(ฝ่า) ทางตันของธุรกิจประกวดนางงาม
เราจัดประกวดนางงามไปเพื่ออะไร ยุคแรกๆ ก็เพื่อโปรโมทกิจกรรมหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐ ต่อมาจนถึงปัจจุบันก็เพื่อกิจการของเอกชนเป็นหลัก พูดชัด ๆ คือ เพื่อธุรกิจนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าธุรกิจประกวดนางงามน่าจะถึงทางตันแล้วเพราะคนทั่วไปไม่สนใจ หลายคนบอกตรง ๆ ว่า “เบื่อ” ข้อมูลสนับสนุนว่าธุรกิจประกวดนางงามสิ้นมนตร์ขลังแล้วดูได้ เวทีใหญ่ระดับนานาชาติ ก็นับวันหาสปอนเซอร์ยากขึ้น และหาประเทศเจ้าภาพจัดการประกวดก็ยากขึ้น เพราะจัดแล้วขาดทุน (Miss Universe ต้องกลับไปจัดที่อเมริกาหลายปีแล้ว๗ ยิ่งไปกว่านั้นถ่ายทอดสดก็มีคนดูน้อยลง มาดูเวทีระดับชาติของเรา ก็ไม่ได้แตกต่างกัน หาสปอนเซอร์ยากขึ้น ตัวอย่าง มียุคนึงพานางงามออกไปโปรโมทจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ อุดรธานี อำนาจเจริญ เป็นต้น ปีแรก ๆ ก็คึกคึกดี แต่ปีหลัง ๆ หาหน่วยงานในจังหวัดเป็นเจ้าภาพร่วมไม่ได้ เพราะผลตอบแทนไม่คุ้มค่าใช้จ่าย สุดท้ายกิจกรรมเก็บตัวต่างจังหวัดก็ต้องเลิกไป อีกอย่างหนึงสมัยก่อนสปอนเซอร์หลักของการประกวดคือสถานีโทรทัศน์ ดังนั้นก็จะมีการถ่ายทอดสดออกทางโทรทัศน์ให้ดูกันถึงบ้าน หลังๆ มาสถานีโทรทัศน์ก็เลิกจัดประกวด ทำให้ไม่มีการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ หลายเวทีเปลี่ยนไปถ่ายทอดผ่าน Youtube FB เป็นต้น
อะไรคือสาเหตุทำให้คนสนใจติดตามการประกวดความงามน้อยลงๆๆ
1. ศัลยกรรมความงาม จริงอยู่ ศัลยกรรมทำให้คนสวยขึ้นจนไร้ที่ติ แต่ผลที่ตามมาคือ ทุกคนรูปร่างหน้าตาสวยเหมือนกันหมด สวยเท่ากันหมด perfect เหมือนกันหมด แล้วจะประกวดทำไม? เคยดูประกวดนางงามรุ่นเก่า ๆ เราจะเห็นนางงามฟันบนยื่นนิดหนึ่ง หรือฟันล่างเกหน่อย ๆ เพราะยุคนั้นไม่มีการดัดฟัน แต่ทำให้นางงามมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์ – นางสาวไทยปีหนึ่งถูกเรียกว่านางงามก้นลาย เพราะเธอมีเซลลูไลท์ แต่รับรองว่าสมัยนี้ไม่มีให้เห็นเพราะคลินิกเสริมความงามจัดการให้ได้เรียบร้อย
2. Globalization สมัยก่อนการสัมภาษณ์รอบสุดท้าย นางงามส่วนใหญ่พูดอังกฤษไม่ได้ ต้องพูดภาษาของตัวเอง แล้วให้ล่ามแปล นางงามพูดภาษาแปลก ๆ คนดูก็ลุ้นกันสนุก แต่เดี๋ยวนี้ นางงาม 10 คน พูดภาษาอังกฤษชัดเปรี้ยะ 9 คน ตัดภาพมาภายในประเทศ สมัยก่อน นางงามมาจากต่างจังหวัดจะพูดไทยติดสำเนียงท้องถิ่น ก็น่ารักน่าเอ็นดู เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนี้แล้ว ทุกคนพูดไทยชัดและแถมภาษาอังกฤษให้ด้วย อีกอย่างหนึ่ง สมัยก่อนจะมีนางงามช้างเผือกมาประกวด หมายถึงนางงามที่ยังไม่เคยผ่านเวทีใหญ่ ๆ มาก่อน แล้วพอเข้ารอบลึก ๆ ถึงรอบตอบคำถามก็จะมีอาการประหม่าสั่น แบบที่เรียกว่าตื่นเวที คนดูก็ลุ้นกันสนุกสนาน แต่เดี๋ยวนางงามที่ลงเวทีใหญ่ เป็นนางงามเดินสาย ล้วนแต่เจนเวทีมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครตื่นเวที ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย
3. การแข่งขันด้านความคิดสร้างสรรค์ – สมัยก่อนการประกวดนางงามก็คือประกวดความงามจริง ๆ แบบที่ภาษาอังกฤษเรียก Beauty Contest แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เหมือนการประกวดความคิดสร้างสรรค์แล้วมีนางงามเป็น presenter มากกว่า ดูได้จาก ชุดประจำชาติของเวทีนานาชาติ เมื่อก่อน ชุดประจำชาติก็คือชุดประจำชาติ แต่เดี๋ยวนี้เหมือนชุดแฟนซี นางงามไทยแต่งตัวเป็นรถตุ๊ก ๆ นางงามพม่าแบกกระท่อมขึ้นเวที บางประเทศก็เอาขนนกหรือเครื่องประดับอะไรไม่รู้ สุมลงบนตัวนางงามจนไม่เห็นหน้าตาก็มี ตัดมาเวทีในประเทศทีมีการประกวดชุดประจำจังหวัด บางอันก็ดูดี นึกออกว่าจังหวัด แต่หลาย ๆ อันใส่จินตนาการลงไปในชุดถึงขั้นเป็นแฟนซีหลุดโลกไปเลยก็มี
4. การสร้างกระแสเกินพอดี ตัวอย่างเวทีหนึ่งสามารถแจ้งเกิดได้ ทำให้คนจำชื่อการประกวดได้ด้วยการให้นางงามประกาศชื่อจังหวัดด้วยวิธีการออกเสียงพิลึกกึกกือ เรียกเสียงฮือฮาในทำนองขบขันในปีแรก ปีต่อ ๆ มา กลายเป็นน่ารำคาญและตกเป็นเป้าหมายของการบูลลี่ ไปเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามสะท้อนแนวคิดทางการเมืองของเจ้าของเวทีลงไป ทำให้คนที่มีความเห็นต่าง แบนเวทีนี้ไปเลย
สรุปสั้น ๆ ว่า เดี๋ยวนี้คนคิดว่าการดูประกวดนางงามเป็นการเสียเวลา ถ้าเป็นเวทีโด่งดังระดับนานาชาติก็รอฟังผลครั้งเดียวแล้วจบ แต่ถ้าเป็นเวทีตะลิกติ๊กต๊อก ก็เลื่อนผ่านไปเลยจ้า
ขอบคุณภาพจาก wikipedia และ pexel.com