ดีพร้อมเปิดเส้นทางสร้างแบรนด์โกโก้ไทยให้ปัง ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เดียวในโลก
ใครกำลังมองหาโอกาสจากพืชเศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ "โกโก้" ถือเป็นหนึ่งตัวเลือกที่กลายเป็นดาวรุ่งอนาคตไกล เพราะรสชาติและคุณภาพโกโก้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก อีกทั้งยังสามารถพัฒนาได้อย่างครบวงจร
เกษตรกรไทยปลูกโกโก้กันมานานหลายทศวรรษแล้ว เริ่มจากภาคใต้แล้วขยายไปยังพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่มีอากาศชื้น โดยปลูกแซมเป็นรายได้เสริมมากกว่าพืชเชิงเดี่ยว แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจมากในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา และสร้างความตื่นตัวยิ่งขึ้นเมื่อโกโก้สัญชาติไทยไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วหลายแบรนด์ ล่าสุด ช็อกโกแลตไทยก็ยืนหนึ่งในเวทีประกวด International Chocolate Awards 2024 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
หลายคนอาจไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตไทยคุณภาพดีจากหลากหลายพื้นที่ เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ที่รังสรรค์ไปเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ขนม หรือผสมกับสมุนไพร รวมถึงการนำไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สกินแคร์ และยา
แนวโน้มตลาดโกโก้
การเติบโตของงร้านคาเฟ่ เบเกอรี่ และเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทำให้ความต้องการโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะการขาดแคลนเมล็ดโกโก้ในตลาดโลกตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากผลผลิตตกต่ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐ (ณ เดือนตุลาคม 2567) หรือเพิ่มขึ้น 180% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากแนวโน้มตลาดโกโก้และช็อกโกแลตที่โตต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (Department of Industrial Trade: DIPROM) ลุกขึ้นมาผลักดันอุตสาหกรรมโกโก้ไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อวางแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมโกโก้อย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บอกว่า ตลาดโกโก้ของโลก ปี 2566 มีมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 หรือประมาณ 760,000 ล้านบาท ส่วนประเทศไทย ปี 2566 มีการผลิตเมล็ดโกโก้ 3,360 ตัน ขยายตัวถึง 160% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น นครศีธรรมราช ระนอง และพัทลุง โดย 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์โกโก้เป็นมูลค่า 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีญี่ปุ่น จีน เมียนมาร์ มาเลเซีย และอินเดีย เป็นตลาดหลัก
ดีพร้อมยังแนะอีกว่า นอกจากการเพิ่มผลผลิตรองรับความต้องการโกโก้ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการควรมองเทรนด์ผู้บริโภคว่าต้องการอะไร เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือซูเปอร์ฟู้ด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะโกโก้มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ทั้งช่วยลดความดันโลหิตสูง ชะลออาการสมองเสื่อม มีสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด
มาตรการส่งเสริมโกโก้ไทย
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกโกโก้ในประเทศไทยกว่า 20,000 ไร่ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโกโก้ ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การหมัก ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม บอกว่า ดีพร้อมได้ทำจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ประเทศไทย 3 ปี (2567-2569) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีมาตรการส่งเสริมอย่างจริงจังและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยมีการดำเนินการใน 4 มาตรการคัญที่ครอบคลุมต้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้อย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ จำนวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน ตลอดจนการนำเข้าและส่งออก เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้เกษตรกร และผู้ประกอบการภาคเอกชน ใช้วางแผนและตัดสินใจด้านการผลิต การตลาด และการลงทุนได้อย่างถูกต้อง
มาตรการแรกจะเป็นเรื่องการพัฒนาคน ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งดีพร้อมได้ริเริ่มหลักสูตรอบรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดโกโก้ ได้แก่ หลักสูตรการหมัก การทำคราฟต์ช็อกโกแลต และการคัดแยกคุณภาพเมล็ดโกโก้ มีการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทั่วประเทศ รวมถึงคนที่สนใจ และจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นอีกในอนาคต
