HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
โรงพยาบาลรามาธิบดีปรับปรุงครั้งใหญ่ ทุ่มงบกว่าหมื่นล้านบาทสร้างอาคารใหม่เสริมรากฐานผลิตแพทย์และนวัตกรรม
by L. Patt
17 ธ.ค. 2565, 13:21
  1,514 views

กว่าครึ่งศตวรรษที่เปิดให้บริการ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมผุดอาคารหลังใหม่เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยสามัญ ยกระดับโรงเรียนฝึกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และวิจัย&พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์

"ไม่เพียงแต่เป็นการขยายบริการสาธารณะให้มากขึ้น การสร้างอาคารหลังใหม่ยังเป็นการเสริมสร้างรากฐานสำคัญในการผลิตแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ในระดับหลังปริญญา (Post-graduation) และนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว

โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรม (อยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 15 ไร่ ขององคืการเภสัชกรรม ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โดยคาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ด้วยงบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 11,000 ล้านบาท

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดให้บริการอาคารหลังแรก จำนวน 100 เตียง เมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้ขยายการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ในปี 2539 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ปี 2560 และอาคารสมเด็จพระเทพพระรัตน์ ปี 2554

ปัจจุบัน อาคาร 1 ที่ใช้งานมานานกว่า 50 ปี มีการเสื่อมสภาพของระบบสาธารณูปโภคและผนังอาคาร ซึ่งจะใช้งานไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี ก็จะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำให้ต้องวางแผนสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยอาคาร 1 จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ตรวจสุขภาพ และศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development)

อาคารใหม่จะประกอบด้วยอาคาร 25 ชั้น และ 14 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 275,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสามัญทั้งหมด โดยจะรองรับผู้ป่วยในได้ประมาณ 900 เตียง หรือ 55,000 คนต่อปี และรองรับผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ห้องผู้ป่วยพิเศษให้บริการที่อาคารศูนย์สิริกิติ์ และอาคารสมเด็จพระเทพพระรัตน์ อีกทั้งเพิ่มพื้นที่จอดรถซึ่งจะรองรับได้ 1,400 คันในเฟสแรก

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ยังคงขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้เชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการรักษาทุกชีวิต 

รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการอาคารรามาธิบดีแห่งใหม่นี้ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด "เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน" ที่คำนึงถึงทั้งด้านผู้ป่วยและบุคลากรโรงพยาบาล โดยมีห้องตรวจ 325 ห้อง ICU จำนวน 240 เตียง พร้อมศูนย์ “Imagine Center” ที่บริการตรวจด้วยเครื่อง X-ray เครื่อง Ultrasound เครื่อง CT Scan และเครื่อง MRI ที่ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง  

รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 Design Concept

อาคารหลังใหม่จะถูกออกแบบให้คนไข้เป็นศูนย์กลาง (patient-centered Care) โดยดู Patient Journey เป็นหลัก เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วยในการเข้ารับบริการให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่จุดรับ-ส่งผู้ป่วย การตรวจรักษา การนัดหมายพบแพทย์ และการรับยา ขณะที่ห้องผู้ป่วยจะมีแบบ 1 เตียง และ 2-3 เตียง เพิ่มความเป็นส่วนตัว ลดความแออัด และควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้น เทียบจากห้องสามัญเดิมจะมีถึง 30 เตียงต่อห้อง รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เยียวยาร่างกายและจิตใจ ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาล (Healing Environment)

นอกจากนี้ จะมีการจัดระบบการบริหารจัดการเพื่อลดการเคลื่อนที่ของผู้ป่วย และประหยัดเวลา โดยได้เริ่มทดลองใช้โมเดลศูนย์รวมการให้บริการคนไข้มะเร็งในขั้นการรักษาทั่วไป ณ บริเวณชั้น 1 อาคาร 1 ทำให้คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปมาข้ามตึกเพื่อตรวจวินิจฉัยด้านต่างๆ และสามารถทำนัดมาพบแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องในครั้งเดียว

อาคารใหม่ยังคำนึงถึงประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยให้มีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เป็นอาคารที่มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน (Sustainability) ซึ่งจะมีการใช้พลังงานสะอาด และพื้นที่สีเขียวกว่า 10,000 ตรม. มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว (Flexibility) เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่ การปรับเป็นห้องผู้ป่วยวิกฤต เป็นต้น นอกจากนี้ การออกแบบยังรองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Smart Hospital มากขึ้น รวมไปถึงระบบความปลอดภัย และมาตรฐานการบริหารระดับสากล

เดินหน้าผลิตแพทย์และนวัตกรรม

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งเน้นผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการพัฒนานวัตกรรมในการรักษาโรคยากและสลับซับซ้อน โดยขณะนี้ รับนักศึกษาแพทย์ 60 คน เข้ามาเรียนในหลักสูตร 2 ปริญญา คือ แพทย์ศาสตร์บัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Bio-medical Engineering) ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิก และต้องใช้เวลาเรียนนานถึง 7 ปี โดยจะจบการศึกษาในอีก 4 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน ว่า คณะแพทยศาสตร์สามารถผลิตนักศึกษาแพทย์กว่า 200 คนต่อปี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 440 คนต่อปี พยาบาล 250 คนต่อปี (มีแผนจะเพิ่มเป็น 300 คนต่อปี) และพยาบาลเฉพาะทางด้วย 

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรผลิตวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาฉุกเฉินทางการแพทย์ และเป็นแห่งเดียวที่มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาสื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย เพื่อดูแลผู้ป่วยออธิสติก ผู้สูงอายุที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับงานวิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดีมุ่งเน้นไปที่การใช้เม็ดเลือดขาวมาเป็นเซลล์ฆ่ามะเร็ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองกับคนไข้มาแล้วหลายราย และกำลังสร้าง plantation ที่จะเป็นตัวผลิตเม็ดเลือดขาวออกมาใช้ในการรักษาอย่างจริงจัง

การสร้างกระดูกเทียมเพื่อทดแทนกระดูกที่แหว่งหายไปจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีชีวิตเหมือนกระดูกจริง ไม่ใช่กระดูกที่ทำจากไททาเนียม รวมไปถึงการใช้สเต็มเซลล์ของคนไข้มาเปลี่ยนยีนที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถือเป็นอีกงานวิจัยสำคัญที่นำไปสู่การรักษาในรูปแบบใหม่อย่างได้ผลดี 

ดังนั้น อาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่จะเป็นการรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรด้านวิทยาศาตร์การแพทย์ภายใต้เครือข่ายย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS