Letter from Rome: บันทึกจากโรมในวันที่ปิดตายสู้โควิด-19
ถนนลาติน่า กรุงโรม
10 มีนาคม 2563
วันนี้เป็นวันแรกที่กรุงโรมและทั้งประเทศอิตาลีอยู่ภายใต้คำสั่ง “ปิดตาย” เมื่อคืนนี้หลังจากอ่านข่าว ฟังซ้ำ เช็คกับหน่วยงานต่าง ๆ และเพื่อนร่วมชะตากรรมจนแน่ใจว่าไม่ใช่ข่าวปลอม ฉันก็เริ่มนึกเห็นภาพถนนที่ว่างเปล่า ความเงียบกริบ บรรยากาศวังเวงน่ากลัว เหมือนที่ฉันเคยเห็นในข่าวและสื่อโซเชียล
ฉันเคยเป็นเพียง “ผู้ชม” ที่กระตือรือร้นเหมือนคนอื่น ๆ ที่คอยเกาะติดสถานการณ์โควิด 19 เผลอแผล็บเดียว ฉันและเพื่อนร่วมชะตากรรม 60 ล้านคนก็ได้เลื่อนขั้นเป็น “ตัวประกอบ” ได้เข้าฉากกับเขาเสียนี่ (แต่ถ้าเป็นไปได้ ขอไม่เป็นตัวเอกแล้วกัน) ทั้ง ๆ ที่พยายาม “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” มาตั้งแต่เริ่มมีข่าวจากทางเอเชีย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปต่าง ๆ นานา
แต่พอรุ่งเช้า ทุกอย่างยังดูเหมือนเดิม แสงแดดที่อบอุ่นส่องผ่านหน้าต่างห้องนอนเข้ามาแยงตาปลุกให้นกฮูกอย่างฉันต้องตื่นขึ้น มองออกไปข้างนอก รถเมล์สายเดียวที่แล่นผ่านหน้าบ้านฉัน ยังคงมาจอดที่ป้ายหน้าบ้าน มีคุณยายกะลูกสาวเดินลงมา คู่รักวิ่งเหยาะ ๆ ผ่านไป คุยกันกระหนุงกระหนิง ร้านกาแฟยังคงเปิดบริการ แต่โต๊ะด้านหน้าที่เคยตั้งติด ๆ กัน ดูเหมือนจะห่างออกนิดหน่อยเท่านั้น ชีวิตในแถบถนนลาติน่าใกล้กำแพงกรุงเก่า ยังคงไม่เปลี่ยนไป
วันนี้ ถ้าเราทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งใหม่ของรัฐบาลอิตาลีที่เพิ่งประกาศเมื่อคืนนี้ ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง พิพิธภัณฑ์ โรงหนัง โรงละคร สถานที่ท่องเที่ยว สนามกีฬา ปิดหมด การจัดงานรื่นเริง งานสังคม ต้องยกเลิกหรือเลื่อนไป โรงเรียน และสถานศึกษาก็ปิดมาได้สัปดาห์กว่าแล้วและเด็ก ๆ ก็เรียนออนไลน์กัน (ที่นี่เขาเรียกกันอย่างน่ารักว่า smart school) และที่ทำงานก็มีการให้พนักงานส่วนหนึ่งทำงานจากบ้าน (เรียกกันว่า smart work) และที่สำคัญที่สุด ใครที่ไม่มีธุระจำเป็นอะไร นายกรัฐมนตรีสุดหล่อของอิตาลี จูเซปเป คอนเต ก็ขอร้องให้อยู่กับบ้าน ตามที่มีการรณรงค์และแฮชแท็ก “ฉันอยู่บ้าน” (#iostoacasa และ #iorestoacasa)
สำหรับฉัน ฉันตอบรับการรณรงค์นี้อย่างไม่อิดออด เพราะปกติฉันก็ทำงานแปลงานเขียนอยู่กับบ้านอยู่แล้ว ลูกชายคนเล็กของฉันก็โชคดีกว่าเพื่อน ๆ เพราะตอนเราย้ายมาอยู่โรมปีแรก ฉันสอนหนังสือลูก ๆ ที่บ้าน และใช้บทเรียนออนไลน์จากทางออสเตรเลีย พอตอนนี้กลับมาเรียนออนไลน์อีกก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรนัก เด็กที่ไม่เคยเรียนออนไลน์คงต้องปรับตัวกันสักพัก สำหรับสามีของฉัน ก็คงเหมือนคนเคยออกไปทำงานนอกบ้านทุกวันทั่วไป อาจจะรู้สึกอึดอัดบ้างที่ต้องอยู่บ้านทุกวัน แต่ที่แน่ ๆ เพียงแค่วันแรก ฉันก็อยากได้พื้นที่ส่วนตัวของฉันคืนแล้ว และภาวนาให้ที่ทำงานเรียกตัวเขากลับไปซะที
และดูเหมือนนิสัยประจำชาติหรือธรรมเนียมของคนที่นี่จะไม่ค่อยสอดคล้องกับนโยบายควบคุมการระบาดของโควิด 19 เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเนียมการทักทาย ความสนิทสนมใกล้ชิดกันในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง และความรักสนุก ชอบพบปะกันตลอดเวลา
ดูจากวันแรกของการปิดประเทศแล้ว ฉันแน่ใจว่าคนเจ้าถิ่นจำนวนมากไม่ตระหนก หรือไม่ตระหนักกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ฉันยังเห็นชาวบ้านออกมากินกาแฟด้วยกัน เดินคุยกันใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนเดิม ทำให้ฉันอดย้อนคิดไปถึงเหตุการณ์ “รถด่วนขบวนสุดท้าย” เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ได้
ก่อนหน้านี้เพียงสองวัน หลังจากรัฐบาลประกาศเพิ่มพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีแดงที่เดิมมีเพียง 11 เมืองให้ครอบคลุมแคว้นลอมบาร์ดีทั้งแคว้นและจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงในแคว้นอื่น ๆ อีก 14 จังหวัด ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แทนที่จะยอมรับการปิดแคว้นและทำตามกฎระเบียบแต่โดยดี มีคนจำนวนมากที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีภูมิลำเนาในแคว้นลอมบาร์ดีแต่อาจจะมาทำงานที่นั่น แห่กันไปขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากมิลานมาทางใต้ก่อนปิดแคว้น จนเกือบจะเกิดการจราจล และเป็นข่าวดังไปทั่วโลก คนกลุ่มนั้นตอนนี้ก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่มีใครรู้ว่า คนพวกนั้นบ้านอยู่ไหน มีปู่ย่าตายายแก่ ๆ รอ(รับเชื้อ) อยู่กี่คน
ฉันถามตัวเอง เหมือนกับที่คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจำนวนหนึ่งถามว่า เป็นไปได้ไหมที่พวกเราทั้งประเทศต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะความไม่ตระหนักของเจ้าถิ่นจำนวนหนึ่งนี่เอง
แต่นับว่ายังโชคดีที่คนอิตาลีส่วนใหญ่ (เริ่ม) ตระหนักกันพอสมควร นอกจากธรรมเนียมความใกล้ชิดสนิทสนมที่คงต้องใช้เวลาในการปรับแล้ว ดูเหมือนอย่างน้อยคนในละแวกบ้านฉันก็รู้ว่า เราควรจะปฏิบัติตัวยังไงในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้

ที่เห็นชัด ๆ วันนี้ก็คือ แถวบ้านฉันไม่มีการต่อสู้แย่งของกันในซูเปอร์อย่างที่เป็นข่าวคึกโครมในออสเตรเลีย หรือแม้แต่ส่วนอื่น ๆ ของอิตาลีอย่างที่สื่อเอาไปออกข่าวกัน อาหาร ข้าวของทุกอย่างมีครบ (ยกเว้นเจลล้างมือและหน้ากากซึ่งเริ่มขาดตลาดไปหลายสัปดาห์แล้ว ทั้ง ๆ ที่แม้ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยมีใครใส่หน้ากาก) วันนี้ มีสิ่งที่แปลกตาออกไปคือมีพนักงานหนึ่งหรือสองคนออกมายืนด้านหน้าและแจ้งให้คนซื้อของรออยู่ข้างนอก และให้เข้าไปจับจ่ายได้ทีละไม่เกินสิบ หรือยี่สิบคน แล้วแต่ขนาดของร้านซูเปอร์ เท่าที่ฉันเห็นทุกคนก็เข้าแถว หรือยืนรอห่าง ๆ กันอย่างสงบและมีระเบียบ เวลามีป้าหรือยายที่ไม่ได้ฟังข่าวมายืนเข้าแถวรอจ่ายเงินใกล้ ๆ กัน พนักงานก็จะเข้าไปสะกิดเตือนแบบสุภาพ ฉันอยากถ่ายรูปมาเก็บดูนัก แต่ไม่กล้า

ตอนบ่ายฉันได้พบกับเพื่อนบ้านโดยบังเอิญ ตอนเอาขยะออกไปทิ้งที่ถังรวมหน้าบ้าน เราทักทายกัน ต่างคนต่างไม่เข้าไปจูบกันสองฟอดเหมือนปกติ และรักษาระยะห่างประมาณหนึ่งเมตรกันโดยอัตโนมัติ เราสองคนต่างสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ และชมกันเองว่า เราเป็นพลเมืองดี ทำตามกฎระเบียบ เพื่อนบ้านยืนยันความเข้าใจของฉันว่า เราสามารถออกไปเดินออกกำลังกายได้ ถ้าเราไม่ไปเป็นกลุ่ม หรือเข้าไปในหมู่คนมาก ๆ
พอได้ยินอย่างนั้น ฉันก็ไม่รอช้าคว้ากล้องคู่ใจออกเดินทันที ถ้าไม่รีบออกไป ใครจะไปรู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นยังไง สถานการณ์ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจริง ๆ
ฉันไม่อยากเป็นพวกแหกกฎเหมือนเจ้าถิ่นบางคน ฉันแค่อยากจะออกไปเดินออกกำลังกายตามเส้นทางที่ฉันใช้ประจำ และอีกใจก็อยากไปดูด้วยตาตัวเองว่า ชีวิตชาวเมืองโรมันใจกลางเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

