HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
10 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับตึกหุ่นยนต์ #SavetheRobotBuilding
by HappBKK
29 เม.ย. 2566, 17:33
  1,199 views
Robot Building_Photo Courtesy of FB @Foto_MoMo

ตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) ที่ยืนตาปรือตอนค่ำ สถาปัตยกรรมที่เคยสูงโดดเด่นย่านสาทรและเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยว อาคารที่มีสองดวงตากลมโตที่ส่วนหัว ประดับบนฐานลำตัวกล่องสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกัน เสมือนหุ่นยนต์จำลองของเล่นเสริมจินตนาการในวัยเด็ก อาจจะกลายร่างเป็นแค่ภาพจำและบทเรียนในตำราสถาปัตยกรรม หากการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังเดินหน้าและเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของเจ้าหุ่นยนต์จนกลายเป็นตึกออฟฟิศธรรมดาๆ ในย่านสาทร-สีลม

ดร.สุเมธ ชุมสายฯ ศิลปินแห่งชาติ

อาคารรูปร่างแปลกตาที่ผู้คนโจษขานว่า ตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) เป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ ดร.สุเมธ ชุมสายฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน ปี 2529  ด้วยงบประมาณการก่อสร้างมากกว่า 300 ล้านบาท (ซึ่งนับว่าสูงมากๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินในเวลานั้น) ตึกนี้ยังมีคุณค่าในฐานะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น และเป็นชิ้นงานประวัติศาสตร์ที่สะท้อนการพัฒนาเมือง ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ในระดับภูมิภาคด้วย 

Happeningbkk ชวนผู้อ่านทุกเจนเนอเรชั่นมารู้จักแง่มุมที่น่าสนใจของเจ้าหุ่นคอนกรีตตัวนี้กัน

ตึกหุ่นยนต์ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2529

แรงบันดาลใจในการออกแบบจากหุ่นยนต์พลาสติกที่เป็นของเล่นของลูกชาย

ดร.สุเมธ อยากให้ส่วนหัวของหุ่นยนต์หมุนไปมาได้ แต่ต้องเพิ่มงบฯ ก่อสร้างอีกประมาณหนึ่ง จึงถูกเจ้าของอาคารในขณะนั้นคือ ธนาคารเอเซีย ปัดตกไป  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด (Guinness Book of World Records) สนใจที่จะบันทึกตึกหุ่นยนต์ลงในสถิติโลก ในฐานะเป็นหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เพราะไม่มีส่วนที่ขยับได้ ทำให้ตึกหุ่นยนต์ไม่ถูกจารึกในสถิติโลก

อีกไอเดียที่ถูกปัดตกไปคือ ดร.สุเมธ เสนอให้มีหุ่นยนต์ให้บริการลูกค้า 2 ตัว นำทางลูกค้าไปยังช่องบริการ โดยควบคุมหุ่นยนต์ผ่านรีโมตคอนโทรลที่อยู่หลังเคาน์เตอร์บริการ โดยออกแบบและพูดคุยกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อทำการสร้างในขณะนั้น เสนอราคาผลิตที่ตัวละ 300,000 กว่าบาท 

ตึกหุ่นยนต์มีความล้ำในด้านการออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน ทั้งที่ในยุค 80's  เรื่องนี้ยังไม่ได้เป็นประเด็นหลักเหมือนยุคนี้ เช่น ตึกจะมีความทึบด้านข้าง ในทิศตะวันออกและตกที่รับแสง เพื่อลดความร้อนที่จะเข้ามาอาคาร มีช่องให้แสงเข้าคือช่วงที่เป็นน็อตเท่านั้น มีการริเริ่มนำกระเบื้องเซรามิคสีขาวมาใช้เพื่อลดความร้อนจากภายนอก และพัฒนาให้มีการนำตัวยึดเกาะผนังมาใช้ในการบุผนังอาคารเป็นครั้งแรก

หัวน็อตของตึกหุ่นยนต์ เป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ตัวน็อต (bolt) ทำด้วยคอนกรีตเสริมใยแก้ว เป็นชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงาน นำมาประกอบแล้วติดตั้งตัวใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบนอก 3.80 เมตร รอบใน 2 เมตร

ดวงตาที่มองลงมายังถนนสาทร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ทำด้วยกระจกสะท้อนแสง เปลือกตาเป็นบานเกล็ดโลหะ ส่วนที่อยู่ด้านหลังคือห้องประชุมระดับผู้บริหาร เมื่อมองจากจุดนี้จะเห็นทิวทัศน์กว้างไกลของสาทร สีลม และชั้นในของกรุงเทพฯ

ตึกหุ่นยนต์มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมการก่อสร้างที่ใช้คาน longspan Truss คสล. ขนาดใหญ่เพื่อถ่ายน้ำหนักจากอาคารสูงส่วนบน ลดเสาที่พื้นที่โถง ทำให้เห็นโถงที่ไร้เสา

“ตึกหุ่นยนต์” ทำให้ ดร.สุเมธ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากบัณฑิตยสภาสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งชิคาโก (Athenaeum Museum of Architecture and Design)

 

ภาพการปรับปรุงครั้งใหญ่ของตึกหุ่นยนต์

 

หนังสือ Encyclopedia of 20th Century Architecture ของสตีเฟน เซนนอตต์ ผู้เขียนสารานุกรมด้านสถาปัตยกรรม ได้เขียนถึงตึกหุ่นยนต์ว่า “เป็นการยกระดับงานสถาปัตยกรรมไทยให้ได้รับความจดจำไปทั่วโลก”

ตึกหุ่นยนต์ได้รับการยอมรับจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยในต่างประเทศ เช่น ได้รับเลือกจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยนครลอสแองเจลิส ให้เป็น 1 ใน 50 อาคารที่สมบูรณ์แห่งศตวรรษ และได้ถูกเผยแพร่ในระดับนานาชาติมากมาย รวมถึง M+ ฮ่องกง นิทรรศการเวนิส เบียนนาเล่ ซิตี้ออนเดอะมูฟ 

อ้างอิง
-กลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์
-SCONTE
-wikipedia


 

ABOUT THE AUTHOR
HappBKK

HappBKK

Live Every Day

ALL POSTS