HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
อยู่อย่างไรให้รอดในยุคโลกร้อน (จนเดือด)? โจทย์ใหญ่ท้าทายมวลมนุษยชาติ
by L. Patt
14 ต.ค. 2567, 08:57
  647 views

ทำไมโลกถึงส่งบริการพิเศษใหม่ๆ มาทำลายล้างมนุษยชาติกันอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน? ร่วมค้นหาคำตอบ พร้อมปรับตัวก่อนสาย กับ อ.ธรณ์

ทุกวันนี้แค่ใช้ชีวิตอยู่ให้รอด (ถึงสิ้นเดือน) ก็ยากแล้ว แต่จะอยู่ให้รอดในภาวะโลกร้อน (จนเดือด) ได้อย่างไร? ยากกว่า!! เพราะล่วงเลยเวลาที่จะหันหลังกลับไปแก้ไขอะไรได้แล้ว สิ่งที่เราต้องเจอคือ พายุที่ถล่มไม่หยุดหย่อน โลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว หรือ Extreme weather ก็จะยิ่งเกิดถี่ขึ้นและแรงขึ้น ตราบใดที่ยังไม่มีเทคโนโลยีมาจัดการกับพายุได้ (มีแต่ในภาพยนตร์) แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับความเสี่ยงกันยังไง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝากเรื่องราวไว้ให้คิดว่า "เราจะอยู่ให้รอดในภาวะโลกร้อนได้อย่างไร" ในงาน SX2024 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งฉายภาพให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่า ทำไมโลกถึงส่งบริการพิเศษใหม่ๆ มาทำลายล้างมนุษยชาติกันอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน

อ.ธรณ์ บอก 3 เรื่องหลักที่ต้องเร่งจัดการกับปัญหาโลกร้อน

สิ่งที่ต้องจัดการกับปัญหาโลกร้อนมี 3 เรื่องหลักๆ คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมากติดท็อปของโลกอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องคิดมาก เรื่องที่สองคือ การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นระบบการกู้ภัย การเตือนภัย ไปจนถึงการปรับปรุงผังเมือง และสุดท้ายคือ เรื่องการปรับตัว ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจ ก็ต้องทำให้เป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จึงจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจก็ต้องเป็นธุรกิจสีเขียว ใครทำก่อนก็ได้เปรียบ เพราะถูกบีบบังคับจากกติกาข้อบังคับของต่างประเทศอยู่แล้ว

 

การเมืองระยะสั้น

การแก้ปัญหาโลกร้อนต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยมีการเมืองระยะสั้น และมีแต่นโยบาย ถ้าจะทำให้เขียวก็ต้องลงทุน ยกตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต่างหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนและมีความมั่นคง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นจากศูนย์ข้อมูลต่างๆ ของพวกเขา โดยไมโครซอฟต์ ได้ตกลงซื้อพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์จาก Three Mile Island ในรัฐเพนซิลเวเนีย ขณะที่แอมะซอนเพิ่งซื้อศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน ส่วนออราเคิล กำลังวางแผนออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์

 

คนไทยจะอยู่อย่างไรในวันที่โลกร้อน

อ.ธรณ์  ยังถ่ายทอดมุมมองผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า เมื่อเราไม่สามารถบันดาลให้ป่าบนเขากลับมาในพริบตา เราไม่อาจทำให้ก๊าซเรือนกระจกบนฟ้าลดลง (มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม) เราอาจโวยวายอยากให้ภาครัฐยกระดับการป้องกันภัยพิบัติ แต่วันนั้นจะมาไม่ถึงง่ายๆ มันจึงถึงเวลาที่เราต้องช่วยตัวเอง

 

ทักษะชีวิตสำคัญที่สุดในยุคนี้

ความยากสุดของการใช้ชีวิตในยุคนี้ ก็คือการที่เรายังยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ต้องหาโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน อาชีพ หรือการทำธุรกิจที่เป็นสายกรีน เมื่อก่อน เราเรียนหนังสือเพื่อจะหาตังค์ให้เก่งที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ ต้องคิดว่าทำยังไงจะเก็บตังค์ที่หามาให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียมที่ทำให้ต้องแบกภาระผ่อนหนี้นาน 30 ปี แต่ใช้วิธีเช่าไปเรื่อยๆ เบื่อก็ย้าย ยิ่งแก่แล้วก็ยิ่งไม่ต้องลงทุน จะได้ไม่ต้องเอาเงินที่เหลืออยู่มาซ่อมบ้าน เก็บตังค์ไว้กับตัว หากเข้าใกล้วัยเกษียณ ฝันอยากหนีจากเมืองใหญ่ไปอยู่ชนบทแสนสบาย อากาศดีมีความสุข ก็ต้องแน่ใจว่าสถานที่ไปจะทำให้มีความสุขแน่ๆ ไม่ใช่กลายเป็นผู้ประสบภัยในต่างจังหวัด เลือกเช่าระยะสั้น ย้ายไปเรื่อยๆ อาจเป็นทางออกของคนยุคปัจจุบัน

ถ้าใครจะซื้อบ้าน ก็หลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่อาศัย หรือทำมาหากินในพื้นที่เสี่ยง แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ต้องประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงรอบด้าน เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อทรัพย์สิน ทำอย่างไรในการรับมือ หรือหนีภัยในเวลาฉุกเฉิน หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก โดนแล้วโดนอีก และจะโดนมากขึ้น บางครั้งอาจต้องตัดสินใจในทางเลือกสุดท้าย คือ ถอยทัพ

ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต มูลค่าที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ จะไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เหมือนในอดีต ความเสี่ยงจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการลงทุนป้องกันภัยพิบัติต้องใช้เงิน และจะมีแต่มากขึ้น ที่ดินที่เสี่ยงน้อยกว่าคือ คุ้มค่ากับการลงทุนและการอยู่อาศัยในระยะยาว

"ผมพยายามตัดทรัพย์สินพะรุงพะรังให้หมด สมัยเด็กๆ พ่อจะบอกว่า ที่ดินแถวนี้จะมีถนนตัดผ่าน ถ้าซื้อที่ดินไว้ เดี๋ยวราคาก็ขึ้น  แต่หลักการของผมคือ ถือครองอะไรที่เรามีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว" 

ส่วนคนที่ลงทุนเล่นหุ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ต้องคิดอย่างรอบคอบ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากภัยพิบัติจริงจัง เช่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งได้รับผลกระทบจาก Extreme Weather โดยล่าสุด ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ (Yagi) เข้าถล่มภาคเหนือของเวียดนาม เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายอย่างหนัก และยังส่งผลต่อไทยทำให้เกิดน้ำท่วมอีกด้วย

เกิดอะไรเมื่อทะเลเดือด

อ.ธรณ์ บอกว่า ทะเลคือโลก เพราะกินพื้นที่ 70% ของโลก และความร้อนที่เกิดขึ้น 93% จะถูกดูดซับด้วยทะเล แต่เมื่อดูดไปเป็นเวลานานๆ นับร้อยปี ความร้อนของทะเลก็สูงขึ้นจนเรียกกันว่า ทะเลเดือด การจะทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงนั้น บอกได้เลยว่าไม่มีทาง ซึ่งอุณหภูมิน้ำทะเลของโลกได้ทำลายสถิติติดต่อกัน 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว และเป็นสาเหตุให้เกิด extreme weather ยิ่งน้ำทะเลร้อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้พายุแรงและเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นจะทำให้พายุเกิดง่ายขึ้น ถ้าอุณภูมิน้ำทะเลเกิน 26-27 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดพายุหมุนเขตร้อน โดยพายุที่มีความเร็วต่ำกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเรียกว่า ดีเปรสชัน ความเร็ว 60-120 เรียกว่า พายุโซนร้อน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเป็นไต้ฝุ่น และเกิน 120-240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น

การประชุม World Economic Forum 2024 ระบุว่า ในระยะสั้น สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ถูกจัดเป็นความเสี่ยงมากที่สุดต่อเศรษฐกิจโลก และในระยะยาว สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงตามมาด้วยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อระบบโลก (Earth system) จะเป็นความเสี่ยงมากที่สุดต่อเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่าง เครื่องบินตกหลุมอากาศ ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากนั่นเอง แต่ละโซนของโลกจะได้รับผลกระทบจาก  Extreme Weather ที่แตกต่างกัน บางแห่งอาจจะเป็นพายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น คลื่นความร้อน หรือน้ำท่วมหนัก

อ.ธรณ์ ชี้ให้เห็นว่า ทำไมฝนตกไม่เหมือนในอดีต ก็เพราะทะเลร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำระเหยมากขึ้น และทำให้เมฆในปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดฝนตกหนักมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้เกิดน้ำท่วมเนื่องจากระบายไม่ทัน

นอกจากนี้ เราจะเห็นความพังพินาศของระบบนิเวศทางทะเลในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปะการังฟอกขาว และหญ้าทะเลตาย ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS