HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
สัมผัส “ลมหายใจในป่าเมฆ ดอยอินทนนท์” ผ่านเลนส์
by Ohnabelle
10 ก.พ. 2568, 14:30
  81 views

ภาพถ่าย 50 ภาพ จากกว่าหมื่นภาพที่สองช่างภาพที่คร่ำหวอดในการถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ป่าใช้เวลากว่า 2 ปีถ่ายไว้ และถูกคัดมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ลมหายใจในป่าเมฆ ดอยอินทนนท์” บริเวณผนังโค้ง ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ ระหว่าง 4-16 ก.พ. 2568 นี้ บางภาพอาจไม่ได้สวยงามแปลกตาในแง่องค์ประกอบศิลปะ แต่ทุกภาพคือการบันทึกชีวิต ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ และลมหายใจของดอยอินทนนท์ หนึ่งในป่าต้นน้ำที่สำคัญมากของประเทศไทย 

ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นฝีมือของ ณรงค์ สุวรรณรงค์ และ ธเนศ งามสม สองช่างภาพที่คลุกคลีกับป่า สัตว์ป่า และพรรณพืชในทุกผืนป่าทั่วประเทศมานานหลายสิบปี โดยได้รับการชักชวนจากมูลนิธิไทยรักษ์ป่าซึ่งทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนเกิดความตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของป่าต้นน้ำสำคัญทั่วประเทศ และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติของดอยอินทนนท์มาตั้งแต่พ.ศ. 2545 เช่น การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นต้น

จากการทำงานในพื้นที่มานาน และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของป่าต้นน้ำในดอยอินทนนท์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ป่าเมฆ” หรือป่าในพื้นที่สูงระดับเดียวกับเมฆ มีความชุ่มชื้น อากาศเย็น มีเมฆหมอกแทบจะตลอดทั้งปี มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงได้ชวนสองช่างภาพผู้มีประสบการณ์มาร่วมบันทึกชีวิตและลมหายใจของป่าเมฆแห่งนี้ ไว้เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายสัตว์ป่าและพรรณพืช และได้คัดเลือกภาพเด่นๆ ที่บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของป่าดอยอินทนนท์ที่ยังคงเหลือให้เราได้ชื่นชมในวันนี้

จากโจทย์ยากคือ การบันทึกภาพสัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตที่เห็นได้จากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้ว่าพวกเขาสามารถมองเห็นชีวิตเหล่านี้ได้จากเส้นทางที่กำลังเดินอยู่ และเรียนรู้จากทุกลมหายใจของธรรมชาติ แต่แน่นอนว่า เส้นทางที่มีผู้คนผ่านจำนวนมาก ย่อมไม่เป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่า ทำให้การถ่ายภาพครั้งนี้ต้องใช้เวลา ความอดทน สายตาที่เฉียบคมและประสบการณ์

ด้วยประสบการณ์ของณรงค์และธเนศ  และการลงพื้นที่มากกว่า 25 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ละครั้งต้องฝังตัวอยู่ในป่าประมาณ 10 วัน ทำให้เก็บภาพสัตว์ป่าและต้นไม้ ดอกไม้ที่น่าสนใจ โมเมนต์พิเศษที่ชั่วชีวิตนี้อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เช่น ลูกกวางผากำลังดูดนมแม่ ปาดดอยอินทนน์ซึ่งเป็นปาดขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นปาดบินที่พบเฉพาะในดอยสูง เป็นต้น  ช่างภาพทั้งสองได้ใช้กวางผาเป็นเส้นเรื่องหลัก และติดตามชีวิตกวางผาไป เพื่อให้เล่าเรื่องราวชีวิตสัตว์ พืชพรรณที่พบระหว่างทางที่ติดตามกวางผาในป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์

 

สำหรับธเนศ เมื่อรับงานโปรเจคนี้ สิ่งที่ฝันไว้คือ อยากเห็นกวางผาแม่ลูก เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงปัจจุบันและอนาคต ตามคอนเซ็ปต์ของหนังสือคือ ลมหายใจในป่าเมฆ  และหลังจากลงพื้นที่ได้ไม่นาน ความฝันก็เป็นจริงเมื่อพบกวางผาแม่ลูกคู่แรก  และตลอดระยะ 2 ปีที่ทำงานในดอยอินทนนท์ พบกวางผาแม่ลูก 2 คู่ ทำให้สามารถบันทึกภาพได้ตามที่ฝันไว้

และสำหรับณรงค์ หนึ่งในภาพที่เขาชอบที่สุด คือ เพียงพอนเส้นหลังขาว เพราะเป็นภาพที่ถ่ายยากเนื่องจากเป็นเวลาเช้าตรู่พระอาทิตย์ยังขึ้นไม่พ้นสันเขา ภายในหุบยังคงมืดสลัว แต่เมื่อสัตว์หายากโผล่มาทักทาย สัญชาตญาณช่างภาพคือต้องลั่นชัตเตอร์ไว้ก่อน ดังนั้นแม้องค์ประกอบของภาพจะไม่ได้สวยงามสะดุดตา แต่เรื่องราวที่อยู่ในภาพเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด

“ผมอยากให้คนที่ไปเที่ยวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์ ได้เดินให้ช้าลง และสังเกตมากขึ้น ธรรมชาติจะสอนเราเองว่าลมหายใจของป่ามีค่าแค่ไหน” ณรงค์กล่าว

แต่ถ้าใครพลาดนิทรรศการ “ลมหายใจในป่าเมฆ ดอยอินทนนท์” ไป ไม่ต้องเสียใจ เพราะยังสามารถชื่นชมภาพประทับใจและเรื่องราวจากการบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมชาติผ่านเลนส์ของสองช่างภาพมือฉมังได้ในหนังสือภาพถ่าย “ลมหายใจในป่าเมฆ ดอยอินทนนท์” สั่งซื้อหนังสือได้ที่ Facebook Page มูลนิธิไทยรักษ์ป่า (www.facebook.com/thairakpaofficial) ในราคาเล่มละ 2,500 บาท บัญชีมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เลขที่บัญชี ธนาคารกรุงเทพ 229-0-599778-6 (ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า) โดยจะนำรายได้ทั้งหมดไปสนับสนุนภารกิจการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าเพื่อต่อลมหายใจให้กับป่าต้นน้ำสำคัญๆ ทั่วประเทศต่อไป

 

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS