หัวฉีดสเปรย์: อีกหนึ่งหลักฐานประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวของน้ำหอม
น้ำหอมจัดเป็นเครื่องสำอางอีกประเภท ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานพอๆ กับเครื่องแต่งกายของมนุษยชาติ กระนั้น ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้คนมักให้ความสำคัญกับความเป็นมาของหัวน้ำหอม, ตระกูล และแนวทางกลิ่น โดยมองข้ามอีกองค์ประกอบสำคัญ อันนำมาซึ่งความสะดวกในการใช้งาน นั่นก็คือหัวฉีดสเปรย์
ทุกวันนี้ หลังแต่งตัวเสร็จ เรามักหยิบขวดน้ำหอมมาฉีดด้วยความเคยมือโดยไม่ได้นึกถึงอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อ 30 ปีก่อน นอกจากขวดน้ำหอมแบบติดตั้งหัวฉีดระบบสเปรย์อย่างที่เราเห็นกันจนชินตาแล้ว ก็ยังมีขวดน้ำหอมแบบเทน้ำหอมใส่มือแล้วแตะพรมไปทั่วตำแหน่งที่ต้องการ (บางคนอาจใช้วิธีแตะปากขวดลงตรงจุดที่ต้องการกลิ่น แล้วเขย่า หรือขยับขวดให้พอมีน้ำหอมหยดออกมาติดผิวตำแหน่งนั้นๆ) ซึ่งเมื่อมองในแง่เศรษฐกิจ ทุนการผลิตน้ำหอมบรรจุขวดแบบไม่ใช้หัวฉีดสเปรย์จะมีราคาถูกกว่าประมาณ 100 บาท
แล้วถ้ามองย้อนไปนานกว่านั้น ราวๆ กลางศตวรรษที่ 19 ยุคนั้นยังไม่มีหัวฉีดสเปรย์ และกิจวัตรการใช้น้ำหอมก็ค่อนข้าง ‘เยอะ’ นั่นก็คือเทน้ำหอมลงบนผ้าเช็ดหน้า (ส่วนใหญ่ทำจากผ้าใบทอด้วยใยฝ้าย) และด้วยความเข้มข้นระดับโคโลญจน์ จึงสามารถเทลงมาจนชุ่มเหมือนชุบน้ำเพื่อนำไปเช็ดถูลงบนผิวราวกับกำลังอาบน้ำหอม แล้วค่อยสวมเสื้อผ้าทับลงไป อีกทั้งระหว่างวัน ก็ยังสามารถใช้วิธีนี้เติมความสดชื่น กลบกลิ่นเหงื่อไม่พึงประสงค์ตามบริเวณพ้นร่มผ้าได้ ส่วนในกรณีของผู้ชาย ‘ง่ายเข้าว่า’ กว่าด้วยการเทน้ำหอมลงไปในมือแล้วถูไปทั่วตัว และยุคเดียวกันนั้น สำหรับหัวน้ำหอมสูตรเข้มข้นอย่าง ‘เอ็กซ์แทรต์’ (exttrait) ที่มีราคาสูงกว่า กลิ่นอบอวลกว่าจนมิอาจเทลงมาให้สิ้นเปลืองได้ บนหัวจุดขวด ก็จะถูกผลิตขึ้นให้มีก้านแก้วยาวยื่นลงไปในขวดเพื่อใช้ปลายก้านตักหยดน้ำหอมขึ้นมาแตะแต้มเติมกลิ่นลงบนผิว
สำหรับหัวฉีดสเปรย์อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน แรกเริ่มหาได้เป็นหัวฉีดติดคอขวดแบบที่เห็นกันทุกวันนี้ ทว่าเป็นการพลิกแพลง ดัดแปลงมาจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเรียกว่า atomizer หรือเครื่องมือกลไกเปลี่ยนของเหลวให้เป็นละออง ประดิษฐกรรมการคิดค้น และพัฒนาจากดร.อัลเลน เดอวิลบิสส์ (Dr. Allen DeVilbiss) โดยนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1887 สำหรับพ่นยาเข้าโพรงจมูก หรือช่องลำคอของคนไข้
เครื่องทำละอองสำหรับฉีดของเหลวในรูปแบบละอองฝอยนี้ ยุคแรกเริ่มจะมีองค์ประกอบหลักสามส่วนอำนวยความสะดวกในการใช้ นั่นก็คือขวด หรือหลอดแก้วบรรจุของเหลว ติดตั้งหัวฉีดสำหรับดูดของเหลวนั้นขึ้นมาเพื่อแตกละอองเป็นฝอย, ก้านลำเลียงแรงดันขับเคลื่อนละอองฝอยไปสู่ปลายหัวจ่าย และลูกบีบยาง ซึ่งประกอบไว้บนก้าน หรือท่อลำเลียงด้านตรงข้ามกับหัวจ่าย เพียงบีบลูกยาง แรงดันลมก็จะสูบของเหลวจากในขวดขึ้นมาสู่กลไกแปรสภาพของเหลวเป็นละอองฝอยแล้วพ่นออกไปทางหัวจ่ายตรงสู่ตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม