HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ห้องสมุดมนุษย์ แหล่งความรู้เพื่อความเข้าใจในเพื่อนร่วมโลก
by ซัมเมอร์
25 ม.ค. 2566, 13:44
  805 views

ใน “ห้องสมุดมนุษย์”  มี “คน” ที่เปรียบเสมือนหนังสือ พร้อมให้คุณยืมไปฟังเรื่องราวชีวิตของพวกเขา เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ริเริ่มในประเทศเดนมาร์ก ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อลดอคติ และสร้างความรู้ความเข้าใจ เปิดมุมมองใหม่ในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องในใจ ประสบการณ์ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เช่นอาการเจ็บป่วยทางใจและกาย ตลอดไปถึงอาชีพ ศาสนาหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง

“ห้องสมุดมนุษย์คือพื้นที่ปลอดภัย เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจความหลากหลาย เรียนรู้ความแตกต่างจากกันและกัน ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ปกติเราอาจไม่ได้พบเจอ และท้าทายอคติที่อาจซ่อนอยู่ในใจโดยที่คุณไม่รู้ตัว” รอนนี่ อาเบอร์เกล หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการกล่าว ในตอนเริ่มแรกนั้น ห้องสมุดมีชีวิต เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานเทศกาลโรสกิลด์ เมืองโคเปนเฮเกนเพื่อยุติความรุนแรง ในช่วงเวลา 4 วัน มี “หนังสือ” (มนุษย์) ให้ยืม 75 คน และมีผู้สนใจนับพัน 

Photo by cottonbro studio

เป้าหมายของห้องสมุดมีชีวิตคือสนับสนุนการสนทนาเพื่อลดอคติ การเหยียด เหมารวมและการแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สภาวะทางกาย สถานะทางสังคม หรือวิถีชีวิต ที่ห้องสมุดมีชีวิต คุณอาจได้นั่งคุยกับคนติดเหล้า, ออทิสติก, ไบโพลาร์, ผู้ลี้ภัย, คนต่างสายอาชีพ หรือแม้แต่ผู้ที่มีคนรักหลายคน ที่สำคัญคือควรฟังอย่างไม่ตัดสิน 

อาเบอร์เกลกล่าวว่าพวกเขาเลือกคำว่า "ห้องสมุด" เพราะพวกเขามีบทบาทที่เป็นกลางในชุมชน “ไม่ว่าคุณจะเด็กหรือแก่ รวยหรือจน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เราทุกคนสามารถพบกันที่นั่นและเรียนรู้ได้” เขากล่าว

ห้องสมุดมีชีวิตนั้นไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน แต่ละงานอาจจะจัดในร้านกาแฟ สวน ห้องประชุม หรือแม้แต่ออนไลน์ก็ย่อมได้ โดยมักจะนัดหมายผ่านทางเฟสบุ๊ก human library organization และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของทางเจ้าภาพในท้องถิ่นที่ร่วมจัดงาน

การ “อ่านคน” อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก หรือตัวต่อตัว โดยเปิดโอกาสให้พูดคุยซักถามได้รอบละประมาณ  20-30 นาที ในช่วงเวลานี้ สองสามนาทีแรก “หนังสือ” จะอธิบายหัวข้อ ภูมิหลัง และความในใจก่อนเปิดโอกาสให้ซักถาม

ไอเบน เป็นอาสาสมัคร “หนังสือ” สามเล่มว่าด้วยเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ, ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง และจิตเภทหลังประสบเหตุการณ์เลวร้าย เธอเล่าว่าบางครั้งก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยบอกว่า “หน้านั้นยังไม่ได้เขียน” ซึ่งผู้ฟังก็เข้าใจ ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ร่วมโครงการ ไอเบนไม่เคยเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีเลย

ส่วนผู้ยืม "หนังสือ” อย่างเช่นคาเรม วัย 41 ปี ที่กล่าวว่าส่วนของการเรียนรู้ของคุณอยู่ในมือของคุณทั้งหมด “การได้เห็นบุคคลนั้นและฟังเขาหรือเธอและเห็นมุมมองเรื่องราวทั้งหมดที่เปิดเผยนั้น น่าประทับใจมาก มันทำให้ผู้คนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วเราต่างก็มีเลือดเนื้อและกระดูกเหมือนกันถึงจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน”

PHOTO Courtesy of Human Library

หลายองค์กรนำกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ไปต่อยอด อย่างเช่น สถาบันสังคมสงเคราะห์ในโคเปนเฮเกนกลุ่มนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยโธมัส เจฟเฟอร์สันในสหรัฐอเมริกา, นักศึกษาแพทย์ในกลาสโกว์ และบริษัทธุรกิจระดับโลกอย่างเดมเลอร์, ไฮเนเกน, อีเบย์และไมโครซอฟท์

ท่ามกลางปัญหาของชีวิตสมัยใหม่และความโดดเดี่ยวที่เกิดช่วงล็อคดาวน์ในหลายๆ แห่งทั่วโลก พันธกิจของห้องสมุดมนุษย์ยิ่งทวีความสำคัญมากกว่าที่เคย เริ่มมีการทำแอปพลิเคชันบนถือเพื่อเชื่อมต่อผู้อ่านกับหนังสือมนุษย์ระหว่างประเทศทั่วโลกแล้ว

ปัจจุบัน มีการจัดกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/alexledsom/2022/05/09/the-human-library-borrow-a-person-instead-of-a-book/?sh=c4dfcff2217c

https://edition.cnn.com/2021/11/14/health/human-library-blake-cec/index.html

https://www.france24.com/en/live-news/20210923-at-the-human-library-everyone-is-an-open-book

https://www.weforum.org/agenda/2021/12/diversity-inclusion-human-library/

https://www.facebook.com/humanlibraryorg

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS