เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วยต้องสงสัย "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ Clade 1B รายแรกในไทย
ล่าสุดวันนี้ (21 ส.ค.2567) อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรค "ฝีดาษลิง" ซึ่งเป็นชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ขณะนี้ยังไม่ได้ยืนยัน 100%
เบื้องต้นทราบว่าผู้ป่วยเป็ยชาวยุโรป ที่เดินทางเข้าไทยวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 18.00 น. และเดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ชนิด Clade 1B โดยเดินทางมาจากที่ประเทศที่สงสัย และต่อเครื่องบินจากประเทศตะวันออกกลาง ไม่ใช่เดินทางโดยตรงมายังประเทศไทย (ทั้งนี้ มีระบบการสอบสวนโรค 43 คนที่นั่งใกล้ชิดบนเครื่องบินที่เป็นทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งต้องเฝ้าระวังติดตามอาการไปอีก 21 วัน)
จากนั้นวันที่ 15 สิงหาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยจึงเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลซักประวัติได้มีการตรวจฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ปรากฏผลลบ ส่วนการตรวจสายพันธุ์ Clade 1B ปรากฏว่าผลไม่ชัดเจน โดยมีการตรวจยืนยันอีกว่าใช่ฝีดาษลิงหรือไม่ด้วยการใช้ยีนส์ ซึ่งพบว่าเป็นฝีดาษลิงอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ Clade 2 ส่วนสายพันธุ์ Clade 1B ก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องมีการไล่ยีนส์ตรวจซ้ำอีกครั้งว่าใช่สายพันธุ์ Clade 1B หรือไม่
ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง คาดว่าวันที่ 23 ส.ค.นี้จะสามารถยืนยันผลการตรวจได้ 100% หากผลการตรวจยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ 1B ก็จะถือว่าเป็นผู้ป่วยคนแรกที่พบในประเทศไทยสำหรับสายพันธุ์ 1B
สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย
อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ฝีดาษลิงมีหลายสายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์ใดระบาด โดยในปี 2565 มีการระบาดของสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันประมาณ 800 คน
ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีก็พบฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ประมาณ 140 คน แต่เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองของประเทศไทยหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้
สำหรับสายพันธุ์ที่มีการระบาดในทั่วโลกขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Clade 1 หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง โดยพบกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและผู้สูงอายุ และสายพันธุ์ Clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก
ความแตกต่างของสายพันธุ์ Clade 1B กับสายพันธุ์ Clade 2
เดิมสายพันธุ์ Clade 2 ที่ระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์ที่พบในผู้ใหญ่เยอะ แต่ Clade 1B พบในเด็กเยอะ ซึ่งสายพันธุ์ Clade 1B นั้นรุนแรงกว่า Clade 2 แต่ไม่ได้รุนแรงจนน่ากลัว และไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด-19
อาการฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1
โดยทั่วไปอาการจะเริ่มแสดงภายใน 5-21 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ และอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ คอ หรือขาหนีบ
- มีผื่นขึ้น เริ่มจากใบหน้าแล้วลามไปทั่วร่างกาย มีหลายระยะ เริ่มจากตุ่มเล็กๆ สีแดง ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และสุดท้ายตกสะเก็ด
- อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย หรือมีการอักเสบของเยื่อบุตา
การรับเชื้อของฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1
- การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง หรือของเหลวจากตุ่มน้ำของผู้ป่วย เป็นวิธีการแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด
- การสัมผัสกับสิ่งของปนเปื้อน เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า เครื่องใช้ส่วนตัว หรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนด้วยสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางการแพร่เชื้อที่สำคัญ
วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะการสัมผัสกับผื่น
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสิ่งของ หรือพื้นผิวที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
- สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก
- ฉีดวัคซีน หากมีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง ควรได้รับการฉีดวัคซีน
ล่าสุด สภากาชาดไทย โดยสถานเสาวภา เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งมีค่าฉีดเริ่มต้นที่เข็มละ 2,200 บาท