ฉันโชคดีที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของโรมเกือบทุกแห่ง แต่วันนี้เอาแค่เบาะ ๆ เดินผ่านบ้านทูตสองสามแห่งที่ดูเหมือนตึกร้าง ผ่าน ไปถึงโคลีเซี่ยมแล้ววกกลับผ่านโบสถ์ซานจีโอวานนี่ โบสถ์แห่งแรกของโรม แค่ 4-5 กิโลเมตร พอชิล ๆ
ระหว่างทาง ฉันพบผู้คนประปราย แม้จะรู้สึกเหมือนวันธรรมดา ๆ อีกวันหนึ่ง แต่ฉันก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดมาได้สักพักแล้ว แต่ฉันเพิ่งสังเกตวันนี้ เวลาเราเดินสวนกับคนแปลกหน้า นอกจากจะทักทายด้วยวาจาตามธรรมเนียมแล้ว เราต่างเดินเลี่ยงกัน เว้นระยะห่างกว่าปกติโดยอัตโนมัติ เหมือนแม่เหล็กขั้วเดียวกันที่พอเจอกันปุ๊บก็ผลักกันทันที

แม้ความห่างเหินจะเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลานี้ แต่ฉันก็อดคิดถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการทักทายใกล้ชิด การแสดงความห่วงใจกันไม่ได้ ปกติเวลาเราทักทายกัน เราจะเข้าไปกอดกัน และจูบแก้มขวาซ้าย แต่ตอนนี้ เราก็แค่พูดทักทายและยิ้มให้กัน แกล้ง “แตะเท้า” กันแทนการจับมือ หรือไม่ก็พนมมือไหว้อย่างชาวเอเชีย (ความจริง ฉันน่าจะดีใจที่การไหว้แบบไทยกำลังมาแรง) ปกติเวลาเราจาม จะมีใครสักคนพูดว่า “ขอให้มีสุขภาพดี” (Salute!) หรือไม่ก็ “ขอให้พระเจ้าคุ้มครอง” (Bless you!) แต่ตอนนี้ ถ้าใครจาม ทุกคนก็จะรีบเดินหนี หรือมองคุณเหมือนเป็นเชื้อไวรัส
บนเส้นทางที่ฉันเดินไป รถเมล์ รถราง รถม้า และรถนักท่องเที่ยวยังให้บริการอยู่ แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่ฉันเดินผ่านปิดหมด และมีนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่คนที่อาจจะเปลี่ยนเที่ยวบินไม่ทัน ไม่ได้ดูข่าว หรือไม่กลัวไวรัส ที่ด้านหน้าโคลีเซี่ยม รถทหารยังจอดอยู่ ทหาร (หล่อ ๆ) สองสามคนยังยืนประจำการ แถมมีรถตำรวจอีกสองคัน (หล่อกว่า) มาจอดอีกฝั่ง ฉันแกล้งทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวเข้าไปถาม (แต่พูดอิตาเลียน น้องตำรวจคงรู้แกว) ได้ความว่าแม้จะปิด แต่พวกเราสามารถเดินเล่นรอบ ๆ ได้ตามปกติ
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าอิตาลีที่สำคัญที่สุด โรมเคยมีนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน มาวันนี้ โรมช่างเงียบเหงานัก ไม่ต่างอะไรกับภาพที่เห็นกันในสื่อต่างประเทศมากนัก ความจริง นักท่องเที่ยวเริ่มลดลงตั้งแต่อิตาลีประกาศห้ามสายการบินจากจีนมาลงสนามบินอิตาลีเมื่อต้นปีแล้ว พอมีข่าวผู้ติดเชื้อทางเหนือเมื่อเดือนที่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ไม่รู้ว่าโรมอยู่ห่างจากมิลานกว่า 600 กม ก็หยุดมาเที่ยว และมาถึงตอนนี้ อิตาลีประกาศปิดประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโรมและอิตาลีโดยรวม ก็พังไม่เหลือแน่นอน
ตอนฉันเดินกลับบ้านเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว ชายหนุ่มผู้ย้ายถิ่นแต่งตัวปอน ๆ เดินจูง “รถม้า” นักท่องเที่ยวที่มีลาแก่ ๆ ลากกลับสวนสาธารณะใกล้ ๆ บ้านฉัน ซึ่งเขาใช้เป็นที่ซุกหัวนอนมาหลายปีแล้ว เราเคยเจอกันหลายครั้งแล้ว บนถนนปูก้อนหินสายนี้ ทุกครั้งที่พบกัน เขาจะผงกหัวและยิ้มให้ฉัน หรือไม่ก็ทักว่า “บัวนาเซร่า ซินยอร่า – Buonasera Signora” แต่วันนี้ ทั้งลาแก่และชายหนุ่มเดินคอตก ก้มหน้า หายไปในความมืด ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีคำทักทายใด ๆ
PHOTO BY SOMPIT WATKINS