนใส่หมวกโดยโอนเงินให้นักดนตรีได้โดยตรง

สุพิชา นึกสนุกลุกขึ้นมาจัดแจงเช่าเครื่องเสียง เช่ากล้อง รวบรวมเพื่อนพ้องน้องพี่นักดนตรีมากหลาย เซ็ตอัพถ่ายทำกันส่งคลิปไปในงานนั้นด้วย เขาเล่าว่า งานนั้นศิลปินแต่ละรายได้เงินไปสองถึงสามพันบาททีเดียว

และนั่นคงเป็นต้นธารที่กระตุ้นให้ชาจัดงาน “โฮะ” ครั้งแรกขึ้นที่ตลาดอนุสาร หลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย นักดนตรีเชียงใหม่ทั้งคนที่ชารู้จักและไม่รู้จัก มารวมกันเรียกได้ว่าล้นเวที (เอ่อ จริงๆ แล้วเล่นกับพื้นไม่มีเวที) 

นอกจากงานโฮะ (ที่ต่อมาจะจัดต่อทุกปีเป็นครั้งที่ 4 แล้ว) ยังมีงานเชียงใหม่ซีเคร็ตที่ชารับเป็นโปรแกรมเมอร์จัดหานักดนตรีป้อนให้ เดิมทีทางนั้นต้องการเพียงดนตรีคัฟเวอร์เท่านั้น แต่ชาก็พยายามเจรจาให้มีการแทรกเพลงของตัวศิลปินเข้าไปด้วย เริ่มแรกก็มีเพียงสองสามเพลง จนต่อๆ มาศิลปินก็ได้เล่นเพลงของตัวเองทั้งโชว์

กลับมาต่อเรื่องกลุ่ม Chiang Mai Original ที่ค้างไว้ ต่อมามันไม่ได้เป็นเพียงแค่แห่งหนบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเท่านั้น หากมันได้กลายมาเป็นสถานที่จริงบนโลกจริง เป็นที่ๆ มนุษย์ก้าวเท้าเดินเข้าไปสัมผัสได้ ทั้งตาหูจมูกลิ้นกายใจ เมื่อสุพิชาได้รับช่วงต่อการทำบาร์แถวคูเมืองจากญาติ บาร์แห่งนั้นจึงมีการแสดงดนตรีสดแบบออริจินัลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นสมาคมพบปะพูดคุยปรึกษาหารือเกี่ยวกับนิเวศน์ดนตรีเชียงใหม่เป็นประจำ

สมาชิกที่ร่วมพูดคุยจริงจังต่อเนื่องนั้นมีหลายคน นอกจาก สุพิชา และ เอิง แล้วยังมี มัด (เทอดพงษ์ วงค์จินดา แกนหลักวง srwk), หมูใหญ่ (คมสันต์ ไชยวงศ์ คนทำ branding ) ธนากร บุญกำจัด (ศิลปิน) และอีกหลายคน 

มีคนนึงที่อาจจะต้องขีดไฮไลท์ไว้ตรงนี้สักหน่อย คือ แอล-ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์ นักร้องนักแต่งเพลงสาวจากภาคอีสาน ผู้เดินทางมาเรียนและใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ ที่ต้องไฮไลท์ เพราะต้นปี 2567 แอลเกิดมีความฝันอยากจัดงานแบบเดโมเอ็กซ์โปที่รวมศิลปินออริจินัลของเชียงใหม่ไว้บนเวทีเดียว หากเมื่อเธอพลาดการขอทุนจากสปอนเซอร์ที่กรุงเทพฯ เธอจึงนำโปรเจ็กต์นี้มาคุยกับชา ชาบอกกลับไปว่าเขามีอีกโปรเจ็กต์ที่คิดไว้นานแล้ว เธอร้องว้าว และพับโปรเจ็กต์เดิมลงเดินหน้าเขียนพร็อพเพอซัลของงานนี้ทันที

แต่ก่อนจะเล่าเรื่องนั้นต่อ เราอาจจะต้องย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกนิด

ปลายปี 2566 เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นในวงการดนตรีเชียงใหม่ “เอก แซ็กป่า” นักดนตรีผู้เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องเป็นที่รักของทุกคนได้จากไปเพราะอุบัติเหตุ (เราขอไม่ลงลึกในรายละเอียดตรงนี้ เพราะมันอาจจะทำให้เรื่องยืดยาวเกินไป ไว้เราอาจจะกลับมาเล่าใหม่ ถ้ามีคนอยากฟัง) 

เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากการสูญเสีย เหมือนเกิดหลุมดำที่ดูดให้ทุกคนหันมามองและร่วมรู้สึกไปด้วยกัน หลายเพจหลายเฟซเขียนถึงการจากไปของเอกด้วยความสะเทือนใจ และเมื่อมีการจัดงานรำลึก เอก แซ็กป่า ทุกคนทุกกลุ่มก็มาร่วมกัน มีใครบางคนพูดไว้ว่า เอก นำพาทุกคนให้มาพบมาคุยกัน

นอกจากนักดนตรีแล้ว งานของเอกยังมีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีใครคิดว่า ต่อมามันได้กลายเป็นฐานสำคัญต่องานที่กำลังก่อร่างขึ้น คือการรวมดาต้าออนไลน์ของทุกๆ อย่าง ซึ่ง “หมูใหญ่เป็นคนคิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระจากครอบครัวของเอกกับการที่จะต้องตอบคำถามของทุกคน ลิงค์ทรีของ เอก แซ็กป่า เกิดขึ้นในตอนนั้น (และมันก็ยังคงอยู่จนถึงวันนี้) 

เมื่อทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน มันก็คล้ายๆ กับมวลสารอัดแน่นที่รอการจุดระเบิด

ขอกลับมาที่โปรเจ็กต์ของชาและแอลในปี 2567 แอลกางพร็อพเพอซัลพรึ่บออกมาต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุม ทุกคนดูพร็อพเพอซัลของแอลแล้วมองเห็นความเป็นไปได้ จึงตกลงลุยกัน

มองเห็นความเป็นไปได้ อย่างไร

หมูใหญ่เล่าว่า ทีแรกเขายังกังวลว่างานจะนี้กร่อยไหม เพราะไลน์อัพศิลปินเกือบทั้งหมดเป็นเบอร์เล็กๆ แต่พอเขาไปดูดาต้าเบสของสปอติฟาย พบว่าศิลปินเชียงใหม่ร่วมร้อยนั้นมีฐานแฟนเพลงเป็นล้าน แม้จะมีส่วนที่ทับซ้อนกัน แต่นั่นก็เป็นตัวเลขที่พอจะส่องให้เห็นอะไรรำไร

ตอนนั้นสุพิชาได้มีการติดต่อพูดคุยเรื่องทุนกับหน่วยงานท่องเที่ยวของจังหวัด และตอนนั้นดูเหมือนจะมีความหวัง กำหนดการจึงถูกวางไว้หลวมๆ ราวกลางกันยายนถึงตุลาคม

หากแต่…ทุกอย่างยังไม่มีการยืนยันมั่นเหมาะใดๆ

วันเวลาที่วางไว้เริ่มขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แต่ข่าวก็ยังเงียบ

ระหว่างรอคำตอบจากหน่วยงานนั้น เราจะขอแวะเล่าถึงอีกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือสื่อดนตรีออนไลน์ของเชียงใหม่

หนึ่งคือ Tempowav ที่รันโดย เอิง (น่าจะพอจำชื่อนี้ได้แล้วใช่ไหม) อีกหนึ่งคือ Youtube channel ชื่อ HarmoNoise รายการไลฟ์เซสชั่นสลับทอล์ค สื่อสองสำนัก แม้มีความต่างในรูปแบบ แต่ก็ร่วมกันนำพาคลื่นเสียงตัวตนของเชียงใหม่ซาวด์ให้ กระเพื่อมกระจายไกลออกไป แล้วนอกจากนั้นก็ยังมี Lanner สื่อของเชียงใหม่ ที่แม้ไม่ได้พูดถึงดนตรีเป็นหลัก แต่ก็มีการแนะนำผลงานของศิลปินเชียงใหม่อยู่เสมอ

กลับมาที่เส้นไทม์ไลน์หลัก ระหว่างที่ยังไม่ได้คำตอบ ชาได้เดินทางพาวง helicopter secondhand ไปเล่นที่ไต้หวัน เขาก็ได้รับคำตอบของงานที่รอมานาน

หากคำตอบนั้นกลายเป็นว่า ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดและคุยกันไว้ ทางส่วนกลางรวบงานและงบประมาณไปทำเองทั้งหมด โดยมีออแกไนเซอร์เจ้าใหญ่เจ้านึงได้รับการจ้างงาน มิหนำซ้ำ งานกิจกรรมส่วนหนึ่งใน อีเว้นต์ใหญ่ยักษ์นั้นมีลักษณะกิจกรรมและไลน์อัพนักดนตรีคล้ายกันมากจนเรียกได้ว่าเกือบเหมือนกับพร็อพเพอซัลที่ชาส่งไป

สเตตัสส่วนตัวของชาบันทึกไว้ว่า เขานั่งร้องไห้กลางกรุงไทเป

เรื่องนี้เกิดเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ขึ้นมาอีกครั้งในสังคมดนตรี เกิดกระแสเรียกร้องความโปร่งใสของการจัดงานของภาครัฐ มีการแบนงานนี้จากหลายสถานประกอบการ โดยให้เหตุผลว่านี่ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยสังคมดนตรีเชียงใหม่ มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เขียนออกมาจากหลายสำนัก  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนถึงการใช้ทุนของรัฐ ตั้งคำถามว่า นั่นหรือคือคำตอบที่ถูกต้องของกาสรสนับสนุนวัฒนธรรมในท้องถิ่น?

