HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เมื่อต้องผจญงูเหลือม 60 ชีวิต… แค่คิดผมก็อยากกรี๊ด
by โลจน์ นันทิวัชรินทร์
22 ก.พ. 2562, 17:11
  1,610 views

        เช้าวันนี้ไม่เหมือนวันก่อนๆ ผมหยิบครัวซองต์ที่เพิ่งอบสด ๆ ใหม่ๆ ร้อนๆ บิใส่ปากช้าๆ ด้วยนัยน์ตาเหม่อลอย แม้ว่ากลิ่นหอมของมันจะยั่วยวนใจผมสักเพียงไหนก็ตาม แต่ผมกลับไม่รู้สึกเลยว่าหิว ผมจำใจกลืนมันลงไปอย่างฝืดคอโดยมี “กาเฟ โอ เลต์” กลิ่นหอมแก้วนั้นที่พอจะช่วยให้ผมละเลียดมันได้ง่ายขึ้น.....อีกนิดนึง

        ตอนนี้ผมกับพี่ๆ น้องๆ อยู่ในเมืองอวีดาฮ์ (Ouidah) ประเทศเบนิน (Benin) สาธารณรัฐเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1975 และที่นี่ยังคงมีกลิ่นอายที่แสนจะฝรั่งเซ้ดฝรั่งเศสไม่ว่าภาษาจะเป็นภาษาพูดของชาวเบแน็งนัวส์ หรือภาษาเขียนบนป้ายตามร้านรวงและถนนหนทางที่ทุกอย่างล้วนเป็นภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งครัวซองต์และกาแฟที่โรงแรมเสิร์ฟเป็นมื้อเช้าและอยู่ตรงหน้าผมในขณะนี้

 

“นี่เราจะไปจริง ๆ เหรอ” ผมกระซิบถามพี่ๆ น้องๆ ด้วยเสียงขรึมๆ
“ไปสิ ไปแน่ ๆ มาถึงที่นี่แล้ว ยังไงก็ต้องไปล่ะ พี่ๆ น้องๆ ตอบผมอย่างหนักแน่น และนั่นยิ่งทำให้ผมหงอยลงไปอีก

         อีกไม่นานลุงโคฟี่ (Kofi) และลุงตีตี้ (Teetee) ไกด์และคนขับรถตู้คู่ใจของเราก็เดินเข้ามาอย่างร่าเริง (เกินเหตุ) พร้อมกับคำพูดที่ทำให้ผมแทบกรี๊ด “ไปไปวัดงูเหลือมกัน ตอนนี้งูเหลือมกว่า 60 ตัวกำลังรอพวกเราอยู่แล้ว เย้เย้เย้

         ใช่ครับการท่องเที่ยวเมืองอวีดาฮ์วันนี้ เราจะประเดิมด้วยวัดงูเหลือมที่ที่มีน้องงูเหลือมกว่า 60 ชีวิตเลื้อยไปมาอย่างอิสระเสรี และกำลังรอผมอยู่ที่นั่น

         “กรี๊ดดดดดด ผมได้ยินเสียงกรีดร้องของตัวเองก้องอยู่ในหัว ในขณะที่ผมพยายามเก็บอาการและเดินหล่อๆ คูล ๆ ไปขึ้นรถตู้มรณะคันนั้น ผมเป็นโรคแพ้งูมากๆ ครับ ผมกลัวสัตว์ชนิดนี้มากๆ โดยที่ผมก็ไม่ทราบสาเหตุว่ามันเริ่มต้นมาได้อย่างไร และนี่คือที่มาของอาการซึมที่ผมเป็นมาตลอดเช้านี้

          หากเราได้ลองไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศเบนินแล้วก็จะพบว่าในอดีตดินแดนนี้เคยเป็นราชอาณาจักรสำคัญของทวีปแอฟริกาที่มีชื่ออันแสนไพเราะว่าราชอาณาจักรดาโฮเมย์ (Kingdom of Dahomey)  และสามารถสืบอายุย้อนหลังไปได้ถึงคริสตศตวรรษที่ 15 และคำว่า Dahomey นั้นแปลว่า “ดินแดนแห่งงู” โดยคำที่แปลว่างูนั้นก็คือคำว่า “ดา”