ขณะเดียวกัน ดีพร้อมก็สนับสนุนการรวมกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทาน จนในที่สุดก็เกิดเป็นสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ทำได้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มาตรการที่สอง จะเน้นเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต โดยจะสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในระดับสากล เช่น เครื่องคั่วเมล็ดโกโก้อัจฉริยะด้วยระบบ AI และเครื่องบีบสกัดไขมันเนยโกโก้ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีแบรนด์ของตัวเองอยู่แล้ว ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตได้มากขึ้น เช่น Super Food คอสเมติกส์ ทำเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของยา/สมุนไพร รวมไปถึงการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตโกโก้ มาทำเป็นวัสดุคอมโพสิต เช่น เปลือกโกโก้ (กะลาโกโก้)
มาตรการที่สาม จะเป็นการพัฒนาปัจจัยเอื้อ โดยการสร้างมาตรฐานเมล็ดโกโก้ ผลิตภัณฑ์ และด้านการเกษตรปลอดภัย โดยผลักดันให้เข้าสู่เกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย เป็นการส่งเสริมด้านการตลาด โดยเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์เข้าสู่โมเดอร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า และตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ศูนย์รวมคนรักโกโก้
ต้องบอกว่า แจ๊ค-บดินทร์ เจริญพงศ์ชัย เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบโกโก้ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนโกโก้ไทยจนสามารถจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย หรือ TACCO (Thai trade Association of Cacao and Chocolate) ได้เป็นครั้งแรก โดยมีสมาชิกแล้วกว่า 150 คน ซึ่งมีผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องโกโก้ระดับหัวกะทิ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอยู่ด้วย
สมาคมฯ วางแนวทางไว้ 3 เรื่องหลัก คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในทุกเรื่องของโกโก้ให้แก่สมาชิก (Expertise) เพราะเรามีคนเก่งๆ ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงอบรมตั้งแต่การปลูก การหมัก ตาก คั่ว ไปจนถึงการแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของตลาด, การสร้างมาตรฐาน และการรับรองคุณภาพ (Standardization & Centification) โดยจะสร้างมาตรฐานกลางขึ้นมาพื่อให้คนที่อยู่ในซัพพลายเชนใช้ในการซื้อขาย ทำให้เกิดการสื่อสารที่เป็นภาษาเดียวกัน, และการสร้างแบรนด์และการสื่อสาร (Branding & Communication) ผ่านรูปแบบต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่ดูแลจัดการฟาร์มโกโก้ได้เป็นอย่างดี โดยคาดหวังว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นศูนย์กลางโกโก้แห่งเอเชียได้
ตอนนี้สิ่งที่ท้าทายที่สุดของอุตสาหกรรมโกโก้ไทย คือ ซัพพลายเชน ทั้งผลผลิตไม่พอ หรือมีแต่คุณภาพไม่ดี ฉะนั้น สมาคมฯ จะเป็นเหมือนกระดาน matching ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการแปรูป ขณะเดียวกัน ก็ร่วมมือกับดีพร้อมจัดทำ train the trainers โดยเรามีคนที่ผ่านการฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาแล้ว เพื่อมาบ่มเพาะคนหมักเมล็ดโกโก้ขั้นเทพในแต่ละภาค แล้วนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อไป
แจ๊ค บอกว่า ต่อจากนี้ไปเราจะมีโกโก้และช็อกโกแลตไทยอร่อยๆ คุณภาพพรีเมียมออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราอยากให้คนไทยได้บริโภคสินค้าคุณภาพดีก่อน อารมณ์เหมือนผลไม้หลายชนิด เช่น ทุเรียน ที่คนไทยไม่มีโอกาสได้บริโภคทุเรียนคุณภาพพรีเมียม เพราะถูกคัดส่งออกไปต่างประเทศหมด
จุดเด่นของช็อกโกแลตไทยคือ มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเปรี้ยวแบบผลไม้ที่ให้ความหอมอร่อย เรียกว่าเป็นฟรุตตี้ช็อกโกแลต ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก
นอกจากทำหน้าที่นายกสมาคมฯ แล้ว แจ๊คกำลังปั้นคาเฟ่ Cacao Everywhere ให้เป็นแบรนด์เหมือนสตาร์บัคส์ สำหรับคนที่หลงใหลในโกโก้และช็อกโกแลต และต้องการให้เป็นแหล่งรวมคราฟต์ช็อกโกแลตชั้นดีทั่วประเทศ โดยเปิดสาขาแรกอยู่ติดกับสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และตั้งใจจะเปิดให้ได้ 10 สาขา ภายใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เพื่อให้ต่างชาติได้ลิ้มลองโกโก้และช็อกโกแลตดีๆ ของไทย
บางคนอาจจะไม่รู้ว่า โกโก้ (Cocoa) กับ คาเคา (Cacao) ต่างกันยังไง เอาเป็นว่า คาเคา ได้มาจากเมล็ดโกโก้กะเทาะเปลือกที่ไม่ผ่านการคั่ว แต่อาจมีการอบที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้ยังคงสารอาหารไว้ได้มากกว่าโกโก้นั่นเอง