HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เมิร์ซ เอสเธติกส์ นำร่องปลุกกระแสรีไซเคิลขยะจากหัตถกรรมความงาม
by L. Patt
7 ส.ค. 2567, 07:10
  367 views

"ถ้านำหัว Ultherapy transducer ใช้แล้ว มาเรียงต่อกันในแนวตั้งจะสูงเท่ากับหอไฮเฟล 12 หอต่อกัน หรือ 3,900 เมตร ส่วนกล่องผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักรวม 17.45 ตัน หรือเท่ากับช้างแอฟริกาโตเต็มวันถึง 3 ตัว" เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย และสิงคโปร์

 

ต้องยอมรับว่าเทรนด์การใส่ใจดูแลผิวและความงามของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจบริการหัตถการความงามเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ก็ตามมาด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และเครื่องมือหัตถการเหล่านี้จะถูกทิ้งไป 100% เพราะเป็นขยะที่ไม่มีใครรับซื้อ

วันนี้ บริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงาม ลุกขึ้นมาริเริ่มการบริหารจัดการขยะจากหัตถการความงาม ภายใต้โครงการ “Merz Aesthetics Set Zero Aesthetics Waste” เป็นครั้งแรกของโลก โดยจับมือกับพันธมิตร ได้แก่ คลินิกด้านความงาม บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด, แบรนด์ควอลี่ และ บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด

เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย และสิงคโปร์

เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย และสิงคโปร์ เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ได้มีการพูดคุยกันในองค์กรว่า ตลาดความงามมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ได้คำนวณปริมาณขยะเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์ของเมิร์ซ เอสเธติกส์ ตลอด 9 ปี ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ก็ปรากฏว่า ถ้านำหัว Ultherapy transducer ใช้แล้ว มาเรียงต่อกันในแนวตั้งจะสูงเท่ากับหอไฮเฟล 12 หอต่อกัน หรือ 3,900 เมตร ส่วนกล่องผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักรวม 17.45 ตัน หรือเท่ากับช้างแอฟริกาโตเต็มวันถึง 3 ตัว ฉะนั้น ยิ่งตลาดโตมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสร้างขยะมากขึ้นด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาคิดว่า นอกจากการแยกขยะและลดปริมาณการใช้กระดาษภายในองค์กรแล้ว เราจะทำเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้นด้วยการจัดการกับขยะจากหัตถกรรมความงามเหล่านี้ได้อย่างไร

เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ บอกว่า การดำเนินโครงการมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ การเก็บกลับ ปรับโฉม และส่งคืน แต่การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคุยในรายละเอียดกับพันธมิตรแต่ละรายถึงกระบวนการดำเนินการ และความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล โดยเคอรี่จะเก็บขยะจาก 12 คลินิกนำร่อง (Romrawin, The Klinique, L.A.B.X, SLC Clinics & Hospital, APEX, Doctor Tony, Sureephorn, Meko, YOUU, Aed Class, Hertitude, Pruksa) โดยขยะกล่องผลิตภัณฑ์ รวมถึงเอกสารกำกับยาและถาดพลาสติก จะส่งให้ รีไซเคิลเดย์ เพื่อนำไปรีไซเคิล ส่วนหัว Ultherapy transducer ส่งให้ ควอลี่ เพื่อนำไปปรับโฉมเป็นถังอเนกประสงค์ 'มานะ' แล้วส่งคืนให้กับคลินิกที่เข้าร่วมโครงการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งถังมานะ 1 ถัง ผลิตจากพลาสติก 100% จากหัว Ultherapy transducer ใช้แล้ว 10 หัว

ถังอเนกประสงค์ 'มานะ' ที่ผลิตจากการ Upcycle หัว Ultherapy transducer ที่ใช้แล้ว

ในระยะเวลา 3 เดือนที่เริ่มดำเนินโครงการเฟสแรก มีการเก็บกลับหัว Ultherapy transducer ได้ 1,936 หัว (ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567) ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 787 กก./คาร์บอนเทียบเท่า และนำไปผลิตเป็นถังอเนกประสงค์มานะได้ 193 ถัง หรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้ 82 ต้น ขณะที่บรรจุภัณฑ์ถูกนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 131 กก.

เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2570 จะขยายความร่วมมือกับคลินิกพันธมิตรสีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 180 แห่ง ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) จากขยะที่เกิดจากหัตถการความงามได้ถึง 9,000 กก.คาร์บอนไดออกไซด์

ชนัมภ์ ชวนิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รีไซเคิลเดย์

ชนัมภ์ ชวนิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รีไซเคิลเดย์ บอกว่า การจะทำให้ Circular loop มันเกิดขึ้นได้จริงๆ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน และต้องออกแบบการจัดการขยะให้ทำได้ง่าย ซึ่งรีไซเคิลเดย์ เป็นพันธมิตรกับเมิร์ซ เอสเธติกส์ อยู่แล้วในการจัดการขยะ การร่วมมือครั้งนี้ก็เป็นการต่อยอดไปยังขยะจากหัตถการความงามที่ยังไม่มีใครทำ

เขายังเชื่อว่า โครงการ “Merz Aesthetics Set Zero Aesthetics Waste” จะได้รับความสนใจจากคลินิกเสริมความงามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะช่วยลดภาระให้กับคลินิกในการจัดการขยะ อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่ามีการจัดการขยะเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ควอลี่

ส่วน ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ บอกว่า ควอลี่ เป็นแบรนด์ที่เน้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การเข้าร่วมโครงการนี้ก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากขยะประเภทใหม่ แต่ก็ต้องมาคิดว่าจะเอามาทำประโยชน์ได้อย่างไร เพราะหัว Ultherapy transducer มีส่วนประกอบที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง ต้องศึกษาว่าจะแยกชิ้นส่วนแต่ละประเภทออกจากกันได้อย่างไร สุดท้าย เราต้องแยกชิ้นส่วนด้วยมือเพื่อไม่ให้พลาสติกเสียหาย แล้วนำไปบดแล้วขึ้นรูปเป็นชิ้นงานที่ชื่อว่า 'มานะ' ส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต่อไปให้รีไซเคิลเดย์ 

แม้ว่าขยะหัตการความงามจะไม่ได้อยู่ในเรดาร์ที่คนจับจ้อง เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม แต่เขาก็มองว่าการริเริ่มโครงการของเมิร์ซ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการธุรกิจความงาม และสร้างความตื่นตัวในการจัดการขยะเหล่านี้ให้มากขึ้นในอนาคต

กิตติวรรณ ยังบอกอีกว่า การทำโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดจากหัตถการความงาม แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายลดการฝังกลบขยะสู่พื้นผิวโลกให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to landfill)

"เมิร์ซ เอสเธติกส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตเครื่องทางการแพทย์ด้านความงามระดับโลก ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Instructions for Use (IFU) แทนการพิมพ์ใบกำกับบรรจุไว้ในกล่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ใช้สามารถสแกน QR Code จากด้านข้างกล่องได้" ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย และสิงคโปร์ กล่าว

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ Botulinum Neurotxin ของเมิร์ซ เอสเธติกส์ ก็ได้รับการพัฒนากรรมวิธีการผลิตให้มีความคงตัวสูง ทำให้สามารถจัดเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา โดยไม่จำเป็นต้องแช่ในตู้เย็น ซึ่งทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ แต่ยังใช้ไม่ได้ในไทยเนื่องจากอากาศร้อนเกินไป

สำหรับคลินิกความงามที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ merzaestheticssetzerowaste.com

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS