NIA จับมือสตาร์ทอัพขั้นเทพสายเกษตรผุดต้นแบบนาข้าวยั่งยืน
ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพสายเกษตรสัญชาติไทย หรือที่เรียกกันว่า AgTech เจ๋งๆ เกิดขึ้นเยอะ เพราะอยากช่วยแก้ปัญหาหลายด้านที่กำลังรุมเร้าเกษตรกรมากขึ้น แต่จนถึงวันนี้ เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ดูจะยังเป็นแค่คำสวยหรูในแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือลังเลที่จะลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรยุคใหม่
วันนี้จะพาไปรู้จักกับโมเดลการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเรียกง่ายๆ ว่า NIA (National Innovation Agency) ได้ริเริ่มขึ้นภายใต้โครงการ AgTech Connect series เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต จะได้ไม่ติดอยู่ในวังวนของปัญหาเดิมๆ อีกต่อไป
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA เล่าว่า แม้จะมีการสร้างความตระหนักรู้จากหลายๆ องค์กรภาครัฐและเอกชน มีการสนับสนุนให้เกิดสตาร์อัพสายเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการปรับตัวได้อย่างกว้างขวาง เราจะต้องทำให้เกษตรกรเห็นผลอย่างชัดเจนว่าใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วมันดีขึ้นได้แค่ไหน ยังไง จึงเป็นที่มาว่า ทำไมต้องทำแปลงนาสาธิตแห่งนี้ขึ้นมา
ด้วยทุนสนับสนุนจาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (Asian Development Bank :ADB) NIA ได้ร่วมมือกับ 5 สตาร์ทอัพสายเกษตรดาวรุ่ง ได้แก่ ไบโอม (BIOM), ลิสเซิลฟิลด์ (ListenField), อีซี่ไรซ์ ดิจัทัล เทคโนโลยี (Easy Rice Digital Technology), วาริชธ์ฟู้ดส์ Warichfoods, และ บอร์น โคออพเพอเรชั่น ไทยแลนด์ (Born Cooperation Thailand) ไปสร้างแปลงนาสาธิตที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เพื่อให้เป็นต้นแบบการทำนาอย่างยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) และนวัตกรรมมาใช้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ NIA ที่ต้องการเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพสายเกษตร เพื่อแก้ปัญหาตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร ส่งผลให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ได้มากขึ้น
เกษตรกรต้องเปิดใจรับ
ดร.กริชผกา บอกว่า จู่ๆ จะเอาเทคโนโลยีไปยัดเยียดให้ใช้คงเป็นไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับชาวนาด้วยว่าจะเปิดใจรับไอเดียใหม่ๆ และพร้อมที่จะปรับตัวหรือไม่ ในที่สุด NIA ก็ได้ นางชวนชื่น บุญเดช ประธานกลุ่มเกษตรเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน นิคมการเกษตรสุพรรณบุรี มาเป็นเกษตรกรนำร่องในโครงการนี้ โดยนำที่นาของตนเอง 12 ไร่ มาแบ่งเป็น 3 แปลง เพื่อปลูกข้าวหอมปทุม 1 ในวิธีที่แตกต่างกัน โดยแปลงแรกจะเป็นการปลูกข้าวอินทรีย์ แปลงที่สอง เป็นการปรับสูตรปุ๋ยตามผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินด้วยเทคเทคโนโลยี และแปลงสุดท้าย จะเป็นการปลูกตามวิธีเดิมของเกษตรกร ซึ่งเริ่มทดลองปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคมนี้
ชวนชื่น ยอมรับว่า ชาวนาส่วนมากจะทำตามที่ได้รับถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ หรือทำตามๆ กันไป ทุกวันนี้ จบโทร คือโทรศัพท์สั่งอย่างเดียว บางทีมีปัญหาเรื่องผลผลิตไม่ดีก็ปรึกษาร้านขายปุ๋ยเคมีว่าจะใช้ปุ๋ยอะไรดี เขาก็จัดเต็มให้เรา ทำให้มีต้นทุนสูงโดยไม่จำเป็น การเข้าร่วมโครงการทดลองนี้ แม้จะต้องยุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการเฝ้าติดตามดูแลการปลูกข้าวแต่ละแปลงให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ถือเป็นโอกาสดีสำหรับเกษตรกรตัวเล็กๆ ที่จะได้ก้าวออกจากวิถีเดิมๆ เปิดหูเปิดตาเห็นโลกที่กว้างขึ้น
"อยากบอกเกษตรกรคนอื่นๆ ว่า แค่เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือการเกษตรและโดรนไม่พอ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเปิดใจรับนวัตกรรมใหม่ๆ จะใช้แต่เงินไม่ได้ ต้องใช้สมองด้วย ทำนากันมานานจนแก่ ก็ต้องใช้ความแก่ให้เป็นประโยชน์"
ทำไมต้องฟังเสียงดิน
ไม่ว่าจะปลูกอะไร ต้องเริ่มจากการตรวจสุขภาพดินก่อนว่ามีค่าธาตุอาหารในดินเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีทันสมัยให้เกษตรกรตรวจคุณภาพดินได้อย่างง่ายๆ แม่นยำ และไม่ต้องเสียเวลารอผลนาน 2-3 เดือน เหมือนแต่ก่อน
ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท ลิสเซิลฟิลด์ ให้คำแนะนำว่า เกษตรกรต้องฟังเสียงดิน ซึ่งลิสเซิลฟิลด์ นำเทคโนโลยีมาทดลองให้เห็นว่า เพียงแค่สแกนดินปุ๊บก็จะรู้เลยว่าดินมีธาตุอาหารอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หลังจากปลูกข้าวไปแล้ว ก็จะต้องตรวจสุขภาพของแแปลงนาแต่ละแปลงเป็นระยะๆ โดยเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาสแกนให้เห็นชัดเจนว่า การเจริญเติบในแปลงแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร มีความสม่ำเสมอทั้งแปลงหรือไม่ เพื่อให้สามารถปรับการใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หากดูด้วยตาเปล่าก็จะมองไม่ออกว่า มีบริเวณไหนเติบโตไม่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ข้าวออกรวง และเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน
นอกจากนี้ ลิสเซิลฟิลด์ ยังมีเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลย้อนกลับได้ เพราะในอนาคต มันจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ
ดร.รัสรินทร์ ยังบอกอีกว่า หลังจากผ่านไปกว่า 2 เดือน ก็สามารถเห็นผลได้ชัดว่าต้นข้าวทั้ง 3 แปลงมีการเจริญเติยโตต่างกันยังไง สุดท้ายต้องทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่า เมื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แล้วจะเกิดความคุ้มค่าการลงทุนอย่างไร
สำหรับไบโอม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการพัฒนาภัณฑ์ชีวภาพออกมาหลากหลาย โดยนำเอาจุลินทรีย์คึกคัก (Microbial Biostimulants) มาร่วมโครงการ ตั้งแต่ทำให้รากข้าวเจริญงอกงามได้ดี มีความเขียวของต้นข้าว ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีปราบศัตรูพืช และช่วยฟื้นฟูดินให้ดีขึ้น
คุณภาพข้าวเปลือกก็ตรวจเองได้
หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงทดลองก็เป็นหน้าที่ของอีซี่ไรซ์ ที่จะใช้เครื่องมือด้วยเทคโนโลยี AI มาตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกก่อนจะส่งไปขายให้โรงสีข้าว ซึ่งโดยทั่วไป โรงสีจะต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเมล็ดข้าวตรวจสอบการปนของสายพันธุ์ข้าวด้วยตาเปล่าก่อนกำหนดราคารับซื้อ ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ และส่งผลให้เกษตรกรถูกกดราคาดโดยไม่มีอำนาจการต่อรอง
ภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง อีซีาไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี บอกว่า เทคโนโลยี AI สามารถตรวจสอบได้ทั้งสายพันธุ์ข้าวเปลือก คุณภาพข้าวเปลือก และคุณภาพข้าวสาร ด้วยเวลาเพียง 3-5 นาที และมีความแม่นยำถึง 95% ดังนั้น เกษตรกรควรเริ่มตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพสายพันธุ์ข้าวเปลือกที่จะนำมาเพาะปลูกว่าเป็นพันธุ์ข้าวแท้ตามที่ต้องการหรือไม่ พอเก็บเกี่ยวแล้วก็ทำการตรวจสอบคุณภาพด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องการปลอมปน ข้าวหัก หรือข้าวเหลือง
ในทางกลับกัน โรงสีข้าวก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยในการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก และข้าวสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีโรงสีกว่า 300 แห่งในประเทศ ที่ใช้บริการนวัตกรรมอีซี่ไรซ์
ข้าวเก่าเอาไปต่อยอด
การแปรรูปจากข้าวไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นอีกทางเลือกที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดย วาริชธ์ฟู้ดส์ มาจุดประกายให้เกษตรกรมองหาโอกาสใหม่ๆ แทนที่จะขายข้าวสารแต่เพียงอย่างเดียว
ธนัญชย์ ธนทวี ผู้ร่วมก่อตั้ง วาริชธ์ฟู้ดส์ เล่าว่า เขาใช้เวลา 1 ปีในการวิจัยและพัฒนา จนสามารถผลิตขนมทานเล่นจากกล้วยหอมทองที่เกษตรกรขายไม่ได้ เนื่องจากเป็นสินค้าตกเกรด มีตำหนิ หรือสุกเกินไป โดยประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดกล้วยป๊อบในเกาหลีใต้ และกำลังจะส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศจะเริ่มวางขายกล้วยป๊อบในเซเว่น อีเลฟเว่น ปลายปีนี้
ธนัญชย์ บอกว่า การแปรรูปจากข้าวก็เป็นอีกตัวเลือกที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง โดยผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลายรายต้องการขนมทานเล่นที่ทำจากข้าวไทย หากเกษตรต้องการแปรรูปข้าวให้เป็นสินค้าชุมชน วาริชธ์ฟู้ดก็พร้อมจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ขั้นตอนการคิดไอเดีย วิจัยพัฒนา ไปจนถึงการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง
ส่วน บอร์น โคออพเพอเรชั่น ไทยแลนด์ จะมาช่วยเปิดตลาดออนไลน์ให้แก่เกษตรกร ซึ่งคนมักจะนึกแค่หน้าร้าน แต่จริงๆ มันที่นิเวศมากกว่านั้นที่ทำให้การค้าขายออนไลน์เกิดการประหยัดอย่างสูงสุด และทำให้ต่อเนื่องได้
ศิริพัฒน์ มีทับทิม ผู้ร่วมก่อตั้ง สตาร์ทอัพบอร์น ให้ข้อแนะนำว่า แพลตฟอร์มออนไลน์จะช่วยขยายตลาดข้าวให้กว้างขึ้น และเป็นช่องทางสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วย แต่จะทำการตลาดให้ปัง เราต้องพูดสิ่งในสิ่งที่คนซื้ออยากจะฟัง หน้าที่ของเราคือจับประเด็นที่น่าสนใจ ดูว่าสินค้านี้จะเข้าตลาดไหน มีความแตกต่างอย่างไร จากนั้นเป็นเรื่องการออกแบบฉลาก บรรจุภัณฑ์ เรียบเรียงเรื่องราวที่จะนำเสนอคอนเทนต์ให้คนเข้าใจ และกระตุ้นความอยากซื้อรวมไปถึงดูผลตอบรับจากผู้บริโภค เพื่อนำไปปรับปรุงให้สินค้าอยู่นตลาดได้อย่างยั่งยืน