         “ก็ตอนนี้แกอยู่ในดินแดนแห่งงูไงล่ะลูกโอ๊คแล้วแกจะหนีงูไปไหนเหรอแกหนีไม่พ้นหรอก และวันนี้แกจะได้เจอน้องงูทั้ง 60 ตัวโดยพร้อมเพรียงกัน” เสียงกระซิบของผมกำลังดังอึงอลอยู่ในหัวของตัวเองไปมา

        “แกหนีไม่พ้นหรอก ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่าแกหนีไม่พ้นหรอก... จำไว้” มันยังหลอนอยู่ไม่จบสิ้น

        เมื่อฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเบนินเป็นอาณานิคมนั้น ฝรั่งเศสยังเรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่าเฟรนช์ ดาโฮเมย์ ต่อไปอีกหลายปี จนเมื่อมีการเรียกร้องเอกราชได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1975 ดินแดนนี้จึงเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐเบนินแทน

          นอกจากเบนินจะเป็นดินแดนแห่งงูแล้ว เบนินยังเป็นต้นกำเนิดของลัทธิวูดู และงูเหลือมเป็นสัตว์สำคัญที่ได้รับการเคารพมากๆ จากผู้เลื่อมใสลัทธินี้ แล้วทำไมงูเหลือมทั้งหลายถึงพากันไปอยู่ที่วัดนี้ล่ะอันนี้ก็ต้องเล่าให้ฟังพอสังเขปนะครับ มีเรื่องเล่าขานกันว่าในราวปี ค.ศ. 1700 มีกษัตริย์หนุ่มพระองค์หนึ่งต้องเสด็จลี้ภัยจากผู้ปองร้ายจากพระราชวังหลวงในเมืองอวีดาฮ์เข้าไปในป่าทึบ งูเหลือมจำนวนมากได้เข้าโอบล้อมบริเวณป่านั้นไว้เพื่อปกป้องพระองค์จากภยันตราย กษัตริย์หนุ่มจึงทรงซ่อนพระองค์อยู่ได้จนปลอดภัย

          เมื่อเสด็จกลับเข้าสู่วัง ก็ได้มีพระราชโองการให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเพื่อให้เป็นที่อาศัยของงูเหลือม และกล่าวกันว่างูเหลือมต่างๆ ได้พากันมาอาศัยในวัดนี้เอง และอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมานับร้อยๆ ปี แม้ว่างูเหลือมจะออกไปหากินที่ไหนก็ตาม ก็จะกลับมายังวัดนี้โดยไม่หนีหายไปไหน.... ตราบจนทุกวันนี้

         รถตู้คู่ใจพาเราทั้งสี่คนพร้อมกับลุงโคฟี่มาหยุดที่หน้าป้าย Le Temple des Pythons พร้อมรูปปั้นงูเหลือมที่กอดกระหวัดรัดคอคนอยู่

         “กรี๊ดดดดถึงแล้ว” นั่นคือเสียงกรีดร้องของผม 

“เอ่อความจริงพี่ก็ไม่ค่อยถูกกับงูเท่าไหร่ว่ะ” พี่นนเริ่มออกอาการเกร็ง
“หนิงเฉยๆ นะ หนิงอุ้มงูเหลือมได้” น้องหนิงมาอย่างคูลๆ นิ่งๆ เช่นเดียวกับกับน้องอ๊อบที่บอกว่า “อ๊อบก็เฉยๆ เหมือนกันค่ะ”

        สรุปว่าผู้ชายสองคนคือผมกับพี่นนมีอาการเครียดกว่าสองสาว

       “60 ตัว ตาย ตาย ตาย.... แล้วมันจะยั้วเยี้ยขนาดไหนวะครับ?” ผมงึมงำกับตัวเอง ขณะก้าวช้าๆ ตามคนอื่นไปทางป้าย Entrée ซึ่งแปลว่าทางเข้า เหงื่อเม็ดโตๆ ผุดบนใบหน้าทั้งๆ ที่อากาศไม่ร้อน

        ผมเดินเข้าวัดด้วยใจที่เต้นรัวแรงมากๆ และผมมองรอบตัวตลอดเวลา ผมมีความรู้สึกว่าน้องงูจะต้องนอนขดอยู่บนพื้นอย่างระเกะระกะ หรือไม่ก็ห้อยหัวโรยตัวลงมาจากต้นไม้ที่ร่มครึ้มอยู่ในบริเวณวัด

        แต่

       “ไหนล่ะครับงูเหลือม?” ผมเริ่มสงสัย หลังจากที่ผมสำรวจอาณาบริเวณรอบตัวแล้วไม่พบอะไรตามที่จินตนาการไว้เลย ถ้ามีงูเหลือมถึง 60 กว่าตัวนี้ ผมก็คงต้องเห็นบ้างล่ะ

       “อ๋องูทั้งหมดนอนอยู่ในวิหารตรงกลางวัดนั้น ไม่ได้ปล่อยให้ออกมา” ไกด์ประจำวัดชี้อาคารที่ปิดทึบอาคารหนึ่งที่ตั้งอยู่ตรงกลางลานวัดให้พวกเราดู

       “ฮี้ววววววว ผมแอบได้ยินเสียงตัวเองถอนหายใจอย่างดี๊ด๊าและลั้ลลาถึงขีดสุด ความจริงผมแทบจะชวนพี่นนเต้นระบำเลยทีเดียว

         คุณไกด์พาพวกเราเดินชมบริเวณวัดอันร่มครึ้มใต้ต้นไม้ต้นใหญ่ๆ พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาตามที่ผมบรรยายให้ฟังไปแล้วนะครับ นอกจากนี้ยังพาไปดูต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำพิธีตามความเชื่อของลัทธิวูดู รวมทั้งชมภาพปูนปั้นในวัดที่ล้วนเป็นภาพและเรื่องราวของงูเหลือมตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น

        และแล้วก็มาถึงนาทีที่สำคัญ

       “เดี๋ยวเราจะเข้าไปในวิหารกัน ต้องถอดรองเท้าด้วยนะครับ สถานที่นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีงูเหลือมซึ่งเป็นสัตว์ที่พวกเราเคารพอาศัยอยู่ภายใน” คุณพี่ไกด์เชิญชวนพร้อมกับเดินนำพวกเราไปยังวิหารกลางลานวัด

       “เอ่อไม่ล่ะครับ” ผมชิงตอบทันทีพร้อมกับส่ายหัว ขณะนั้นประตูเปิดออกพร้อมกับมีนักเดินทางชาวฝรั่งเศสใจกล้า 4-5 คนเดินเท้าเปล่าเข้าวิหาร ผมแอบส่องเข้าไป .... นั่นไง งูเหลือมตัวใหญ่จำนวนหนึ่งกำลังนอนขดอยู่บนพื้นปูน

       “ไม่เข้าไปสักหน่อยเหรอครับ งูเหลือมที่วัดนี้เป็นมิตรมากๆ ไม่ทำร้ายใครนะครับ” คุณไกด์ยังพยายามเชิญชวน พร้อมกับที่ลุงโคฟี่ก็ช่วยสนับสนุน

        ผมมองหน้าพี่ ๆ น้อง ๆ แล้วทำหน้าประมาณว่า “ใครอยากเข้าไปก็เรียนเชิญนะครับ ผมขอบาย” และผมก็แอบเห็นแววตาสนับสนุนจากทุกคน สรุปว่าคณะเราขอแอบชื่นชมน้องงูอยู่ห่างๆ

        ผมฝากไกด์ให้ช่วยเอาไอโฟนของผมไปบันทึกภาพภายในวิหารแห่งนั้นเพื่อให้ผมได้มีโอกาสเห็น และผมก็ลงรูปถ่ายทั้งหมดมาในภาพประกอบของบทความในวันนี้แล้วนะครับ