หลังดำเนินการจดสิทธิบัตรคุ้มครองผลงานของตนแล้วเสร็จไปเมื่อปี 1888 กลับไม่มีนายทุน หรือเจ้าของกิจการใดสนใจจะซื้อสิทธิบัตรนำแบบอุปกรณ์นี้ไปผลิตเลยสักโรงงานเดียว ด้วยเหตุนั้น ‘ทำเองก็ได้ง่ายจัง’ หมอเดอวิลบิสส์จึงตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตขึ้นเองภายใต้ชื่อ DeVilbiss Manufacturing Factory ขึ้นที่เมืองโทเลโดในรัฐโอไฮโอ กระนั้น กว่าลูกยางบีบหัวฉีดนี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลายนอกเหนือจากในภาคพื้นสหรัฐอเมริกาก็ครั้งที่เกิดวิกฤตระบาดไข้หวัดสเปน (Spanish flu pandemic) เจ้าของสมญา ‘แม่ของโรคระบาด’ (เรียกให้สุภาพคือมารดาของมวลโรคระบาด) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในยุคนั้นไปได้ 40-50 ล้านคนภายใน 2 ปี
ลูกยางบีบหัวฉีดสเปรย์ได้ก้าวพ้นขอบเขตการแพทย์ไปสู่แวดวงอื่นก็ตอนปี 1905 เมื่อโธมัส ผู้บุตรชายของหมออัลเลนได้เข้ามาช่วยบริการกิจการบริษัท และโน้มน้าวผู้เป็นพ่อให้นำหัวฉีดแบบนี้ไปแนะนำให้แก่ธุรกิจอื่นๆ น่าจะเกิดผล ซึ่งก็เหมาะเหม็งมากกับอุตสาหกรรมน้ำหอม ซึ่งหัวฉีดรุ่นปี 1909 สำหรับใช้กับน้ำหอมนั้น ก็แตกต่างจากหัวฉีดต้นแบบในเรื่องของทิศทางการกระจายตัว เพราะในขณะที่หัวจ่ายสำหรับการแพทย์ จะลำเลียงละอองของเหลวพุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกันสู่จุดเป้าหมาย หัวจ่ายสำหรับน้ำหอมจะพ่นละอองกระจายตัวไปรอบทิศทาง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การผลิตลูกยางบีบสำหรับฉีดน้ำหอมของเดอวิลบิสส์ก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันได้รับอานิสงส์เกื้อหนุนจากอุตสาหกรรมการผลิตขวดแก้วที่สวยวิจิตร ทั้งจากอเมริกา, โบฮีเมีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ รวมถึงขวดกระเบื้องพอร์ซเลนจากญี่ปุ่น ซึ่งพอออกแบบหัวฉีดกับลูกยางบีบให้เข้าคู่กันก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา สร้างความตระการตาบนโต๊ะเครื่องแป้งของสุภาพสตรีทั้งหลายทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อรองรับขวดน้ำหอมอันผลิตจากแก้วคริสตัลลงสี หรือที่เรียกว่าเครื่องแก้วโบฮีเมียน เดอวิลบิสส์ถึงกับจัดทำแค็ตตาล็อกหัวฉีดสำหรับขวดน้ำหอมเหล่านี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ
อีกฟากมหาสมุทร ณ ใจกลางมหานครของอุตสาหกรรมน้ำหอมโลก บริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งก่อตั้งขึ้นมานับแต่ปี 1802 โดยช่างฝีมือนามลีโอโปลด์ ฟรองก์ได้เติบโตจากพื้นที่ทำงานของอพาร์ตเมนท์หลังเล็กกลายเป็นกิจการขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วในกาลต่อมาภายใต้ชื่อบริษัท Marcel Franck (มารเซล ฟรองก์) สืบเนื่องจากความต้องการย่อส่วนลูกยางบีบฉีดน้ำหอม หรือ atomizer มาใช้กับขวดน้ำหอมขนาดสะดวกพก ซึ่งกว่าจะสำเร็จลุล่วง ก็ต้องอาศัยวิทยาการสมัยใหม่ในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเกื้อหนุนจนได้ผลงานต้นแบบเสร็จสมบูรณ์รุ่นแรก และทำการจดสิทธิบัตรคุ้มครองไปในปี 1912 ด้วยงานออกแบบลดความยาวก้าน หรือท่อลำเลียงละอองน้ำหอม จากขนาดยาวเป็นฟุตของเดอวิลบิสส์ มาสู่ความสั้นเพียงหนึ่งนิ้วติดหัวฉีดกับลูกบีบยางสำหรับรุ่นแรกที่ต้องการความกะทัดรัด ตามมาด้วยการออกแบบต่อท่อนำส่งเป็นสายยาวอ่อนช้อย ทวีความหรูหราด้วยงานตกแต่งบนลูกยางบีบ กลมกลืนกับวัสดุโลหะหัวฉีดสำหรับผลงานรุ่นต่อมา
อีกกลไกนวัตกรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็คือ aerosol หรือ “ละอองลอย” โดยอาศัยกระบวนการฉีดของเหลวในภาชนะ (ขวด) เข้ากับก๊าซเฉื่อย แล้วแปรรูปปล่อยออกมาเป็นฝอยละอองของเหลวแบบที่เคยใช้กับหัวฉีดสเปรย์ยุคแรกๆ ซึ่งเรียกว่า pulverizer หรือ vaporizer กระนั้น หัวฉีดละอองเหล่านี้หาได้ถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมน้ำหอม หากพบได้ทั่วไปกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในร้านทำผมของทั้งผู้หญิง และผู้ชาย
หัวฉีดสเปรย์อัดก๊าซถูกริเริ่มนำมาใช้กับขวดน้ำหอมครั้งแรกโดย Guerlain (แกรแลง หรือเกอร์แลงที่คนไทยนิยมเรียก) กล่าวได้ว่าเป็นผู้ผลิตน้ำหอมแบรนด์บุกเบิกที่ใช้กลไกนี้เพื่อเพิ่มความสะดวก ง่ายดายในรูปลักษณ์อันทันสมัยให้กับการใช้โคโลญจน์กลิ่นต่างๆ มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และนี่คือการแผ้วถางหนทางให้บริษัทผู้ผลิตน้ำหอมแบรนด์อื่นๆ ก้าวเดินตามกันมาก่อนจะมีการพัฒนาหัวฉีดสเปรย์ก๊าซเฉื่อยอย่างสมบูรณ์แบบ และมีการจดสิทธิบัตรคุ้มครองอย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 1959
อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันนี้ หัวฉีดสเปรย์น้ำหอม ก็ยังมีการพัฒนางานออกแบบอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็เพื่อขจัดความ ‘ไม่งาม’ เพราะหลอด หรือท่อพลาสติกลำเลียงน้ำหอมขึ้นหัวฉีดซึ่งดูเกะกะ แต่พอหันมาใช้วัสดุทึบแสงผลิตขวด กลับทำให้ไม่สามารถมองเห็นว่าเหลือน้ำหอมอยู่อีกมากน้อยเพียงใดจะได้ซื้อเตรียมไว้ก่อนหมด น้ำหอมจะได้ไม่ขาดตอน ท้ายสุด ในปี 2005 สึโทมุ คิยามะก็ได้ทำการออกแบบหลอดครอบท่อพลาสติกไว้ในขวดแก้วใสทรงผลึกสี่เหลี่ยมของ Dior Homme รุ่นต้นแบบซึ่งโอลิวิเอร โพลจ์เป็นผู้ปรุงสูตรน้ำหอม งานออกแบบขวดทรงประติมากรรมครั้งนั้นกวาดรางวัลไปหลายเวที ส่งผลให้งานออกแบบขวดน้ำหอม Dior Homme ยังคงเดิมสืบมาจวบจนวันนี้ถึงแม้เนื้อกลิ่นภายในจะถูกปรับเปลี่ยน แตกแขนงไปหลายรุ่นแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีการนำงานออกแบบลูกยางบีบก้านยาวมาเติมอารมณ์วินเทจให้กับขวดน้ำหอมในยุคนี้ประปราย อย่างเช่น Curious ของ Britney Spears เมื่อปี 2004 ในขณะที่คอลเลกชันน้ำหอม L’Art et la Matiere ของ Guerlain หันไปหาลูกยางบีบแบบติดหัวขวด ส่วน J’Adore Parfum ของ Dior บางรุ่นใช้ฝาจุกติดตั้งก้านแก้วแต้มหยดน้ำหอม นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาหัวฉีดสเปรย์รุ่นใหม่อีกมากมายเพื่อลดการใช้ก๊าซเฉื่อย โดยอาศัยกลไกแรงดันอากาศแทน ซึ่งเท่ากับว่าไม่ต้องมีท่อ หรือหลอดสูบน้ำหอมขึ้นหัวฉีดอย่างขวดน้ำหอมรุ่น Very Cool Spray ของ Dior เป็นอาทิ