กลับมาที่งานไฮโฮะ (ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อไฮโฮะ) เมื่อผิดแผนแรก ก็จึงต้องไปแผนสอง ซึ่งก็ยังนับว่าไฮโฮะยังมีความหวังอยู่บ้าง เพราะในเชียงใหม่ ยังพอมีคนที่มองเห็นคุณค่าทางศิลปะ และอยากเห็นภาพนั้นเกิดขึ้นได้จริงที่นี่ (แอบกระซิบว่าคนสนับสนุนหลักหนึ่งในนั้นเป็นคนต่างชาติ)

แม้ว่างบประมาณจะหดเล็กลงจากโครงการเดิมไปมาก นักดนตรีได้ค่าตอบแทนลดลง แต่ก็ไม่มีใครถอนตัว งานเริ่มรันงานที่เรียกได้ว่าสเกลใหญ่มาก กว่า 80 ศิลปิน บนยี่สิบอเวนิว ในเวลายี่สิบกว่าวัน มีสิ่งที่ต้องทำมากมายบนเวลาอันกระชั้นชิด โดยเฉพาะฝ่ายเออาร์ที่ต้องแบ่งกันติดต่อศิลปินจำนวนมาก ผ่านการถกเถียงการขยับตารางไปมาเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า จนทีมเออาร์ถึงกับจะอ้วก แต่สุดท้ายตารางเวลาก็เคาะออกมา

ชื่อไฮโฮะ ก็เอามาจากงาน โฮะ เดิม เพิ่มเติมคือ ไฮ ที่มาจากไฮซีซั่น บนคอนเซ็ปต์เรียบง่ายว่า “Every Season is High Season”

และเมื่อโชว์แรกเริ่มต้นขึ้น ความกังวลใดๆ ก็ปลาสนาการไป มีคนสนใจมาเข้าชมจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ ถึงแม้บางช่วงเวลาของบางวันนั้นคนมาน้อย รวมถึงถูกคลื่นมวลน้ำซ้ำกระหน่ำเป็นคราวเคราะห์ เชียงใหม่เจอน้ำท่วมครั้งใหญ่สองรอบติด ทำให้ต้องขยับเลื่อนตารางออกไป และถ้ามองจากภายนอกอาจจะยังเห็นร่องรอยขรุขระอยู่บ้างในหลายๆ จุด ยังมีอุปสรรคไม่เอื้ออำนวยให้ศิลปินเผยแพร่งานในรูปแบบการแสดงสดได้เต็มที่ คนฟังจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่คุ้นชินกับรูปแบบ หรือยังไม่เปิดใจรับฟังเพลงที่ไม่รู้จัก

แต่มันช่างเห็นได้ชัดถึงความพยายามจะลุกขึ้นส่งเสียงของชาวหัวเมือง ผู้ต้องการปลดแอกความคิดอยากออกไปจากการครอบงำเบ็ดเสร็จบนลงล่างจากส่วนกลาง 

คนหัวเมืองผู้ต้องการยืนยันว่า พวกเรามีอยู่ รวมถึงมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง หากส่วนกลางจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการร่วมออกแบบพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่รองรับความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงเพียงพอกับความต้องการ นั่นอาจหมายถึงการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรให้คล้องจองกับการเคลื่อนของแต่ละองคาพยพ

หากเป็นดังนั้นได้  วัฒนธรรมไม่ว่าจะกระแสหลักหรือรอง อาจได้มีโอกาสพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน

นั่นมิใช่ จังหวะหัวใจที่ Soft Power ควรจะเต้นไปหรอกหรือ?

 

ปล. ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หลังจากงาน ไฮโฮะ เชียงใหม่ ก็ยังมีงานดนตรีอีกหลายงาน ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดย่อม ซึ่งแม้บางงานจะมีวงจากส่วนกลางมาเป็นไลน์อัพ แต่ทุกงานล้วนแล้วแต่ชูโรงด้วยศิลปินท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาทั้งสิ้น

 

ABOUT THE AUTHOR
เพียงธุลี

เพียงธุลี

ALL POSTS