ยูนิเซฟเปิดแคมเปญ “เซฟโซนนี้มีไว้พักใจ” ช่วยเด็กและเยาวชนในไทยค้นพบเซฟโซนของตัวเอง
ยูนิเซฟเปิดตัวแคมเปญใหม่ “เซฟโซนนี้มีไว้พักใจ” ภายใต้โครงการ “โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน” เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้ค้นพบเซฟโซนหรือพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง เซฟโซนแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตด้วยความเข้มแข็งและกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยแคมเปญนี้จะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาพจิตที่ดีและสามารถรับมือกับสภาพอารมณ์และความเปลี่ยนแปลงได้
แคมเปญใหม่นี้จะมีแบบทดสอบให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น และค้นพบกับ “เซฟโซน” หรือพื้นที่ปลอดภัยของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เลี้ยง มุมสงบริมทะเล ดนตรีโปรด หรือแม้แต่กิจกรรมหรืองานอดิเรก นอกจากนี้ ยังมีมิวสิกวิดีโอเพลง “หยุดพัก” จากวง A Little Bit High แห่งค่าย Spacebar Music Hub ซึ่งพบว่าดนตรีได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การตีตราเรื่องสุขภาพจิตทำให้เด็กและเยาวชนถูกตีกรอบให้ปิดบังอารมณ์ที่แท้จริง ทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง เพราะต้องทนทุกข์ทรมานและเผชิญกับความโศกเศร้า ความไม่แน่นอน ความโดดเดี่ยว และความเครียดเพียงลำพังตลอดสามปีที่มีการแพร่ระบาดโควิด หรืออาจจะก่อนหน้านั้นเสียอีก แคมเปญ “โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน” จึงกลับมาอีกครั้งเพื่อมอบเครื่องมือที่ทุกคนใช้ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้แคมเปญยังสนับสนุนให้ทุกคนกล้าเผชิญและเปิดเผยอารมณ์ที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพร้อมที่จะเปิดใจและกล้าขอความช่วยเหลือจากคนที่ห่วงใยเขาหรือแม้แต่จากผู้เชี่ยวชาญ”
ร
ายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย 2565 ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ อีกทั้งการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
แม้ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของเด็กและวัยรุ่นทั้งในโรงเรียนและสถานพยาบาลต่าง ๆ แต่เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงบริการและการสนับสนุนทางสุขภาพจิต ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ในประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอยู่มีเพียง 200 คน
“สุขภาพจิตที่ย่ำแย่นอกจากจะฉุดรั้งการพัฒนาของเด็กและวัยรุ่นแล้วยังอาจทำลายชีวิตพวกเขาอีกด้วย โรคทางจิตเวชกว่าครึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนอายุ 15 ปี และการเข้าถึงบริการก็เป็นไปอย่างจำกัด นอกเหนือไปจากเซฟโซนที่พวกเขาควรมีแล้ว เด็ก ๆ ควรรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเปิดอกคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู ทั้งนี้ ยูนิเซฟจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพจิตทั้งที่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน ที่ครอบคลุมเด็กและวัยรุ่นทุกคนและทุกกลุ่ม เพื่อให้พวกเขาได้รับการดูแลทางสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและทันท่วงที” นางคิมกล่าว