     

       เมื่อคุณพี่ไกด์กลับออกมาจากวิหาร เขาก็ไม่ได้กลับออกมามือเปล่าแต่ยังไปอุ้มน้องงูเหลือมขนาดป้อมๆ มาด้วยหนึ่งตัว ผมรีบวิ่งถอยไปขณะที่น้องหนิงจับมาเล่นอย่างสนุกสนาน เหมือนเล่นกับลูกยูนิคอร์นน้อยๆ ผมล่ะนับถือน้องจริงๆ ไกด์จะเอาน้องงูมาคล้องคอให้ผมกับพี่นนบ้างแต่เราต่างบอกออกมาว่า “ไม่ล่ะครับ ขอบคุณมากๆ ครับ” ในทันที

       “... มาคล้องคอพร้อมกันกับผมก็ได้นะเอาไหม?” คุณไกด์ยังพยายามตื๊อและคำตอบผมก็คือ “ไม่ล่ะครับ” เช่นเดิม

        สรุปว่าวันนั้นน้องหนิงเป็นตัวแทนกลุ่มเพียงคนเดียวที่ได้จับ ได้อุ้ม และได้นำงูเหลือมไปคล้องคอครบสูตร ผมแอบดีใจที่การไปชมวัดงูเหลือมนี้จบลงหลังจากที่เราใช้เวลาอยู่พักใหญ่

       “โทษครับ แล้วงูเหลือมทั้งหมดทานอาหารอย่างไรครับ? มีผู้มีจิตศรัทธานำมาให้ในวัดหรือเปล่าครับ?” ผมสงสัย

      “ไม่ใช่ครับ... วัดถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องรักษาความสะอาดและสวยงามเอาไว้จึงไม่สามารถให้นำอาหารมาให้งูเหลือมได้ครับ แต่ทางวัดจะเปิดประตูวิหารนี้เดือนละหนึ่งวัน และงูเหลือมเหล่านี้จะเลื้อยออกไปยังหมู่บ้านเพื่อไปหากินกันเอง ส่วนมากงูเหลือมก็จะไปช่วยกินหนู มีบ้างเหมือนกันที่ไปกินไก่ของชาวบ้าน แต่ไม่มีใครว่าอะไร แล้วพวกเขาก็จะเลื้อยกลับมาเองนะครับ มีบางทีที่ชาวบ้านช่วยจับนำกลับมาส่งคืนที่วัดครับ” คุณไกด์อธิบายถึงวิธีการดูแลงูเหลือมทั้ง 60 ชีวิตในวัดแห่งนี้

         ผมได้ฟังคำอธิบายนี้แล้วผมก็ขอกราบคารวะแด่พี่ๆ น้องๆ ชาวเบนินที่มีอาศัยอยู่รอบๆ วัดนี้ที่จะต้องรับแขกสำคัญเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย

        “แหมความจริงเราน่าจะมาให้ตรงกับวันที่เขาเปิดประตูวิหารให้งูเหลือมออกไปหากินในหมู่บ้านนะครับ ผมล่ะอยากเห็นจังเลย แหม่เสียดายจริงๆ ครับ” ผมได้ยินเสียงตัวเองดังเจื้อยแจ้วขณะที่จับมืออำลาไกด์ประจำวัด และประตูรถตู้ก็ปิดลงพร้อมกับเคลื่อนออกไปยังที่หมายอื่นๆ ต่อไป

         ตอนนี้ผมชักเริ่มหิวละ ไหน... เอาครัวซองต์ที่ห่อติดมือมาตั้งแต่เมื่อเช้ามาเติมพลังหน่อยซิ

 

Story by โลจน์ นันทิวัชรินทร์

 

ขอขอบคุณภาพจาก

ดวงฤทัย พุ่มชูศรี Facebook Ning’s Homemade

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี

 

ABOUT THE AUTHOR
โลจน์ นันทิวัชรินทร์

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker

ALL POSTS